รายงานศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ปี 2563

โดย CGS

ข้อมูลจากการศึกษาและรายงานสถานการณ์การพนันในประเทศไทย ปี 2562 ยังคงตอกย้ำว่า ประตูสู่โลกการพนันที่มีอยู่หลายบานเปิดกว้างให้กับคนทุกเพศทุกวัย และคนไทยเข้าสู่วงจรการพนันมากขึ้น กลุ่มเสี่ยงที่น่าจับตาคือ จำนวนคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เล่นการพนันในรอบปีที่ผ่านมา 30.420 ล้านคน (ร้อยละ 57) เป็นเยาวชนในช่วงอายุ 19-25 ปี ที่เล่นการพนัน 3.051 ล้านคน (ร้อยละ 46.3 ของประชากรในช่วงอายุเดียวกัน) มีวงเงินหมุนเวียนที่ใช้เล่นพนันประมาณ 58,878 ล้านบาท ส่วนกลุ่มเด็กอายุ 15-18 ปี มีถึง 1 ใน 5 ที่เล่นการพนัน วงเงินที่ใช้ไปกับการพนันประมาณการได้ว่าสูงถึง 10,200 ล้านบาท

ท่ามกลางความทับซ้อนของสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ แม้ความหมายการพนันของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน บางคนมองเป็นเรื่องของการคลายเหงา พักผ่อน บางคนมองการพนันเป็นทางเลือก ทางออก เป็นโอกาส หรือเป็นความหวัง แต่ด้วยความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ยิ่งถ่างห่างในยุคนี้ การพนันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยง หรือชีวิตที่ต้องลงทุนเสี่ยงโชค เพื่อ “ความหวัง” ที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น หรือสามารถลืมตาอ้าปากไปสู่ความร่ำรวย เพราะสถานะและอาชีพการงานไม่สามารถนำไปถึงความฝันนั้น

บทความ อำนาจเลขเด็ด กับการผลิตซ้ำความเชื่อของคอหวย เปิดโลกแห่งการพนันไร้พรมแดน คาสิโนออนไลน์ และกีฬาออนไลน์และเกมกีฬา สายพนันพันธุ์ใหม่ในสังคมไทย สะท้อนภาพที่ชัดเจนว่า การแพร่กระจายอย่างไร้พรมแดนของอุตสาหกรรมการพนัน โดยเฉพาะการพนันออนไลน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ควบคุมยาก และสามารถซอกซอนเข้าสู่ทุกกลุ่มของสังคมได้โดยแทบปราศจากข้อจำกัด กระนั้น การพนันโดยมากไม่ได้เป็นความต้องการที่เกิดขึ้นเองของผู้คนในสังคม แต่เพราะได้รับการกระตุ้นผลักดันจากกลไกการทำงานของการพนันแต่ละประเภท ที่ทำให้การพนันบนความเสี่ยง ไม่ได้เป็นความบังเอิญที่ไม่แน่นอนหรือคาดการณ์ไม่ได้ไปเสียทั้งหมด เช่น กลยุทธ์ทางการตลาดในการสร้างและผลิตซ้ำความเชื่อผิด ๆ ในสิ่งสมมุตินานา จนทำให้คนเล่นพนันคิดว่า สามารถคาดเดา ควบคุม จัดการผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้ มายาคติเช่นนี้เป็นการส่งเสริมให้ผู้คนในสังคมจำนวนมากทุ่มเทและสูญเสียเงินทองไปกับการเล่นพนันอย่างไม่รู้จบ เสพติดการพนันเพิ่มขึ้น ซึ่งบิดเบือนข้อเท็จจริงในหลักปฏิบัติของธุรกิจการพนันทั่วโลก ที่การพนันถูกออกแบบให้เจ้ามือได้เปรียบเหนือผู้เล่นเสมอ และการจ่ายเงินรางวัลถูกกำหนดให้เจ้ามือสามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง 

ส่วนสัญญาณเตือนภัยที่ชี้ว่า การพนันได้พุ่งเป้าหมายไปที่เด็กและเยาวชนมากขึ้น การศึกษาของนักวิชาการในปีนี้ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาติดการพนันต่อกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงซึ่งอาจจะชี้ให้เห็นจุดเปลี่ยนของจำนวนและพฤติกรรมการเล่นการพนันในอนาคต โดยรายงานในปีนี้ มีบทความถึง 10 เรื่อง อาทิ บทความที่นำเสนอสถานการณ์ในเชิงตั้งคำถามกับทุกฝ่ายในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เมื่อเยาวชนในพื้นที่ชายแดนแม่สอด-เมียวดีเล่นพนัน ปัจจุบันมีมาตรการป้องกันอย่างไร บทความที่ขุดลึกมากขึ้นเพื่อค้นสาเหตุแห่งปัญหาให้ถึงแก่น ในบทความ “สื่อ” ที่เลือกใช้ในการตัดสินใจวางเดิมพันฟุตบอลออนไลน์ของนักศึกษาอาชีวะ ซึ่งนำไปสู่ข้อค้นพบว่า อิทธิพลของผู้นำทางความคิดสามารถชักจูงโน้มน้าวให้เยาวชนเล่นพนันฟุตบอลออนไลน์ได้ง่าย หรือบทความ การตลาดเสี่ยงโชคชวนพนัน ภัยคุกคามเยาวชนมุสลิมชายแดนใต้ ที่ยังพบว่า ทั้งเยาวชนและนักวิชาการยังไม่รู้หรือยังถกเถียงโดยไม่ได้ข้อยุติว่า การลุ้นโชค ชิงโชค และจับสลาก ไม่เป็นการพนัน หรือเป็นการพนันที่ขัดหลักศาสนา 

รวมถึง บทความ “โคกนี้มีหยัง?” ละครถกแถลงเพื่อรณรงค์การรู้เท่าทันปัญหาการพนัน เท่าทันการพนันปิงโกด้วยหนังสือการ์ตูนมีชีวิต และ ชุดการเรียนรู้ “เท่าทันการพนันและเหตุผลวิบัติของนักพนัน” สำหรับวัยรุ่น ที่นักวิชาการได้ริเริ่มนำเสนอทางแก้ ทางออก ทางเลือก โดยการสร้างสรรค์และพัฒนาชุดการเรียนรู้เพื่อให้เยาวชนเท่าทันการพนัน ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีชุดการเรียนรู้หรือหลักสูตรในการป้องกันการพนันสำหรับเด็กและเยาวชนเหมือนต่างชาติ

โดยภาพรวมแล้ว การศึกษาปัญหาการพนันในปีนี้จึงมีหลากหลายมิติ ทั้งลงลึกและแผ่กว้างเข้าไปในทุกกลุ่มของสังคมยิ่งขึ้น เพิ่มระดับความเข้มข้นในการจัดการองค์ความรู้ และพัฒนาไปสู่แนวทางปฏิบัติที่สามารถเป็นต้นแบบ หรือการสร้างรูปแบบ นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาการพนันได้อย่างตรงจุดและตรงเป้าหมาย 

ในสถานการณ์ที่สังคมยังมองไม่เห็นความเป็นไปได้ที่คนเล่นการพนันจะลดลง โอกาสที่ผู้คนในสังคมจะติดการพนันจนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ก็มีมากขึ้น อีกทั้งมีแนวโน้มที่รัฐบาลจะทำให้การเล่นการพนันบางอย่างถูกกฎหมายเพิ่มขึ้น นักวิชาการลงความเห็นตรงกันว่า การมองปัญหาการติดการพนันในแง่ศีลธรรม การทำผิดกฎหมาย การป้องกันปราบปรามแบบที่ประเทศไทยทำอยู่นั้น ยังไม่ครอบคลุมและไม่ได้ผลนัก แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายห้ามและมีบทลงโทษการพนันหลายประเภทก็ตาม

บทความ ความสำคัญและแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาติดการพนัน มีข้อเสนอแนะในการเตรียมการให้กับรัฐบาลซึ่งสามารถวางนโยบายและนำไปปฏิบัติได้ทันที อาทิ การจัดตั้งคณะกรรมาธิการ หรือสถาบันที่เป็นองค์กรกลางทำหน้าที่วิจัยป้องกันและบำบัดการติดการพนัน การฝึกอบรมให้แพทย์ จิตแพทย์ บุคลากรทางสาธารณสุข และการสังคมสงเคราะห์ มีความรู้ความเข้าใจว่า การติดการพนันเป็นอาการป่วยชนิดหนึ่งซึ่งต้องการการรักษาพยาบาลอย่างถูกวิธี และควรให้ความสำคัญกับปัญหาการติดการพนันเป็นปัญหาสุขภาพที่ควรจะได้รับการปฏิบัติเหมือนกับการควบคุมป้องกันสารเสพติดและสารอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ควรเพิ่มภาษีเหล้า บุหรี่ ยาเสพติด อาหารแบบขยะ (Junk Food) และน้ำตาล ที่สำคัญยิ่ง คือ รัฐบาลควรเลือกใช้นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในแนวทางกระจายทรัพย์สิน รายได้ การศึกษา ที่มีคุณภาพสู่ประชาชนทั้งประเทศอย่างเป็นธรรม และเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตมากกว่าการเพิ่มความมั่งคั่งทางวัตถุ มีระบบประกันสังคม และรัฐสวัสดิการที่ดี ประกันให้ประชาชนมีรายได้ยังชีพอย่างพอเพียง มีความมั่งคั่งในชีวิต ก็จะเป็นการปฏิรูปที่มีผลดีทางเศรษฐกิจสังคมในหลายด้าน รวมถึงช่วยลดปัญหาการติดการพนันได้ในทางอ้อม

 

[เนื้อหาจาก "บทบรรณาธิการ" โดย แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา]