• ข่าวสาร
  • กิจกรรม
  • เอกสารแนะนำ

การประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน 2562 "สังคมเท่าทัน การพนันไม่ล้ำเส้นเสี่ยง"

07 ตุลาคม 2562

การประชุมวิชาการ “สังคมเท่าทัน การพนันไม่ล้ำเส้นเสี่ยง” ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ประจำปี 2562 จัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม 2562 ณ ห้องมิราเคิล แกรนด์ A, B ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่ กรุงเทพฯ เปิดให้ผู้ร่วมงานเข้าลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 08.00 - 09.00 น. มีเครือข่ายหลายภาคส่วนทั้ง นักวิชาการ ข้าราชการ ตัวแทนภาคประชาสังคม จากในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดมาร่วมงานจำนวนมาก โดยนายธนากร คมกฤส พิธีกรหลักผู้ดำเนินรายการในการประชุมศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันในครั้งนี้ เกริ่นนำเข้าการประชุมว่าความพยายามของงานที่จะตอบโจทย์ว่า การพนันไม่ล้ำเส้นเสี่ยงนั้นน่าจะอยู่ตรงไหน และคำถามที่ตามมาคือเส้นที่ว่าไม่ล้ำควรอยู่ระดับใด และเส้นนี้ควรกำหนดโดยใคร  สุดท้ายเส้นนี้ควรกำหนดด้วยหลักเกณฑ์อะไร

ลำดับต่อมาพิธีกรได้กล่าวเชิญ ดร.สุปรีดา  อดุลยานนท์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขึ้นมากล่าวเปิดงาน โดยยกประเด็นการพนันกับสุขภาพขึ้นมาเป็นประเด็นแรก เนื่องจากคนทั่วไปอาจจะยังไม่ได้มองว่าปัญหาการพนันกับสุขภาพนั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไร โดยยกตัวอย่างสุภาษิตที่ว่า “โจรปล้นสิบครั้งไม่เท่าไฟไหม้บ้านหนึ่งครั้ง ไฟไหม้บ้านสิบครั้งไม่เท่าติดการพนัน” หากติดการพนันแล้วแม้แต่ที่ดินก็ยังไม่เหลือต้องล้มละลายเป็นหนี้สิน จึงเสียหายต่อสุขภาวะโดยรวม นอกจากนี้ในปัจจุบัน การติดการพนันได้นับเป็นโรคทางจิตเวชด้วย โรคติดพนัน หรือ Pathological Gambling เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่สัมพันธ์เกี่ยวกับพัฒนาการระบบประสาทที่คล้ายกับอาการในคนติดเกม คือต้องการการกระตุ้นบางอย่างอย่างต่อเนื่อง 

ดร.สุปรีดา กล่าวว่าเมื่อ พ.ศ.2553 เป็นครั้งแรกที่บอร์ด สสส. เองเริ่มถกกันในเรื่องปัญหาการพนันในสังคมไทย จากนั้นก็มอบให้ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันได้เริ่มต้นทำงานจากการวิจัยหาความรู้เกี่ยวกับการพนันในประเทศว่าพฤติกรรมการพนันคนไทยเป็นอย่างไรบ้าง มีมากน้อยแค่ไหน และผลกระทบที่เกิดในมิติต่างๆ มากน้อยอย่างไร ซึ่งในการประชุมวิชาการเรื่องการพนันระดับชาติครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่ 5 แล้ว ดีใจที่ได้เห็นหลายกลุ่มมาร่วมกัน ซึ่งนอกจากกลุ่มนักวิชาการยังมีกลุ่มทางด้านประชาสังคม คนที่มีจิตที่สนใจจะแก้ปัญหานี้เข้ามาร่วมมากมายจากทั่วประเทศ จึงดีใจที่เห็นอย่างน้อยเป็นงานหนึ่งที่เครือข่ายซึ่งอาจจะไม่ใช่ทั้งหมด จำนวนมากมายจากพื้นที่ต่างๆ เข้ามารวมตัวกัน มาแลกเปลี่ยนวิชาการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน และที่ผ่านมาก็มีการเคลื่อนไหวมากขึ้นในภาคส่วนต่างๆ รวมไปถึงด้านนโนบายของรัฐที่ถึงแม้จะยังไม่มากนักแต่ก็เป็นก้าวที่ต้องผลักดันกันต่อไป

ในช่วงท้าย ดร.สุปรีดา ยกตัวอย่างว่าหลายประเทศมีการตั้งคณะกรรมการลดผลกระทบจากการพนัน ทำหน้าที่สร้างสมดุลในสังคม ป้องกันไม่ให้คนเล่นพนันก้าวเลยเส้นเสี่ยงจนไปสู่การติดจนเกิดผลกระทบทางสุขภาวะในมิติต่างๆ ตนหวังว่าประเทศไทยก็น่าจะเดินไปสู่ในส่วนนี้ และหวังว่าการประชุมวันนี้จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนให้ทุกคนได้รับทั้งวิชาการที่มีการศึกษาวิจัย และความรู้เชิงประสบการณ์ในปัญหาที่มีมิติสังคม วัฒนธรรม ความแตกต่างหลากหลายในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งภาครัฐเองซึ่งดูแลนโยบายช่วงที่ผ่านมา จะได้ช่วยกันหาคำตอบใหม่ๆ ให้กับสังคมไทยต่อไป สุดท้าย ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้กล่าวขอบคุณ คณะทำงาน และผู้มาร่วมงานทุกท่านก่อนกล่าวเปิดงานอย่างเป็นทางการ

 

รายงาน “สถานการณ์การพนันในสังคมไทย ปี 2562”

กำหนดการลำดับต่อมา รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ได้นำเสนอรายงาน “สถานการณ์การพนันในสังคมไทย ปี 2562” เริ่มต้นด้วยการเล่าสถานการณ์การพนันเป็นอย่างไรในปีนี้ ซึ่งแตกต่างจากปีที่ผ่านมาในแง่ขยายภาพสถานการณ์ในหลายจังหวัด มีการเพิ่มจำนวนตัวอย่างที่จะสำรวจ แต่ว่าผลส่วนดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ คาดว่าในต้นปี 2563 จะมีภาพให้เห็นว่าเป็นอย่างไร 

ในการสำรวจสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทย ปีนี้ก็มีการรวบรวม เช่นเดิม เก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 44,050 ตัวอย่าง ระหว่าง เดือนเมษายน ถึง กรกฎาคม 2562 โดยมีหน่วยงานที่มาช่วยคือศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ช่วยทั้งในการจัดเก็บและประมวลผลต่างๆ หัวข้อที่จะนำเสนอวันนี้มีอยู่ 9 หัวข้อ ซึ่ง รศ.ดร.นวลน้อย ได้อธิบายประกอบแผนภาพไปโดยลำดับ

ในประเด็นแรกเป็นข้อมูลสำรวจเกี่ยวกับประสบการณ์และทัศนคติต่อการเล่นพนัน การสำรวจตั้งคำถามแรกว่า “คุณรู้จักใครที่เล่นพนันหรือไม่” ปรากฎว่าร้อยละ 56 ตอบว่ารู้จัก ซึ่งน่าตกใจเพราะแสดงให้เห็นว่าการพนันนั้นอยู่รอบตัวเรา คำถามต่อมาถามเกี่ยวกับทัศนคติว่าการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ถือว่าเป็นการพนันใช่หรือไม่ ซึ่งตัวอย่างตอบว่าใช่มากกว่าครึ่งหนึ่ง แต่กลับเห็นว่าหวยใต้ดินเป็นการพนัน ส่วนทัศนคติต่อการเปิดให้การพนันเป็นสิ่งถูกกฎหมายคนไม่เห็นด้วยเกินครึ่งมาเพียงเล็กน้อย คำถามต่อมาถามว่าหากเปลี่ยนการพนันที่เคยผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมายแล้วจะมีผลให้คนเล่นมากขึ้นใช่หรือไม่ ผู้ตอบร้อยละ 60 ตอบว่าใช่และคำถามสุดท้ายในส่วนแรกถามว่าการชิงโชคจากการซื้อสินค้าเป็นการพนันหรือไม่ คนส่วนใหญ่คือร้อยละ 45 ตอบว่าไม่ใช่ 

ในด้านประสบการณ์การเล่นการพนันคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปร้อยละ 76.3 หรือประมาณ 40.7 ล้านคนมีประสบการณ์เคยเล่นการพนัน โดยผู้ชายเล่นมากกว่าผู้หญิงร้อยละ 79.5 ต่อ 73.4 ช่วงอายุที่เล่นมากที่สุดคือ 26-29 ปี โดยการพนันที่คนเล่นมากที่สุดคือสลากกินแบ่งรัฐบาล ร้อยละ 82.9 อันดับสองคือหวยใต้ดิน 76.4 และอันดับสามคือพนันไพ่ ร้อยละ 44.7 เฉลี่ยแต่ละคนเคยเล่นการพนันอย่างน้อย 3 ประเภท และในจำนวนทั้งหมดที่เคยเล่นการพนันมีร้อยละ 7.7 หรือราว 3.19 ล้านคนเคยเล่นการพนันออนไลน์และส่วนใหญ่เล่นผ่านสมาร์ตโฟนซึ่งทำให้เห็นสภาพการณ์ว่าช่องทางของการเล่นพนันนั้นติดตัวผู้คนมากขนาดไหน

อายุในการเริ่มเล่นการพนันครั้งแรก อายุต่ำสุด 7 ปีส่วนสูงที่สุด 62 ปีทำให้เห็นว่าบางคนทั้งชีวิตไม่เคยเล่นพนันแต่พอเข้าสู่วัยเกษียณมีเวลามากขึ้น มีอะไรมากขึ้น กลับเล่นพนัน โดยประมาณร้อยละ 50 เริ่มเล่นพนันครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี และผู้หญิงค่าอายุโดยเฉลี่ยที่อายุ 24 ปี ผู้ชายค่าโดยเฉลี่ย ที่ 22 ปี เหตุผลในการเล่น อันดับแรกคือ เสี่ยงโชค อยากลอง อันดับ 2 คืออยากได้เงิน คำถามต่อมาคือ เล่นกับอะไร เล่นพนันชนิดใด คำตอบอันดับ 1 ยังเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล เพราะฉะนั้นแสดงว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลกลายเป็นพนันประเภทซ้อมมือครั้งแรก ในด้านสถานการณ์การพนันที่เล่นในปี 2562 พบว่า มีคนไทยที่เล่นการพนันเพิ่มขึ้น จากปี 2560 ร้อยละ 5.2 หรือประมาณ 1.5 ล้านคน ซึ่งเป็นนักพนันหน้าใหม่ที่ไม่เคยเล่นมาก่อนเลยในชีวิต มาเล่นเป็นครั้งแรกในปี 2562 ประมาณ 7 แสนคน

การรายงานรายละเอียดการพนันแต่ละชนิด ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้เน้นการสังเกตไปที่การซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 มีนักพนันสลากหน้าใหม่ที่ไม่เคยซื้อมาก่อนอยู่ประมาณ 3 แสนกว่าคน และพบว่ามีคนที่เล่นทุกงวดเพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบเท่าตัว แสดงให้เห็นว่าการซื้อสลากกินแบ่งกำลังเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากสลากกินแบ่ง รศ.ดร.นวลน้อยยังแสดงรายละเอียดการพนันรูปแบบอื่นๆ ด้วย ได้แก่ หวยใต้ดิน การพนันในบ่อน การพนันฟุตบอล และการพนันออนไลน์ ซึ่งประเภทสุดท้ายกำลังมีผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในด้านการติดพนันจะพบนักพนันที่เข้าข่ายว่าจะเป็นปัญหาอยู่ประมาณ 2 แสนคน โดยที่อีกประมาณ 3 ล้านคน มีพฤติกรรมที่เสี่ยงจะกลายเป็นนักพนันที่มีปัญหา ในกลุ่มเยาวชนเป็นนักพนันที่มีปัญหาประมาณเกือบ 4 หมื่นคน และเสี่ยงที่มีปัญหาอีก 4 แสนคน ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นนักพนันที่มีปัญหาประมาณ 2.5 หมื่นคน และเสี่ยงที่จะมีปัญหาคือ 3.8 แสนคน สองกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ส่วนกลุ่มวัยทำงานมีนักพนันที่มีปัญหาประมาณ 1.4 แสนคน และเสี่ยงที่จะมีปัญหาเกือบ 3 ล้านคน เป็นตัวเลขที่ต้องเฝ้าระวังว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรเพราะทำให้เกิดปัญหาใหญ่โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินซึ่งประมาณตัวเลขออกมาว่ามีมากถึง 1.14 หมื่นล้านบาท และถึงแม้จะมีปัญหาหนี้สินจากการพนันแต่ร้อยละ 82.9 ยังบอกว่าจะเล่นการพนันต่อไปอีกด้วย

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ทิ้งท้ายการรายงานว่า จากข้อมูลทำให้เห็นว่ากลุ่มเครือข่ายต้องช่วยกันทำงานให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจว่า ถ้าอยากจะเล่นพนันควรเล่นเพื่อความบันเทิงเล็กๆ น้อยๆ และทำอย่างไรให้การพนันเมื่อเล่นแล้วไม่ล้ำเส้นเสี่ยง จนกลายเป็นปัญหาและเป็นผลกระทบที่ตกกับตัวเองและครอบครัว.

 

เวทีอภิปราย “รัฐกับการพนัน และแนวทางลดผลกระทบ”

ในการประชุมภาคเช้าหลังจากการรายงานสถานการณ์การพนันปี 2562 ของผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน เป็นเวทีอภิปราย “รัฐกับการพนัน และแนวทางลดผลกระทบ” มีผู้ร่วมอภิปรายคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน และดำเนินรายการโดย รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากที่ผู้ดำเนินรายการแนะนำผู้ร่วมอภิปรายครบแล้วก็ได้เสนอให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เริ่มอภิปรายก่อน

อดีตนายก กล่าวเล่าที่มาของการริเริ่มศึกษาการพนันในประเทศไทยว่ามาจากที่ 10 ปีก่อนมีการผลักดันให้การพนันถูกกฎหมาย ซึ่งเมื่อเทียบกับตอนนั้น ขณะนี้ถือว่า ทัศนคติเกี่ยวกับการทำการพนันให้ถูกกฎหมายมีแรงสนับสนุนอ่อนลง ในขณะนั้นตนค่อนข้างกังวลผลกระทบต่อสังคม จึงได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมายื่นสู่ที่ประชุมของ สสส. ซึ่งมาถึงขณะนี้ก็เกือบ 10 ปี สิ่งแรกที่คิดว่าเป็นประโยชน์และจะเป็นฐานของความสำเร็จในการทำงานนี้คือการมีข้อมูล และการมีกรอบหลักคิดทางวิชาการ ที่จะเป็นตัวช่วยในเรื่องของนโยบายสาธารณะ อีกทั้งการแก้ปัญหาโดยขับเคลื่อนผ่านเครือข่าย และภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ซึ่งมักจะได้ผลกว่าการหวังพึ่งกฎหมายและการหวังพึ่งระบบราชการในการที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนโดยลำพัง ต้องมี 2 ส่วนนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการทำงานต่อไป คืองานด้านวิชาการ และก็เครือข่ายของมวลชน หรือภาคประชาสังคม

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่าเราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรจะสามารถกลับมาสนับสนุนให้ภาคประชาสังคม มีความเข้มแข็งและสามารถทำงานโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และไม่สูญเสียความเป็นอิสระได้ ทั้งนี้อาจเชื่อมโยงการทำงานเข้ากับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ทำให้เขาเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ อาจจะเป็นวิธีการอีกวิธีในการที่ดึงหน่วยงานที่ปกติอาจไม่สนใจนักกับปัญหาเหล่านี้ให้เป็นแนวร่วมได้ 

ผู้อภิปรายคนต่อมา คือ นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส ได้ยกประสบการณ์ที่รับทราบกรณีการปิดบ่อนการพนันแห่งหนึ่งเพียงชั่วคราวมาเพื่อเข้าประเด็นว่า ปัญหาการพนันนั้นถูกละเลยจากฝ่ายนิติบัญญัติ กรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดทุกคณะไม่มีการพูดถึงเรื่องพนัน แม้แต่วุฒิสภาก็ไม่มี ซึ่งสะท้อนกลไกสำคัญของประเทศเราว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมองพนันเป็นเรื่องปกติ ขณะเดียวกันสำงานสลากกินแบ่งก็ออกสลากมากขึ้น คนซื้อสลากเพิ่มขึ้นและรายได้จากการขายสลากก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในการแก้ปัญหาให้ได้อย่างจริงจัง นายวิเชษฐ์ เสนอว่านอกจาก “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ของ สสส. อันได้แก่ ภาคนโยบาย ภาควิชาการ ภาคสังคม ตนคิดว่าปัญหาการพนันต้องเพิ่มภาคส่วนอีก ได้แก่ 1) ภาครัฐ ต้องมีนโยบาย ทำหน้าที่ออกกฎและหมายมาตรการ 2) กลไกภาครัฐที่จะรับผิดชอบที่เป็นเจ้าภาพหลักได้ มีกลไกที่จับต้องได้ ไม่โยนงานไปมา และ 3) สื่อมวลชน ที่จะต้องรณรงค์นำเสนอข้อมูลที่จะช่วยป้องกันการเล่นการพนันเพิ่มขึ้น

ผู้อภิปรายคนต่อมาคือ ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก ได้กล่าวถึงรากของปัญหาการพนันในประเทศไทยว่ามาจาก 2 สิ่ง คือ 1) ทัศนคติที่มองการพนันเป็นเรื่องปกติ และ 2) ปัญหาเรื่องความรู้ความเข้าใจ สองปัญหานี่เชื่อมโยงกัน ดังนั้นจึงต้องรู้จักการพิจารณาว่าสิ่งใดจะเข้าข่ายการพนันต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่าง นั่นคือ 1) มีการวางเดิมพัน (consideration) ถ้ามีวางเงินเมื่อไหร่เริ่มเข้าข่าย  2) ความเสี่ยง (chance) การพนันส่วนใหญ่การพนันใช้ความเสี่ยงและโอกาสที่จะถูกรางวัลเป็นตัวล่อใจ และ 3) รางวัล (prize) ซึ่งอาจจะรางวัลอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นสิ่งของมีค่า 

ดร.ธีรารัตน์ อธิบายต่อไปว่าการพนันมี 3 ระดับ คือ 

1) Social Gambling เล่นเพื่อความบันเทิง ซึ่งรัฐก็จัดบริการให้อย่างเหมาะสม 

2) Problem Gambling เป็นการเล่นพนันมากจนเกิดปัญหาตามมา และ 

3) Pathological Gambling คือเล่นจนเป็นโรคติดการพนัน ซึ่งองค์การอนามัยโลกรับรองว่าการติดการพนันเป็นโรคทางด้านการเสพติดอย่างหนึ่ง 

ฉะนั้นต่อไปนี้การทำงานด้านการพนันต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยผู้ประกอบการพนัน ในต่างประเทศการพนันถูกกฎหมายมีเยอะแต่บ้านเราการพนันถูกกฎหมายมีเจ้ามือคือรัฐ (สลากกินแบ่งรัฐบาล) รัฐต้องจัดสรรเงินทุนหรือมีส่วนร่วมในการตั้งคณะกรรมการ มีส่วนร่วมในการจัดตั้งกองทุนเพื่อนำมาซึ่งการลดผลกระทบ เยียวยา เพราะผลิตภัณฑ์นั้นสร้างผลกระทบ ที่สำคัญต้องมองการพนันเป็นปัญหาเชิงสาธารณสุข จะมีการมองทั้งระบบ ป้องกัน ปกป้องคุ้มครอง เฝ้าระวังแก้ไข บำบัดเยียวยา ดูแลตั้งแต่ต้นจนจบ

เมื่อผู้ร่วมอภิปรายบนเวทีอภิปรายครบทั้งสามคน ได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น คนแรก นายมาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ฝากข้อเสนอยังคณะทำงานว่าในต่างประเทศมีการที่รัฐดำเนินการเสี่ยงโชคโดยที่นำสลิปเมื่อซื้อสินค้าเป็นเลขสำหรับรับรางวัล ซึ่งในกรณีนี้ไม่ครบองค์ประกอบการพนัน 3 ข้อตามที่ ดร.ธีรารัตน์ กล่าวเพราะไม่ได้มีการวางเดิมพัน แต่ทำให้รัฐสามารถเก็บรายได้มากขึ้น และประชาชนเองก็ไม่ต้องติดการพนันเพราะไม่มีเงื่อนไขเหมือนการพนันทั่วไป หากประเทศไทยนำการดำเนินงานลักษณะนี้มาใช้ก็อาจเกิดประโยชน์ต่อทั้งรัฐและประชาชน

หลังจากนั้นมีผู้ฟังร่วมแสดงความคิดเห็นอีกหนึ่งคนคือ นายมนตรี แก้วกระจ่าง ตัวแทนภาคประชาสังคมจากมูลนิธิการพนัน ได้แสดงความคิดเห็นว่าหน่วยงานข้าราชการบางหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการพนันทำงานล่าช้า และมีเงื่อนไขมาก ทำให้ขอทุนมากดำเนินการต่างๆ ได้ยากจึงอยากให้มีการตั้งกองทุนอิสระที่ดำเนินงานโดยภาคประชาสังคมโดยตรง จะทำให้การขับเคลื่อนมีความรวดเร็วและคล่องตัวขึ้น

ปิดท้ายรายการ รศ.แล ได้ให้ผู้อภิปรายตอบข้อคิดเห็นจากผู้ร่วมรับฟัง นายอภิสิทธิ์ ได้ตอบในประเด็นแรกเกี่ยวกับการทำใบเสร็จเมื่อซื้อสินค้าให้เป็นการเสี่ยงรางวัลนั้นไม่เชื่อว่าจะสามารถไปลดการพนันได้มากนัก ประเด็นต่อมาเรื่องงบประมาณ ก็เห็นด้วยว่าการที่จะตั้งกองทุนเป็นอิสระ มีการกันรายได้ไว้ให้ทำได้ยากขึ้นเพราะเป็นแนวคิดของรัฐบาลที่แล้ว ที่ดึงทุกอย่างกลับเข้าสู่ระบบราชการ ทางด้าน นายวิเชษฐ์ ได้กล่าวโดยสรุปว่าจะทำให้ภาคประชาสังคมเข้าถึงได้ยังไง ใช้ประโยชน์ได้ยังไง ต้องให้ภาคประชาสังคมมาดูร่วมกับภาครัฐ นักวิชาการสื่อมวลชน ภาคประชาสังคม เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องทำอย่างจริงจัง เพราะงบประมาณมีอยู่ 

ส่วน ดร.ธีรารัตน์ เป็นผู้กล่าวปิดท้ายว่า การพนันอยู่ในโลกนี้มาเป็นพันๆ ปี หลายคนเห็นตรงกันว่ามันไม่มีทางหมดไป เราไม่สามารถหยุดมันได้ แต่เราพยายามลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด และกันคนเล่นหน้าใหม่ให้น้อยลง ให้อยู่วงจำกัด ฉลาด รู้เท่าทัน รู้จักและเข้าใจ และที่เหลือคือตัดสินใจ เพื่อให้เด็กและเยาวชนไม่ตกเป็นเหยื่อของสังคม.

 

เวทีอภิปราย “ก้าวอย่างไรให้ทัน? การพนันออนไลน์ยุค 5G” 

หลังจากพักรับประทานอาหารกลางวัน รายการแรกในภาคบ่ายคือเวทีอภิปราย “ก้าวอย่างไรให้ทัน? การพนันออนไลน์ยุค 5G” ร่วมอภิปรายโดย ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง น.ส.สุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย นายคณิฑัต หนูเจริญ โปรดิวเซอร์งานพนัน สื่อออนไลน์ toolmorrow ดำเนินรายการโดย ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

เวทีอภิปรายเริ่มด้วย ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นำเสนอวิจัยเกี่ยวคาสิโนออนไลน์ที่ตนทำไว้เมื่อปี 2559 สรุปปัจจัยที่ทำให้คาสิโนออนไลน์ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 คือ 

1) เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต 

2) ซอฟต์แวร์เกมที่เสถียรที่สามารถปล่อยให้คนเล่นทางอินเตอร์เน็ต 

3) ระบบโอนเงินที่น่าเชื่อถือไว้ใจได้ บวกกับระบบกฎหมายยอมรับให้สิ่งเหล่านี้ถูกกฎหมาย 

หลังจากนั้นการพนันออนไลน์ก็มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ ในทางกฎหมายแต่ละประเทศเริ่มยอมรับมากขึ้นแต่ท่าทีของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน บางประเทศกำราบ บางประเทศรู้ว่าไม่มีทางห้ามจึงทำให้ถูกกฎหมายและนำเงินภาษีรายได้ต่างๆ มาเข้ารัฐ

ส่วนพฤติกรรมการเล่นการพนันออนไลน์ที่ไทยต่างจากประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจคือคนไทยไม่นิยมเล่นการพนันแบบใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์เพราะมีความเชื่อว่าถูกออกแบบมาให้โกงผู้เล่น จึงมักนิยมเล่นการพนันแบบถ่ายทอดสดมากกว่า และอีกประเด็นก็คือ ในต่างประเทศความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ที่เข้มงวด มีมาตรการควบคุมอายุคนเล่น สถานะการทางเงินคนเล่นมีการตรวจสอบละเอียด ระหว่างเล่นต้องมีการตั้งค่าเตือนให้รู้ว่าวันนี้จะเล่นกี่ชั่วโมง เล่นกี่เหรียญเพื่อควบคุมตัวเอง

ลำดับต่อมา ผู้ดำเนินรายการสอบถาม นายคณิฑัต หนูเจริญ ผู้ที่เคยมีประสบการณ์ในการเล่นพนันทั้งพนันฟุตบอลและพนันออนไลน์ที่ปัจจุบันเลิกเล่นเด็ดขาดแล้วเพราะเห็นโทษของการติดพนัน ในปัจจุบันการพนันออนไลน์เข้าถึงได้ง่ายมากในเยาวชน ไม่นานมานี้จึงได้ทำคลิปวิดีโอชิ้นหนึ่งออกมาในนาม toolmorrow เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในพิษภัยของการพนัน และได้นำมาเปิดให้ผู้ร่วมงานรับชมด้วย เป็นเหตุการณ์ที่เยาวชนคนหนึ่งหลวมตัวเล่นการพนันออนไลน์ สุดท้ายแม่ของเขารู้และเสียใจมากที่ลูกนำเงินไปใช้ในทางที่ผิด เขาจึงสัญญากับแม่ว่าจะไม่เล่นการพนันอีก 

ด้าน น.ส.สุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ได้เสนอว่าการจะก้าวทันพนันออนไลน์ได้ต้องก้าวออกจากความคิดเดิมๆ ที่ว่าเด็กและเยาวชนคือผู้ประสบปัญหา แต่ให้เห็นว่าคือหุ้นส่วนเพราะคนที่เล่นพนันรู้ดีที่สุดว่าเขาจะออกจากตรงนั้นได้อย่างไร และเราจะดึงเขามาทำงานด้วยอย่างไรต่อมาผู้ที่ทำงานเรื่องการพนันต้องก้าวออกจากที่ปลอดภัยออกจากที่ตัวเองก่อน ที่ผ่านมานั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด อย่าทำงานกับกลุ่มเดิมแต่คาดหวังกับผลลัพธ์ใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ และสุดท้ายต้องก้าวไปสู่วิธีการใหม่ๆ เนื่องจากวิธีเดิมไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา ทุกววันนี้เยาวชนไปไกลมากเพราะโลกทั้งโลกอยู่ในจอที่สามารถค้นหาอะไรได้รวดเร็ว

ด้านพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์ ดร.ณัฐกร ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในหลายแง่มุม เช่น ผู้ชายกับผู้หญิงมีความสนใจที่ต่างกัน ผู้หญิงไม่ชอบเกมที่กติกาสลับซับซ้อน ต้องการเล่นพนันเพื่อเข้าสังคม เช่น บิงโก สามารถคุยกับเพื่อนร่วมวง ทำให้ผู้หญิงมีเพื่อน แต่ผู้ชายต้องการ Game of Skill ต้องการคิด วิเคราะห์ ที่ใช้เวลายาวนานและใช้ทักษะ ส่วนลูกค้าของคาสิโนออนไลน์เป็นการขยายฐานลูกค้าไปกลุ่มใหม่ ไม่ใช่กลุ่มเดิมที่เดินทางไปเล่นในคาสิโน ที่สำคัญคือเมื่อในต่างประเทศทำให้การพนันถูกกฎหมาย จะมีการปราบปรามอย่างจริงจัง บ่อนผิดกฎหมายต้องอยู่ไม่ได้

เมื่อถามถึงวิธีการให้คำแนะนำกับเยาวชน น.ส.สุภาพิชญ์ กล่าวว่าเด็กเยาวชนยุคปัจจุบันมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ฉะนั้นผู้ใหญ่อย่าไปห้าม การห้ามเหมือนยิ่งยุ จะเป็นคำถามว่าทำไมห้ามเล่น สิ่งที่บอกคือ เราต้องเปิดหลังม่าน ว่าข้างหลังโอกาสชนะ โอกาสโดนโกงเท่าไหร่ เปิดโปงระบบข้างหลัง การดูดเงินจากเราและให้เป็นวิจารณญาณจากเขา สุดท้ายอยากให้มองว่าเด็กเยาวชนไม่ใช่ปัญหา เขาเป็นทรัพยากรที่พัฒนาได้. 

 

เวทีอภิปราย “การพัฒนาสื่อเรียนรู้เท่าทันการพนันสำหรับเด็กและเยาวชน” 

ในรายการสุดท้ายของการประชุมวิชาการ “สังคมเท่าทัน การพนันไม่ล้ำเส้นเสี่ยง” คือเวทีอภิปรายในหัวข้อ “การพัฒนาสื่อเรียนรู้เท่าทันการพนันสำหรับเด็กและเยาวชน” ร่วมอภิปรายโดย รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ผศ.ดร.ฐาศุกร์ จันประเสริฐ สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ดำเนินรายการโดย อ.สุภาพร โพธิ์แก้ว จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เปิดประเด็นในการพัฒนาสื่อว่าต้องสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้ชมได้ เพราะเมื่อไหร่ที่คนเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติจะเปลี่ยนตาม และเมื่อใดที่ทัศนคติเปลี่ยน พฤติกรรมก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย หากเราสามารถทำให้คนเชื่อได้ว่าการพนันออนไลน์เป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบให้กับชีวิตของคน mindset เปลี่ยนหมด พฤติกรรมก็เปลี่ยนตาม 

ในฝั่งเว็บไซต์การพนันเองปัจจุบันสามารถทำการตลาดบนโลกโซเชียลได้อย่างตรงจุด รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชนจึงทำกลยุทธ์ตอบสนองไลฟ์สไตล์เด็กและเยาวชนได้ ทำเป็นเพลงแร๊พง่ายๆ ทำให้มียอดวิวเป็นล้าน ทางฝั่งของผู้ต่อต้านการพนันจะทำอย่างไร นั่นก็ต้องมีสิ่งที่สำคัญถ้าอยากให้เนื้อหาประสบความสำเร็จ คือ 

1) เนื้อหาต้องดูดี แชร์แล้วดูดี 

2) แทรกเรื่องราวชีวิตจริงเข้าไป ส่งผลอารมณ์ ความรู้สึก 

3) มีประโยชน์ต่อผู้อื่น เป็นกระแสในสังคม มีเรื่องราว มีเบื้องหลัง

ด้านฝ่ายนักวิชาการด้านศิลปะ รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ เล่าถึงการทำงานที่นำเอาศิลปะการละครมาใช้ในกระบวนการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโทษของการพนันเรียกว่า “ละครถกแถลง” เป็นละครที่สะท้อนความขัดแย้ง เป็นเรื่องเสมือนจริงแต่ไม่ได้เอาตัวตนของใครในชุมชนมาพูด ดังนั้นคนที่จะมาถกเถียงเรื่องความขัดแย้ง การเมือง สิ่งแวดล้อม การพนัน ได้อย่างเสรี เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยไม่ได้ต่อว่าใครโดยเจาะจง ทำให้ผู้ร่วมเล่นละครได้แลกเปลี่ยนถกเถียงหาทางออกร่วมกับตัวละคร เรื่องที่ได้ไปลองทำกิจกรรมมีชื่อว่า “โคกนี้มีอะไร” เป็นเรื่องราวในชุมชนหนึ่งที่มีเจ้ามือไฮโลเปิดวงการพนันในหมู่บ้าน มีตัวละครต่างๆ หลากหลายมาปฏิสัมพันธ์กัน เรื่องราวดำเนินไปจนถึงจุดหนึ่งที่ปัญหาไม่สามารถคลี่คลายได้ กระบวนกรจึงหยุดละครแล้วถกแถลงเพื่อหาทางออกร่วมกัน 

ส่วนอีกกระบวนการหนึ่งเป็นเกมละครที่ชื่อว่าผจญภัยในมหาสมบัติ มีเนื้อหาที่สื่อถึงการพนันในโลกความเป็นจริงโดยที่ไม่ได้กล่าวถึงตรงๆ แต่สื่อผ่านตัวละครตัวหนึ่งที่ชื่อ “สึนามิ” ที่จะมายื่นข้อเสนอต่างๆ ให้เกิดการเดิมพันการ์ดกับสมบัติ ทำให้เด็กเรียนรู้และตระหนักได้ว่าการพนันมีผลเสียอย่างไรโดยให้ผู้เล่นเกมละครสัมผัสจากประสบการณ์ในเกม 

ผศ.ดร.ฐาศุกร์ จันประเสริฐ นักวิชาการด้านพฤติกรรมศาสตร์ อธิบายปัจจัยที่ประกอบเป็นพฤติกรรมของบุคคลเสริมในประเด็นการพัฒนาสื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ สามารถพัฒนาได้ แต่องค์ประกอบที่สำคัญในตัวคนคือ พวกความรู้ การรู้คิด การประเมิน การให้คุณค่า คือองค์ประกอบที่หนึ่ง ที่ทุกคนใช้การรู้คิดของตัวเองเสมอ ส่วนองค์ประกอบที่สองคือเรื่องของความรู้สึก หัวใจ ทัศนคติ เจตคติ ถ้าคนมีทัศนคติที่ดีหรือไม่ดีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะส่งผลสู่การแสดงพฤติกรรมได้ ส่วนทางพุทธ หากคนเราจะเปลี่ยนแปลงตนเอง ส่วนหนึ่งมาจากความคิดของเราที่เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” เป็นการคิดแบบแยบคายมี 10 แบบ ทำให้สามารถวิเคราะห์คุณค่าแท้ คุณค่าเทียมขอสิ่งที่กำลังจะทำ วิเคราะห์สาเหตุ สืบเสาะหาปัจจัยในสิ่งต่างๆ ได้ 

อย่างไรก็ตามในวันๆ หนึ่งมนุษย์ต้องคิดตัดสินใจในเรื่องต่างๆ หลายหมื่นครั้ง และส่วนใหญ่แล้วแต่ละครั้งมักใช้อารมณ์ในการตัดสินใจมากกว่าใช้ตรรกะหรือสมอง เราจะสร้างสื่ออย่างไรให้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส จากข้อเท็จจริงที่ว่าคนใช้อารมณ์ความรู้สึกตัดสินใจ การสร้างสื่อก็จะต้องกระทบกับอารมณ์ความรู้สึกของคนด้วย นอกจากนี้ยังสามารถใช้สื่อบุคคล คือคนที่มีตำแหน่ง อำนาจ หรือดาราคนดัง มาเป็นผู้สื่อสารเพื่อเรียกความสนใจให้เพิ่มมากขึ้น

ช่วงท้ายรายการ อ.สุภาพร ได้ให้ความเห็นว่าโจทย์ที่ท้าทายที่กล่าวมาทั้งหมดคือการสร้างสื่อรู้เท่าทันการพนันไม่ล้ำเส้นนี้นอกจากจะสร้างความตระหนักรู้ในเยาวชนแล้วต้องสร้างคู่ขนานไปกับการให้ความรู้แก่ผู้ใหญ่วัยหลังเกษียณด้วย นายพชรพรรษ์ เสริมว่าการใช้สื่อใดสื่อหนึ่งนั้นไม่ควรทำแต่ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมแก่กลุ่มเป้าหมาย ด้าน ผศ.ดร.ฐาศุกร์ กล่าวต่อไปว่าสื่อที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือตัวเราเอง ผู้ที่เป็นตัวแทนต่างๆ ควรจะศึกษาคู่มือในการสื่อสารโทษของการติดพนันเพื่อจะได้เป็นสื่อที่ดีในการขยายความรู้ออกไป ด้าน รศ.ดร.กนกวรรณ สื่อละครเป็นสื่อที่เหมาะกับชุมชน เป็นการปฏิสัมพันธ์เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่มีผลเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงซึ่งสามารถนำไปใช้ในบางพื้นที่ได้ 

สุดท้าย ผู้ดำเนินรายการ อ.สุภาพร โพธิ์แก้ว สรุปว่า สื่อทุกสื่อมีความสามารถในแบบของตัวเองเพียงแต่เราต้องเลือกใช้ให้ถูกงานถูกกลุ่มเป้าหมาย การวางแผนการสื่อสารต้องมอง 3 ระดับคือ 1) ระดับท้องถิ่น 2) ระดับชุมชน และ 3) ระดับชาติ และสุดท้ายในการสื่อสารต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายทั้งอายุ อาชีพ และอื่นๆ เพื่อให้การรู้การเท่าทันการพนันกระจายไปอย่างทั่วถึง.