โดย ณัฐกร วิทิตานนท์ [1]
ในทางวิชาการ การพนันออนไลน์ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและลบ ซึ่งมีระดับการพิจารณาหลายระดับ ทว่างานส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญศึกษาผลกระทบในด้านลบ (Negative Impacts) ในส่วนของผู้เล่นเป็นหลัก แยกเป็นผลกระทบโดยตรงต่อตัวคนเล่นเอง ทั้งเรื่องการเรียน เรื่องการงาน (ขาดงานบ่อย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง) สุขภาพกาย และสุขภาพจิต ตลอดจนผลกระทบโดยอ้อมถึงครอบครัว โดยเฉพาะจากภาระหนี้สินซึ่งสมาชิกในครอบครัวต้องหาหนทางเข้ามาช่วยเหลือ
ใจกลางของงานศึกษาในมิตินี้จึงเจาะจงศึกษากลุ่มผู้ที่มีปัญหาติดการพนัน (Problem Gambling) เป็นพิเศษ สร้างเครื่องมือประเมินการติดพนันหลายต่อหลายแบบ แบบที่นิยมใช้กันมากคือ South Oaks Gambling Screen (1987) คำถามประเมินพฤติกรรมติดพนันอย่างง่าย ๆ 20 ข้อ คิดค้นโดย Henry Lesieur และ Sheila Blume อิงจาก DSM-III ซึ่งเคยถูกใช้เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยและจําแนกโรคทางจิตเวชมาก่อน
งานวิจัยจำนวนหนึ่งอาศัยวิธีวิทยาการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) ใช้กลุ่มประชากรขนาดเล็ก บางงานเลือกศึกษาผลกระทบที่เกิดกับกลุ่มวัยรุ่นแค่ไม่กี่คนด้วยซ้ำไป แต่ใช้ช่วงเวลายาวนาน เพื่อดูพัฒนาการก่อน-หลัง เป้าหมายใหญ่เพื่อแสวงหาวิธีการลดความเสี่ยงจากการติดพนัน
ปัญหาติดการพนันข้างต้น หมายถึงการที่บุคคลหนึ่งเล่นพนันหลายประเภท (Greater Number of Gambling Formats) และใช้จ่ายเพื่อการพนันเป็นอย่างมาก (Higher Net Financial Expenditure on Gambling) งานของ Robert T. Wood กับ Robert J. Williams (2012) เชื่อว่าผู้เล่นพนันออนไลน์มีความเสี่ยงที่จะติดการพนันมากกว่าผู้เล่นพนันแบบออฟไลน์สูงถึง 3-4 เท่า สอดคล้องกับงานมากมายในหลายประเทศซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าเนเธอร์แลนด์ สวีเดน สเปน สหรัฐฯ และในบรรดาผู้ที่ติดการพนันออนไลน์ทั้งหมด รวมแล้วประมาณร้อยละ 20-40 จัดว่าติดการพนันขั้นปานกลางไปจนถึงระดับรุนแรงหรือติดอย่างหนัก
แบบประเมินการติดการพนันแบบ South Oaks Gambling Screen ทั้งที่เป็นแบบสอบถามและแบบออนไลน์ [2]
เมื่อพิจารณาในรายละเอียด ปัญหาที่ตามมาจากการติดการพนันที่งานวิจัยจำนวนมากสรุปตรงกัน ได้แก่ ด้านการเรียน การเล่นพนันในวัยเรียนส่งผลต่อการเรียนที่ตกต่ำลงหรือทำให้ขาดเรียนบ่อยมากขึ้น เช่น งานชิ้นหนึ่งศึกษานักเรียนระดับมัธยมในรัฐคอนเนตทิกัต 2,006 คน พบว่ากลุ่มที่เล่นการพนันออนไลน์มีผลการเรียนที่แย่ลงอย่างเห็นได้ชัด (2011) ด้านสุขภาพร่างกาย ผู้ที่เล่นพนันออนไลน์จะเสพสารเสพติดหรือสูบบุหรี่มากกว่ากลุ่มผู้ไม่เล่นพนันออนไลน์ (เล่นพนันแบบเก่า) จากการเจาะจงศึกษาผู้เล่นพนันออนไลน์จำนวน 563 ราย มีร้อยละ 45 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปด้วยขณะเล่นพนัน นอกนั้นร้อยละ 33 สูบบุหรี่ ร้อยละ 9 เสพกัญชา และร้อยละ 4 ใช้สารออกฤทธิ์อื่น ๆ เช่น โคเคน ยาไอซ์ ที่ทำให้อยู่กับเกมการพนันได้นานขึ้น และช่วยให้คลายเครียด (2008) แน่นอน การติดยาเหล่านี้ย่อมสร้างปัญหาต่อสุขภาพกายและใจในระยะยาว
Mirella Yani-de-Soriano และคณะวิจัย (2012) พบผู้ที่มีปัญหาติดการพนันออนไลน์มักดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักในระยะเวลาสั้น ๆ ที่เรียกว่า Binge Drinking ซึ่งเป็นการดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าปกติเพื่อเกิดความให้มึนเมาหรือรับรู้ผลของแอลกอฮอล์ได้โดยทันที ผลการศึกษากลุ่มที่ติดการพนันคิดเป็น 96% และกลุ่มเสี่ยงที่จะติดการพนันจำนวน 49% มีพฤติกรรมการดื่มเช่นนี้ ขณะที่กลุ่มที่ไม่ติดการพนันหรือไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่พบ
ด้านสภาพจิตใจ งานของ Neil Matthews (2009) สะท้อนว่าระหว่างที่กำลังเล่นการพนันออนไลน์อยู่นั้น ผู้เล่นจะรู้สึกดี เช่น รู้สึกกระตือรือร้น มีพลัง ตื่นเต้น คลายความเครียด ลืมปัญหาชีวิต ด้วยความที่ใจจดจ่ออยู่กับการพนันช่วยให้รู้สึกว่าเวลาผ่านพ้นไปเร็ว แต่พบว่าภายหลังจากการเล่นเสร็จสิ้นลง ผู้เล่นกลับมีสภาวะทางอารมณ์ที่เป็นลบ (Negative Mood) เกิดความรู้สึกกลัว โกรธ หดหู่ เกลียดชัง นั่นหมายความว่าความรู้สึกดีมีขึ้นในระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น ซึ่งไม่พบในช่วงก่อนหรือหลังเล่นการพนัน จึงติดใจอยากกลับไปเล่นการพนันอีก เพื่อให้อารมณ์ดีขึ้นหรือระบายความไม่สบอารมณ์ต่าง ๆ ออกไป อย่างน้อยชั่วประเดี๋ยวก็ยังดี
งานอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจโดย Roberta R. Boughton (2016) ศึกษาผลกระทบในกลุ่มผู้หญิงที่ติดการพนันออนไลน์โดยเฉพาะ กลุ่มตัวอย่างโดยเฉลี่ยเล่นพนันออนไลน์อย่างน้อย 3 ชนิดในแต่ละเดือน ปัญหาที่ติดตามมา 35% เป็นเรื่องพฤติกรรมการกินผิดปกติ (Binge Eating) สูบบุหรี่กับค่าใช้จ่ายในการช็อปปิ้ง (Compulsive shopping) พบอยู่ 31% เท่ากัน ผู้หญิงที่ประสบปัญหาติดพนันใช้เงินถึง 75% ของรายได้ในแต่ละเดือนในการเล่นพนัน 58% ติดหนี้บัตรเครดิตจากการพนัน 50% ต้องกู้ธนาคาร 50% ค้างชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ 39% ยืมเงินจากครอบครัว 31% ต้องขายทรัพย์สินส่วนตัว 12% ถอนเงินออกจากกองทุนออมทรัพย์ และมีถึง 11% ที่ต้องกลายเป็นคนล้มละลาย
แม้นผู้เล่นพนันออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหาติดการพนัน แต่ต้องยอมรับว่าผู้เล่นการพนันออนไลน์มีแนวโน้มติดการพนัน และมีความเสี่ยงที่จะสูญเงินให้กับการพนันได้มากกว่าผู้ที่เล่นพนันในลักษณะอื่น เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่ได้ใช้เงินจริงในการเล่นก็เลยไม่ได้รู้สึกสำนึกถึงคุณค่าของเงินที่เสียไป
อย่างไรก็ตาม ครอบครัวย่อมต้องได้รับผลกระทบจากปัญหาการติดพนันของสมาชิกในครอบครัวด้วย คู่สมรสหรือแม่มักเป็นคนแรก ๆ ที่ผู้ติดการพนันตัดสินใจที่จะบอก เพราะต้องการแรงสนับสนุนทั้งทางใจและการเงิน สมาชิกในครอบครัวย่อมได้รับแรงกดดันและความเครียดเช่นกัน เพราะต้องเป็นผู้คอยปกปิดความลับเรื่องการติดการพนันของสมาชิกในครอบครัว หรือช่วยปกปิดการกระทำผิดกฎหมายเพื่อหาเงินมาใช้หนี้พนัน รวมทั้งอาจต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ซึ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว โดยเฉพาะกับความสูญเสียความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจที่เคยมีต่อกัน ซึ่งนั่นอาจเป็นสาเหตุของการหย่าร้างหรือการตัดพ่อ-ตัดแม่-ตัดลูกในที่สุด.
[1] อาจารย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
[2] ที่มาของภาพ: http://www.ncrg.org/sites/default/files/uploads/docs/monographs/sogs.pdf (ซ้าย); http://www.addictionrecov.org/southoak.aspx (ขวา)
- Jessica McBride and Jeffrey Derevensky, Internet Gambling Behaviour in a Sample of Online Gamblers, International Journal of Mental Health and Addiction, 7(1), 2008, 149–167.
- Marc N. Potenza, Justin D. Wareham, Marvin A. Steinberg, Loreen Rugle, Dana A. Cavallo, Suchitra Krishnan-Sarin and Rani A. Desai, Correlates of At-Risk/Problem Internet Gambling in Adolescents, Journal of the American Academy of Child and Adolescent Psychiatry, 50(2), 2011, 150-159.
- Mirella Yani-de-Soriano, Uzma Javed and Shumaila Yousafzai, Can an Industry Be Socially Responsible If Its Products Harm Consumers? The Case of Online Gambling, Journal of Business Ethics, 110(4), 2012, 481-497.
- Neil Matthews, Bill Farnsworth and Mark D. Griffiths, A Pilot Study of Problem Gambling among Student Online Gamblers: Mood States as Predictors of Problematic Behavior, CyberPsychology & Behavior, 12(6), 2009, 741-745.
- Robert T. Wood and Robert J. Williams, “The Casino City Study A Large-scale International Study of Online Gamblers,” in Robert J. Williams, Robert T. Wood and Jonathan Parke (Editors), Routledge International Handbook of Internet Gambling, (New York: Routledge, 2012), 103-125.
- Roberta R. Boughton, Farah Jindani and Nigel E. Turner, Group Treatment for Women Gamblers Using Web, Teleconference and Workbook: Effectiveness Pilot, International Journal of Mental Health and Addiction, 14(6), 2016, 1074-1095.
ตอนที่ 11 อาชญากรรมการพนันออนไลน์ (ผลกระทบต่อผู้เล่น ผู้ประกอบการ และรัฐ)
โดย ณัฐกร วิทิตานนท์ตอนที่ 10 ผลกระทบของการพนันออนไลน์ (ในระดับตัวบุคคล)
โดย ณัฐกร วิทิตานนท์ตอนที่ 9 ทำไมคนหันมาเล่นพนันออนไลน์? และมีพฤติกรรมในการเล่นอย่างไร?
โดย ณัฐกร วิทิตานนท์ตอนที่ 8 ใครคือนักพนันออนไลน์ ?
โดย ณัฐกร วิทิตานนท์ตอนที่ 7 มาตรการการคุ้มครองผู้เล่น
โดย ณัฐกร วิทิตานนท์