• จุลสาร
  • งานวิจัย
  • หนังสือ

การพนันภาคเหนือตอนบน การพนันในแนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองในมุมมองสตรีนิยม

โดย อริยา เศวตามร์, กนกพร ดีบุรี, วิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์, วิเศษ สุจินพรัหม

วัตถุประสงค์ของงานศึกษานี้ให้ความสำคัญกับการศึกษาการเล่นหวยใต้ดินในชุมชน ที่เชื่อมโยงกับบทบาทของผู้หญิงในการจัดการการเงินในครัวเรือน และโครงสร้างอำนาจในสังคม ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเล่นหวยใต้ดิน และเพื่อนำไปสู่พัฒนาองค์ความรู้ในการนิยาม “การพนัน” จากมิติที่หลากหลาย โดยเป็นการศึกษามิติที่หลากหลายและซ้อนทับกันในมิติต่างๆ เช่น ชนชั้น ชาติพันธุ์ เพศภาวะ วัย และความเชื่อ เป็นต้น โดยมีแนวคิดหลักในการศึกษา 3 แนวคิดที่มีความเชื่อมโยงกัน คือ การนิยามการพนันจากมิติที่หลากหลาย แนวคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองในมุมมองสตรีนิยม และการพนันกับความเสี่ยงในยุคสมัยใหม่ งานศึกษานี้เน้นการให้ความสำคัญกับ “ผู้เล่นพนัน” ที่เป็นผู้หญิง โดยมองว่าการพนัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นหวยใต้ดิน และการเล่นพนันชนิดอื่นๆของผู้หญิง ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการต่อสู้ดิ้นรนในชีวิตประจำวันเพื่อบริหารจัดการการเงินในครัวเรือน 

จากผลการศึกษาพบว่าการเล่นหวยมีรูปแบบและความหมายที่หลากหลายและไม่หยุดนิ่ง และมีลักษณะเฉพาะซึ่งขึ้นอยู่กับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในแต่ละช่วงเวลา การเล่นหวยจึงไม่ควรถูกเหมารวมว่าเป็นการพนันเพียงความหมายเดียว โดยไม่พิจารณาถึงองค์ประกอบแวดล้อมอื่น ๆ ในการศึกษาบริบทของชุมชนของพื้นที่กรณีศึกษาทั้ง 3 กรณี ในพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท พื้นที่ชนบทที่ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม และพื้นที่ชนบทในปริมณฑลชายแดน ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้หญิงกลุ่มต่างๆที่แตกต่างกัน และมีผลต่อการนิยามหวย ชุดความรู้ในการเล่นหวย และจุดประสงค์ในการเล่นหวยที่แตกต่างกัน 

จากผลการศึกษาพบว่าผู้หญิงไม่ได้มองหวยใต้ดินเป็นการพนัน แต่มองว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการเสี่ยงโชค ผู้หญิงที่ประกอบอาชีพค้าขาย รับจ้าง ผู้ประกอบการรายย่อย ต้องบริหารจัดการการเงินเพื่อหมุนเวียนเงินสดเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ มองว่าการเล่นหวยเป็นการลงทุน หวยจึงมีฐานะเป็นกิจกรรมในการดำรงชีพที่ตอบสนองต่อความต้องการของครัวเรือนในด้านที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการหมุนเวียนเงินสด นอกจากนี้ ยังพบว่าการเล่นหวยมีความเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ทางสังคม และการผสมผสานชุดความรู้หลายๆแบบ ทั้งความรู้ท้องถิ่นผสมผสานกับความรู้ เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการจัดการความรู้ท้องถิ่น (Local  Knowledge)  อย่างเช่น มีหนังสือตำราทำนายฝันเพื่อตีออกมาเป็นตัวเลขสำหรับใช้แทงหวย การอธิบายเรื่องหวยของผู้หญิงในชุมชนตลาดยังเกี่ยวโยงกับความเชื่อเรื่อโชค-เคราะห์ หรือดวงชะตา กับคติความเชื่อเรื่องบุญ-กรรมในพุทธศาสนา และอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์แบบไสยศาสตร์ และเป็นการแสดงออกถึงปฏิบัติการทางสังคมในรูปแบบการต่อรองอำนาจของผู้หญิงในการจัดการความเสี่ยงต่างๆ ในบริบทโลกาภิวัตน์และตลาดแบบเสรีนิยมใหม่ 

นอกจากนี้ ยังพบว่าการเล่นหวยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการต่อสู้ดิ้นรนในชีวิตประจำวันเพื่อบริหารจัดการครอบครัว ที่เน้นไปที่เศรษฐกิจครอบครัวหรือครัวเรือน หรือ “การผลิตซ้ำทางสังคม” (Reproduction) ที่อยู่ในปริมณฑลของพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่ในบ้าน ซึ่งแนวคิดเศรษฐศาสตร์ที่เน้นตลาดเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจมองว่าไม่มีคุณค่าในทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การผลิตซ้ำทางสังคมของผู้หญิงเป็นการดำรงรักษาให้ระบบทุนนิยมอยู่ได้ ทั้งในระดับท้องถิ่น และข้ามพรมแดน แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในที่นี้อาจมีความซับซ้อนมากกว่าในมุมมองของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก และแนวคิดสตรีนิยมแนวเศรษฐศาสตร์การเมือง เนื่องจากการพนันหรือการเล่นหวย เป็น “ยุทธวิธี” หนึ่งในการต่อสู้ดิ้นรนของผู้หญิง ซึ่งมีความพยายามที่หลากหลาย แตกต่าง ซับซ้อน และเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในแต่ละสถานการณ์และพื้นที่ ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆด้วย อย่างเช่น การต่อสู้ดิ้นรนในเชิงวัฒนธรรมหรือสัญลักษณ์ หรือการต่อสู้ในเชิงการเมืองของกลุ่มคนที่ด้อยอำนาจและอยู่ที่ชายขอบของสังคม

ข้อถกเถียงโต้แย้งเกี่ยวกับการพนันที่ผ่านมาวางอยู่บนแนวคิดที่มองการพนันและการแก้ปัญหาการพนันจากมุมมองเชิงเดี่ยว อย่างเช่น มองจากมิติของเศรษฐกิจ จากมุมมองกฎหมาย หรือจากมุมมองทางศีลธรรม ทำให้เกิดการสรุปแบบที่เรียกว่าเหมารวม หรือใช้กติกาเดียวในการตัดสิน ในขณะที่การพนันมีความเกี่ยวข้องกับสังคมและวัฒนธรรม และมีการทับซ้อนกันในหลายมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งความแตกต่างหลากหลายทางเพศภาวะ ชนชั้น ชาติพันธุ์ วัย ฯลฯ 

หวยใต้ดินเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมของไทย ที่ตอบสนองต่อกลุ่มคนในสังคม ทำให้เกิดกลุ่มอุปถัมภ์ เกิดเครือข่ายความสัมพันธ์และองค์กรกระบวนการหวยใต้ดินอย่างกว้างขวาง การดำรงอยู่ของหวยใต้ดินจึงสะท้อนให้เห็นว่า สังคมขาดความสมดุล ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไม่สามารถทำให้กลุ่มคนจำนวนมากในสังคมมีชีวิตที่ดี แต่กลับเพิ่มปัญหาความยากจน และกีดกันคนจน คนด้อยโอกาส คนขาดประสิทธิภาพในการแข่งขันออกไปจากระบบ ปัญหาความยากจนจึงเป็นผลพวงจากโครงสร้างสังคมและวัฒนธรรมที่ไม่เป็นธรรม และกลายเป็นช่องทางให้ธุรกิจหวยใต้ดินเข้ามาเป็นทางเลือกของคนจนในการแก้ปัญหาความยากจน