• ข่าวสาร
  • กิจกรรม
  • เอกสารแนะนำ

ผลสำรวจชี้บอร์ดสลากฯสอบผ่านแก้ราคาสลากฯแพง แต่ผลโดยรวมสอบตก

03 กุมภาพันธ์ 2559

บ้านเมือง 3 ก.พ. 59 - ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนา"9เดือนRoadMap แก้ปัญหาสลาก สอบได้หรือสอบตก" พร้อมกับเปิดผลสำรวจ "สถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทย ประจำปี 2558"โดย นายธน หาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB)กล่าวว่า ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ ได้ลงพื้นที่ผลสำรวจประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 7,013 ตัวอย่าง ใน 26 จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-15 ต.ค. 58 พบว่า ตัวอย่าง 73.8% หรือเกือบ 40 ล้านคน เคยมีประสบการณ์เล่นการพนันในชีวิตโดยสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นการพนันยอดนิยมคือมีผู้เคยเล่นประมาณ 28.6 ล้านคน ตามติดด้วยหวยใต้ดิน ประมาณ 27.0 ล้านคน เมื่อถามถึงประสบการณ์ด้านการเล่นพนันครั้งแรก พบว่า หวยใต้ดินมาเป็นอันดับ1โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง กลุ่มอายุตั้งแต่35ปีขึ้นไป ทั้งนี้ผู้เริ่มเล่นพนันครั้งแรกอายุน้อยที่สุดในการสำรวจรอบนี้อยู่ที่ 7 ปี เท่ากับผลสำรวจสองครั้งที่ผ่านมา (ปี 2553 และ 2556)

  
"ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 52.4 หรือประมาณ 27.4 ล้านคน ระบุว่าเล่นการพนัน แปลว่าคนที่เคยเล่นพนันแล้วหยุดเล่นมีมากถึงเกือบ 12 ล้านคน สาเหตุหลักที่คนเลิกเล่นพนันคือ แค่อยากลอง/เล่นสนุก/เล่นชั่วครั้งชั่วคราว และเล่นเสียเลยเลิก สำหรับการพนันยอดนิยมของปี 2558 คือสลากกินแบ่งรัฐบาล มีผู้เล่นอยู่ที่ร้อยละ 69.6 หรือประมาณ 19.0 ล้านคน ตามติดด้วยหวยใต้ดิน 60.2% หรือประมาณ 16.4 ล้านคน ทิ้งห่างจากอันดับถัดๆ ไป คือ พนันทายผลฟุตบอล (7.3%) ไฮโล/โปปั่น (3.1%) บิงโก (2.0%) การพนันเกี่ยวกับสัตว์ (1.9%) มวย/มวยตู้ (1.7) เล่นไพ่ในบ่อน (1.6%) และอื่นๆประเด็นที่น่าสนใจคือ มีผู้ประเมินตนเองว่าติดพนันมากถึง 8.9% หรือมากกว่า 2 ล้านคน" นายธน กล่าว
  
นายธน กล่าวถึงผลสำรวจเฉพาะสลากกินแบ่งรัฐบาลว่า "เกินกว่าครึ่งซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมานานกว่า 10 ปี  ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ระบุว่าซื้อทุกงวดถึง36.5%อย่างไรก็ดี ผู้ซื้อประมาณ3 ใน 4 ซื้อสลากด้วยเงินไม่เกิน 200 บาท หรือ 1-2 ใบและ 62.1%ระบุว่าซื้อทั้งสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดิน  เมื่อสอบถามถึงราคาสลากที่ซื้อ พบว่า ก่อนควบคุมราคา ราคาสลากขายที่ใบละ 80-160 บาท หรือเฉลี่ยที่107บาท 97.3%ต้องจ่ายเงินซื้อสลากเกินราคา 80 บาท หลังมีการควบคุมราคา ราคาสลากขายที่ใบละ 77-120 บาท หรือเฉลี่ยที่ 81 บาท  96.7% ซื้อได้ในราคาไม่เกิน 80 บาท"
 
การเสวนาครั้งนี้ ได้มีการสะท้อนมุมมองจากฝ่ายต่างๆ หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรา44ดำเนินการแก้ไขปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลตั้งแต่วันที่1 พฤษภาคม 2558 เป็นต้นมา โดยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้มีการดำเนินการในหลายด้านมาตามลำดับ
  
พ.ท.หนุน ศันสนาคม กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า "คณะกรรมการสลากฯ มีการวางโรดแม็พ 3 ระยะ คือระยะที่ 1 เน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่ให้ขายสลากเกินราคา 80 บาท โดยเพิ่มบทลงโทษ จัดชุดปฏิบัติการและเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการอย่างเข้มข้นระยะที่2เป็นช่วงที่ปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานตามสถานการณ์เพื่อให้ขายสลากได้ตามราคาที่กำหนดโดยมุ่งเน้นที่การลดต้นทุน การกำจัดพ่อค้าคนกลาง และการทำให้ผู้ค้าสลากรายย่อยเข้าถึงสลากได้ง่ายขึ้น มากขึ้น ซึ่งได้ดำเนินการในหลายรูปแบบ เช่น ปรับสัดส่วนรายได้ให้ผู้ค้าสลากมีกำไรมากขึ้น ยกเลิกรางวัลแจ๊คพ็อตที่มีผลต่อการรวมชุดและทำให้สลากแพง ตลอดจนเพิ่มรางวัลเลขหน้า 3 ตัว ทั้งยังดำเนินการในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สลากถึงมือผู้ค้ารายย่อยอย่างแท้จริง โดยไม่ให้มีพ่อค้าคนกลางอยู่ในระบบ การยกเลิกโควตาใหญ่ จัดทำโครงการสั่งซื้อ-จองสลากล่วงหน้าผ่านธนาคารกรุงไทย และเพิ่มสลากเข้าไปในระบบนี้อีก10 ล้านฉบับคู่ในงวด15กุมภาพันธ์นี้ ทำให้มีสัดส่วนสลากในระบบโควตากับระบบการซื้อ-จองล่วงหน้าเป็นครึ่งต่อครึ่งซึ่งสอดคล้องกับความต้องการเข้าถึงสลากของผู้ค้ารายย่อย  ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะพิจารณาถึงผลเสียด้วย โดยจะดูแลไม่ให้มีผลกระทบในเชิงลบต่อผู้บริโภคและประชาชน   
  
สำหรับระยะที่ 3 จะแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อทำงานตามนโยบายให้โปร่งใสและเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่ายอย่างยั่งยืน   โดยจะเริ่มดำเนินการเมื่อระยะที่ 2 ประสบความสำเร็จในทุกด้านแล้ว เช่น สามารถควบคุมราคาได้จริง   ผู้ค้ารายย่อยเข้าถึงสลากได้โดยตรง  คัดสรรผู้ค้าที่เข้ามาซื้อ-จองให้มีแต่ตัวจริงเท่านั้น  ไม่ใช่รับช่วงต่อ 
 
ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการฯ พึงพอใจที่สามารถดำเนินการได้ตามโรดแม็พที่วางไว้ 100%ส่วนผลที่ออกมาอาจไม่ได้ตามที่มุ่งหวังทุกเรื่อง เช่น อาจมีบางส่วนที่ขายเกินราคาอยู่บ้าง หรือยังมีเรื่องพ่อค้าคนกลางที่ทำให้ผู้ค้ารายย่อยเข้าถึงสลากไม่ได้ตามเป้าหมาย  แต่ก็พยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ให้สำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไปโดยทุกครั้งที่จะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆคณะกรรมการฯ จะลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นของผู้ค้าและผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆ ก่อนเสมอ"
  
ด้าน นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้ความเห็นว่า "คณะกรรมการสลาก กินแบ่งรัฐบาลชุดนี้มีความตั้งใจในการทำงานอย่างมาก แต่เน้นงานในเชิงประจักษ์มากกว่าการมุ่งแก้ปัญหาที่หลักการพื้นฐานหากสำนักงานสลากฯ ยังวางเป้าหมายการดำเนินงานเพื่อหารายได้เข้ารัฐ โดยต้องพึ่งพาผู้ค้ารายใหญ่ การแก้ปัญหาต่างๆ ก็จะไม่มีวันจบสิ้น แก้เรื่องนี้สำเร็จก็จะมีปัญหาเรื่องอื่นๆ ตามมา ขยันเพียงใดก็เสียแรงเปล่า ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน การจัดให้สั่งซื้อหรือจองสลากล่วงหน้าก็จะกลายเป็นการกีดกันผู้ค้ารายย่อย สร้างความเหลื่อมล้ำโดยไม่ได้ตั้งใจ"และเสนอว่า"ต้องทบทวนปรัชญาและหลักการพื้นฐานก่อนว่ามีสลากฯ เพื่ออะไร ควรปฏิรูปแนวคิดเบื้องต้นตามที่ได้เคยมีการเสนอไว้แล้ว ปรับเปลี่ยนจากสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นสลากเพื่อสังคม ซึ่งต้องพิจารณาในทุกมิติ ทั้งเรื่องการตกเป็นเหยื่อของการพนัน การพัฒนาสังคม การคุ้มครองอาชีพของผู้ค้ารายย่อย การคืนรายได้สู่สังคม และอื่นๆ  ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะเรื่องสลากแพงเท่านั้น หากจะให้คะแนนด้านความตั้งใจทำงาน ผมให้ 8 จาก 10 แต่ด้านสัมฤทธิผล ผมให้ 4 จาก 10"
  
นายธนากร คมกฤส ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก กล่าวว่า "ความคาดหวังของภาคประชาชนต่อการทำงานของบอร์ดสลากชุดนี้ มีโจทย์อยู่ 3 ข้อ คือ เกิดความโปร่งใส หยุดการขายเกินราคา และนำเงินมาพัฒนาสังคม จากการทำงานที่ผ่านมา 9 เดือน ดูเหมือนว่าจะตอบโจทย์เรื่องราคาได้เพียงข้อเดียว ไม่แน่ใจว่าได้เลือกใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกหรือไม่ เพราะเท่าที่เห็นบอร์ดสลากเลือกใช้วิธีการพิมพ์สลากเพิ่ม ตอนนี้เพิ่มมาจากเดิมเกือบเท่าตัวแล้ว คือจาก 36 ล้านคู่ เพิ่มเป็น 60 ล้านคู่  สำนักงานสลากฯ และรัฐบาลได้เงินมากขึ้น ได้ประโยชน์ไปเต็มๆ ขณะที่ผลลัพธ์ในการแก้ปัญหากลับไม่ชัดเจนการให้จองสลากผ่านธนาคารกรุงไทยดูยังมีปัญหาเยอะมาก ไม่รู้จะต้องพิมพ์สลากเพิ่มอีกเท่าไร และไม่รู้ว่าเมื่อไรจึงจะถึงบทสรุปของวิธีการนี้  ที่สำคัญ ปัญหาเดิมคือ 'คนขายสลากตัวจริงไม่ได้โควตา คนได้โควตาไม่ได้ขายจริง' นั้นจบหรือยัง เพราะได้ข่าวว่าแม้จะปิดตำนานห้าเสือตัวเก่า แต่ขณะนี้ได้เกิดเสือตัวใหม่ๆ อีกเป็นสิบ ที่ตั้งตนเป็นยี่ปั๊วซาปั๊ว  ตราบใดที่ระบบปั๊วยังมีอยู่ ปัญหาสลากแพงก็จะไม่มีวันสิ้นสุด
  
ขณะที่โจทย์เรื่องการนำเงินมาพัฒนาสังคมนั้น แม้จะดูดีในตอนเริ่มต้น คือการประกาศให้มีกองทุนสลากฯ เพื่อการพัฒนาสังคม นำเงิน 3% มาเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการพนัน  แต่ถึงขณะนี้ผ่านไปแล้ว 9 เดือน กองทุนนี้ยังไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ใดๆ ได้ ที่สำคัญคือกองทุนนี้จะเกี่ยวข้องกับเงินจำนวน 1,500 ล้านบาท หากไม่วางระบบการบริหารจัดการกองทุนให้ดีจะมีปัญหาตามมา เรื่องแรกคือเรื่องประสิทธิภาพของกองทุน หากวางระบบการบริหารจัดการเป็นกองทุนแบบรัฐก็จะขาดความคล่องตัวและประชาชนก็จะไม่สามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากกองทุนนี้เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการพนันได้จริงจะกลายเป็นกองทุนที่แช่แข็งเหมือนหลายกองทุนที่ภาครัฐกอดเอาไว้แน่น และอีกเรื่องคือเรื่องความโปร่งใสในการบริหารจัดการ หากไม่วางโครงสร้างในการบริหารกองทุนให้โปร่งใสเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของบุคคลภายนอกกองสลากฯและป้องกันปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนไว้ตั้งแต่แรก สุดท้ายกองทุนนี้ก็จะถูกครหาเหมือนที่ สสส.กำลังโดนอยู่"
  
นายธนากรประเมินในภาพรวมขณะนี้ว่า"บอร์ดสลากยังตอบโจทย์ได้เพียง 25%ยังเหลืออีก75%กับเวลาอีกประมาณปีเศษ โจทย์สำคัญที่ต้องทำคือการวางระบบที่ดี มีประสิทธิภาพ และความโปร่งใสให้ได้ ไม่ใช่เพียงมาแก้ให้ราคาขายเป็น 80 บาทเท่านั้น และที่ต้องพึงสังวรไว้คือหากไม่วางระบบป้องกันผลประโยชน์ต่างๆ ไว้ดีพอ สิ่งที่บอร์ดสลากฯชุดนี้ทำ ทั้งการเพิ่มจำนวนพิมพ์สลาก การจะให้มีสลากชนิดใหม่ๆ รวมทั้งการตั้งกองทุน 1,500 ล้านขึ้นมา อาจเป็นการกรุยทางให้นักการเมืองเข้ามาสวาปามผลประโยชน์อย่างสบาย กลายเป็นมรดกบาปที่สร้างไว้ให้สังคมไทย ถือเป็นการเสียเวลาและเสียของ หวังว่าบอร์ดสลากฯชุดนี้จะไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง"