• จุลสาร
  • งานวิจัย
  • หนังสือ

ความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับข่าวสารกับทัศนคติ และพฤติกรรม การเล่นการพนันของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ

โดย บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์

การวิจัยเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างการเปิดรับข่าวสารกับทัศนคติ และพฤติกรรมการเล่นการพนันของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเปิดรับข่าวสาร ทัศนคติ และพฤติกรรมการเล่นการพนันของนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่าง       ตัวแปรทั้งสาม ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ในรูปแบบของการสำรวจ (Survey) แบบการศึกษาภาพตัดขวาง (Cross-sectional Study) เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม (Questionnaire) ทั้งนี้ ผู้วิจัยเลือกเข้าถึงประชากร (Accessible Population) เฉพาะนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่มีสมาชิกของเครือข่ายอาจารย์สื่อสารมวลชนเพื่อขับเคลื่อนสังคมลดปัญหาการพนันเป็นผู้สอน ซึ่งมีสถานศึกษาตั้งอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวม สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยมหาสารคามมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยรามคำแหงมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยใช้สูตร Taro Yamane ได้ขนาดของกลุ่มตัวอย่างเท่ากับ 900 คน

                   สำหรับการสุ่มตัวอย่าง ผู้วิจัยใช้การสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยเลือกเฉพาะนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่มีสมาชิกของเครือข่ายอาจารย์สื่อสารมวลชนเพื่อขับเคลื่อนสังคมลดปัญหาการพนันเป็นผู้สอน รวม 9สถาบันอุดมศึกษา ลำดับถัดมาใช้การสุ่มตัวอย่างแบบจัดสัดส่วน (Quota Sampling) โดยกำหนดสัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างจาก 9สถาบันในจำนวนเท่า ๆ กัน สถาบันละ 100 คน จากนั้นใช้การสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) เพื่อเข้าถึงกลุ่มตัวอย่างในแต่ละสถาบัน  โดยพยายามให้มีการกระจายของกลุ่มตัวอย่างตามลักษณะประชากรที่กำหนดไว้มากที่สุดจนครบ 900คน 

                   สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติเชิงพรรณา ได้แก่ การแจกแจงค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ(Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ส่วนการทดสอบสมมติฐานใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA)  การทดสอบความเป็นอิสระต่อกันของสองประชากร  (Chi-Square) การวิเคราะห์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson’s Product Moment Correlation Coefficient) และการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยสำหรับประชากรสองกลุ่มที่เป็นอิสระต่อกัน (Independent -Samples T-Test)  

ผลการวิจัย  พบว่า 

                   1.  กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับการเล่นการพนันจากสื่อบุคคล สื่อมวลชน  และสื่อใหม่  โดยเพื่อนเป็นสื่อบุคคลที่พูดเรื่องการพนันมากที่สุด โทรทัศน์เป็นสื่อมวลชนที่ได้รับความนิยม ขณะที่เว็บไซต์และเฟสบุ๊คกลายเป็นสื่อใหม่มาแรง

                   2.  กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีทัศนคติเกี่ยวกับการเล่นการพนันในระดับค่อนข้างบวกผ่านมุม มองคนไทยชอบการเสี่ยงโชคมากที่สุด แม้จะรู้ว่าไม่มีใครประสบความสำเร็จได้จากการพนันและการพนันเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ตาม เข้าข่าย รู้ทั้งรู้ว่าไม่ดี แต่ก็ยังทำ

                   3.  กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการเล่นการพนันมาก่อน นิยมเล่นไพ่มากที่สุดโดยเริ่มเล่นครั้งแรกเมื่อสมัยเรียนชั้นประถมศึกษา เหตุผลง่าย ๆ คือ เพื่อความสนุกสนาน ไม่มีอะไรทำ  ฆ่าเวลา และอยากรู้เฉย ๆ 

                   4.  ทัศนคติเชิงบวกต่อการพนันเป็นผลมาจากกลุ่มตัวอย่างนิยมเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับการพนัน โดยสื่อบุคคลอย่างเพื่อนและสื่อมวลชนอย่างโทรทัศน์ถือเป็นสื่อหลักในการโน้มน้าวใจให้          กลุ่มตัวอย่างโดยเฉพาะเพศชายที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยเอกชน เรียนได้เกรดเฉลี่ยสะสม 1.01-2.00 และมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท คล้อยตาม 

                   5. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับพฤติกรรมการเล่นการพนันของกลุ่มตัวอย่างมีอยู่   3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย 1. การมีทัศนคติเชิงบวกต่อการพนัน 2. การเปิดรับข่าวสารการพนันจากเพื่อน โทรทัศน์ และเว็บไซต์  3. ลักษณะทางประชากรศาสตร์ที่เอื้อต่อการเล่นการพนัน ได้แก่ เพศ ประเภทของมหาวิทยาลัยที่ศึกษา และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน