• จุลสาร
  • งานวิจัย
  • หนังสือ

การสร้างกระบวนการกลุ่มเรียนรู้เพื่อเท่าทันพนันของเด็กและเยาวชนในชุมชนชายแดนไทย-กัมพูชา

โดย อุบล สวัสดิ์ผล และคณะ

การวิจัยนี้ดำเนินการวิจัยต่อยอดชุดความรู้จากโครงการวิจัยเรื่องการพนันในมุมมองของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ปี พ.ศ. 2561 ในครั้งนี้ต้องการศึกษาเรื่องแนวทางการจัดกระบวนการกลุ่มเรียนรู้เพื่อเท่าทันพนันของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา มีวัตถุประสงค์1) เพื่อศึกษาบริบทและการเปลี่ยนแปลงของชุมชนท้องถิ่นชายแดนหลังการเปิดจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำชายแดนไทย-กัมพูชา และ2)เพื่อค้นหาแนวทางในการจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องพนันในโรงเรียน โดยใช้กระบวนการกลุ่มเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในชุมชน การศึกษาครั้งใช้ระเบียบวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative approach) โดยใช้เครื่องมือ ชุดเรียนรู้เรียนรู้เพื่อเท่าทันพนัน 5 ชุดเรียนรู้ ได้แก่ 1. ชุดเรียนรู้เกมละครผจญภัย เกาะมหาสมบัติ 2. ชุดเรียนรู้ละครถกแถลง 3. ชุดเรียนรู้ บอร์ดเกม Dream Ranger 4. ชุดเรียนรู้การ์ดเกม บักเซี่ยงเหมี่ยง และ5. ชุดเรียนรู้เกมใบ้คำ เอ็กช์โอ (XO)  โดยมีกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนากิจกรรมให้ความรู้เรื่องพนัน ประกอบด้วย แกนนำนักวิจัยเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านจำนวน 13 คน และนักเรียนในโรงเรียน จำนวน 50  คน และในบางกิจกรรมการเรียนรู้ได้เชิญคนในชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหน่วยงานอื่นๆเข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้ด้วย การศึกษานี้เลือกพื้นที่วิจัยแบบเจาะจง ที่บ้านไพรพัฒนา ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ มีเหตุผลเลือกพื้นที่เนื่องจาก ชุมชนแห่งนี้อยู่ใกล้บริเวณชายแดนประเทศไทย-กัมพูชา ได้รับผลกระทบจากการมีคาสิโนชายแดนฝั่งกัมพูชาชัดเจน และเคยเป็นพื้นที่ดำเนินงานวิจัยเรื่อง “การพนันในมุมมองของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นชายแดนไทย-กัมพูชา” ซึ่งผลการศึกษาชี้ชัดว่าการพนันในพื้นที่มีความหลากหลาย ซับซ้อน และเชื่อมสัมพันธ์กับการมีคาสิโนฝั่งกัมพูชาชัดเจน โดยดำเนินการวิจัยช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2561 ถึงเดือนกันยายน 2562

 

ผลการศึกษา มีดังนี้

ประการแรก การเปลี่ยนแปลงของบริบทชุมชนท้องถิ่นชายแดนหลังการเปิดจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำชายแดนไทย-กัมพูชา พบว่า ชุมชนแห่งนี้อยู่ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา ภายหลังการเปิดจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ บ้านไพรพัฒนามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วใน 2 ระดับพื้นที่ คือ 1)การเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่ชุมชนบ้านไพรพัฒนา ใน 4 ระบบสำคัญ คือ  1. การเปลี่ยนแปลงระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ และสิ่งอำนวยความสะดวก เส้นทางการค้า การพนันและการเชื่อมสัมพันธ์ข้ามแดนไทย-กัมพูชา 2. การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของชุมชน 3. การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม 4. การเปลี่ยนแปลงด้านระบบศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี  และ 2)การเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่ชายแดน ไทย-กัมพูชา 

ในมิติด้านการพนัน ชุมชนแห่งนี้เป็น “ชุมชนเปราะบางด้านการพนัน” เนื่องจากชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคมจากพนันอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่คนในชุมชนส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญ ไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา มองว่าการพนันในชุมชนเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้รู้สึกไม่ยินดียินร้าย ไม่มีแผนปฏิบัติการรับมือด้านพนันนอกจากจารีตและกฎหมายที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง หลังจากชุมชนต้องตกอยู่ภายใต้การปฏิบัติการของธุรกิจการพนันในประเทศไทยและภายใต้กลยุทธ์ของกลุ่มการพนันข้ามพรมแดนที่หลากหลาย หลังการเปิดคาสิโนและสนามบั้งไฟในประเทศกัมพูชา โดยชุมชนแห่งนี้กำลังได้รับแรงกระตุ้นการพนันท้องถิ่นที่มีการเล่นพนันกันโดยทั่วไป และจากธุรกิจการพนันข้ามแดนในพื้นที่ชายแดนกัมพูชา เช่น บ่อนคาสิโน สนามบั้งไฟ สนามมวย และ สนามไก่ชน อันเป็นกีฬาสร้างสัมพันธ์บริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา

ประการที่สอง การค้นหาแนวทางกระบวนการกลุ่มเรียนรู้เพื่อเท่าทันพนันของเด็กและเยาวชนในโรงเรียน การศึกษานี้ พบว่า ชุดเรียนรู้พนัน ทั้ง 5 ชุดเรียนรู้ได้แก่ 1. ชุดเรียนรู้ “เกมละครผจญภัย เกาะมหาสมบัติ” 2. ชุดเรียนรู้ “ละครถกแถลง”3. ชุดเรียนรู้ “บอร์ดเกม Dream Ranger”  4. ชุดเรียนรู้ “การ์ดเกม บักเซี่ยงเหมี่ยง” และ5. ชุดเรียนรู้ “เกมใบ้คำ เอ็กช์โอ (XO)”  ที่ผู้วิจัยได้นำมาจัดกระบวนการเรียนรู้พนันในชุมชนและโรงเรียนสามารถสร้างการรับรู้และเรียนรู้เท่าทันพนันได้แต่ปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชน 

ทั้งนี้ ผู้วิจัยพบว่า กระบวนการกลุ่มเรียนรู้เพื่อเท่าทันพนัน เป็นการเรียนรู้ดำเนินการภายใต้แนวคิด Executive Function (EF) กระบวนการยับยั้งชั่งใจ ดังนั้นการใช้เครื่องมือชุดเรียนรู้พนัน เป็นสร้างคุณลักษณะภายในเชิงบวกของเด็กและเยาวชนที่รู้จักการปฏิเสธพนัน โดยคุณลักษณะเหล่านี้ได้สะท้อนจากผู้เล่นที่แสดงออกทางพฤติกรรมระหว่างเล่น ซึ่งผู้นำกระบวนการบอร์ดเกมหรือการ์ดเกมจะต้องพยายามให้ความสำคัญในการสังเกตพฤติกรรมต่างๆ ที่ปรากฏออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ/ไม่เป็นธรรมชาติโดยที่ผู้เล่นไม่รู้ตัว เช่น ในรูปของสีหน้า แววตา ท่าทาง น้ำเสียง ภาษา คำพูด คำอุทาน ฯลฯ ที่ผู้นำกระบวนการสังเกตได้ 

 

ข้อเสนอแนะ

ในพื้นที่ชุมชนเปราะบางด้านการพนัน การที่จะให้คนในชุมชนลุกขึ้นมาให้ความสำคัญกับปัญหาพนันและจัดการกับการพนันในชุมชนเพียงลำพังนั้นค่อนข้างยาก ดังนั้นเด็กและเยาวชน ในชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ ของครอบครัว สังคมชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นการดำเนินการเพื่อลด ละ เลิก การพนันในชุมชนเปราะบางด้านการพนันควรเน้นไปที่เด็ก และเยาวชนในเบื้องต้น โดยผู้วิจัยมีข้อเสนอ ดังนี้

ประการแรก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาชุดเรียนรู้พนันที่หลากหลาย และยกระดับความเข้มข้นนำมาจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มีความเหมาะสมกับบริบทชุมชนและเข้าถึงกลุ่มเด็ก เยาวชน   ในโรงเรียนและชุมชนเป็นอันดับเบื้องต้น  

ประการที่สอง หน่วยงานระดับนโยบายด้านกฎหมายจะต้องบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะการพนันที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรม

ประการที่สาม ต้องมีการพัฒนามีกลไกหรือหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ด้านพนันอย่างชัดเจนทั้งในระดับพื้นที่และนโยบาย เพื่อให้เกิดการทำงานอย่างต่อเนื่องในการลด ละ เลิกพนัน และสามารถลดช่องว่างของธุรกิจการพนันไทย-การพนันข้ามพรมแดนได้อย่างเป็นระบบ