นวลน้อย ตรีรัตน์ นั่งถกเรื่อง"หวยๆ" กับการพนันในสังคมไทย
โดย สรวิศ รุ่งเลิศมณีพงศ์
มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 26 เมษายน 2558
"พนัน"
คำสั้นๆ ที่สร้างผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง สร้างปัญหาที่หยั่งรากลึก และนับวันยิ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มอัตรามากขึ้น
ข้อมูลล่าสุดที่ได้รวบรวมในปี 2556 ทำให้เห็นถึงสถานการณ์การพนันโดยทั่วไปว่าเรามีคนที่เล่นการพนันมีอยู่มากพอสมควร
"คนที่ตอบว่าเคยเล่นพนัน มีอยู่ประมาน 30 ล้านคน โดยการพนันหลักที่คนในประเทศเล่นคือ หวยใต้ดิน และสลากกินแบ่ง ซึ่งเปอร์เซ็นต์ของผู้เล่นหวยใต้ดินยังสูงกว่าคนที่เล่นสลากกินแบ่งอยู่เล็กน้อย และหากประเมินออกมาเป็นจำนวนคนก็อยู่ที่ราว 20 ล้าน
"นอกจากนี้ ยังมีคนอีก 31 เปอร์เซ็นต์ ที่ไปเล่นพนันตามบ่อน เล่นไพ่ และเล่นพนันฟุตบอล ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงการ "พนันพื้นบ้าน" อาทิ พนันบั้งไฟ วัวชน และตีไก่ ที่ฟื้นขึ้นมามากพอสมควรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา" รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ บอก
สำเร็จปริญญาบัณฑิต จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาดุษฎีบัณฑิต ด้านปรัชญาและเศรษฐศาสตร์ จากออสเตรเลียน เนชั่นแนล ยูนิเวอร์ซิตี้ ประเทศออสเตรเลีย
ปัจจุบันนอกจากเป็นอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2555 เพื่อทำงานทางวิชาการ รวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพนันในสังคมไทย
อาจารย์นวลน้อยยังเป็นผู้หนึ่งที่พยายามพูดเสียงดังๆ ให้รัฐบาลได้ยินว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมี "การปฏิรูปสลากเพื่อสังคม"
"หากย้อนกลับไปดูสลากที่เกิดขึ้นในยุคแรก มันเกิดขึ้นจากความพยายามในการระดมทุนเพื่อไปช่วยเหลือสังคม จนตอนหลังการระดมทุนพวกนี้มันได้ผลดีมาก รัฐบาลจึงเริ่มที่จะออกเป็นประจำเพื่อเป็นการหารายได้"
ก่อนที่อาจารย์นวลน้อยจะเสริมว่า หลายประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่นำรายได้จากสลากมาเป็นรายได้ของรัฐบาล แต่จะรับเฉพาะส่วนที่เป็นภาษีการพนันราว 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เหลือจะนำไปจัดตั้งเป็นกองทุนให้กับสังคม ในขณะที่ประเทศไทยสลากกินแบ่งจ่ายให้รัฐบาลถึง 28 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าประเทศอื่นราว 18 เปอร์เซ็นต์
จึงมีข้อเสนอให้ "ส่วนต่าง" ดังกล่าวมุ่งไปสู่คนจน คนที่เปราะบาง คนที่มีปัญหาให้มากที่สุด
"ความจริงเราตั้งกองทุนตามกฎหมายอยู่มาก แต่กองทุนเหล่านี้ได้เงินบ้างไม่ได้เงินบ้าง กิจกรรมต่างๆ จึงไม่ต่อเนื่อง เราจึงคิดว่านำเงินเหล่านี้แบ่งไป 3 ส่วน คือ นำไปใช้กับกองทุนที่อยู่ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจะมีกองทุนของคนพิการ กองทุนเด็ก กองทุนผู้สูงวัย กองทุนผู้หญิง อีกส่วนก็นำไปภายใต้กองทุนที่อยู่ในกระทรวงศึกษา กระทรวงกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และอีกส่วนนำสู่กองทุนที่ทำเรื่องประชาสังคมทำงานกับชุมชนและท้องที่"
รวมถึงส่วนแบ่งอีกสัก 0.5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อทำกองทุนที่ดูเรื่องผลกระทบจากการพนัน วิธีการแก้ไข และรณรงค์ในเรื่องต่างๆ เพื่อที่จะทำให้คนเล่นการพนันอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น
"สิ่งที่เราอยากเห็นมากที่สุด ไม่ใช่การพนันที่น้อยลง แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพนันน้อยลง" อาจารย์นวลน้อยกล่าว
จากข้างต้น เป็นเพียงการชิมลางเท่านั้น
อาหารจานหลักอยู่ในบรรทัดต่อไป
- หวยเป็นการเล่นกับ "ความหวัง" ของมนุษย์
ใช่ ด้วยรางวัลที่มากคนเราจึงมีความหวัง อยากจะซื้อทุกงวด ซื้อมากขึ้น เพราะคนเรามีความหวัง การจะทำการพนันถ้าหากให้คนเล่นเพื่อความสนุกมันทำได้ แต่ถ้าไปกระตุ้นกิเลสของคนมากเกินไปก็มีการพูดพอสมควรว่าเป็นประเภทที่อันตราย เพราะมันทำให้คนไม่มีเหตุผล
จากการสำรวจพบว่าคนที่ซื้อเพราะอยากสนุก ตื่นเต้น ยังเป็นรองคนที่อยากรวย การพนันหากแค่สนุก ตื่นเต้น ลุ้น ปัญหามันจะไม่ใหญ่ แต่ปัญหาสลากในบ้านเราถือว่าเป็นอันตรายในระดับหนึ่ง แต่รัฐบาล สำนักงานสลากก็ยังไม่รู้ตัว กลับยิ่งรู้สึกดี เมื่อมีคนซื้อมากๆ ซึ่งสำหรับสำนักงานสลาก หากเราพูดในมุมของเขาที่เป็นผู้จัดการ เป็นผู้ผลิต ขายสินค้าได้มากก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี ได้กำไรเยอะก็ยิ่งดี เพราะเขาไม่ได้เป็นตัวแทนที่จะดูแลภาคประชาสังคม
แต่รัฐบาลนั้นต่างกัน รัฐบาลต้องมองมุมนี้จากปัญหาในสังคมด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องมีการคิดและไตร่ตรองว่าทำแบบนี้รัฐบาลได้เงินก็จริง แต่ประชาชนจะมีความเป็นอยู่อย่างไร เกิดผลกระทบอะไรแก่ประชาชนบ้าง สิ่งเหล่านี้จะต้องคิดด้วย
- หวยแพงเพราะ?
เมื่อสิบปีที่แล้วมีการออกสลาก 36 ล้านฉบับต่องวด ตอนนี้มี 74 ล้านฉบับต่องวด จะเห็นได้ว่าสิบกว่าปีมีการเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว แต่ราคาสลากก็ยังไม่ลดลง แถมยังมีคนไปเสริมตรรกะว่า "เนี่ย ราคามันแพงแสดงว่าสลากยังไม่พอ" แต่ไม่ได้มองว่าปัญหาการขายสลากแพง มันเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง กระบวนการจัดการที่ไม่ดี ก่อให้เกิดคนกลางที่เข้ามาจัดการเรื่องสลากได้ มีตลาดการซื้อขายลอตเตอรี่ในระดับผู้ค้าส่ง จนมีพ่อค้าคนกลางที่จะรวบตลาดไว้และกำหนดราคาตลาดได้ เพราะในปัจจุบันมีโควต้าให้รายย่อยน้อยมากเพียง 1-2 เล่ม ในขณะที่พวกที่เป็นบริษัทจะได้เป็น 1,000 เล่ม จากนั้นก็จะไปซื้อจากคนที่ได้ไม่กี่เล่ม รวมไปถึงหาคนมาเป็นนอมินีเป็นบุคคล พวกนี้พอได้โควต้าก็จะมอบฉันทะ ขายโควต้าเลยทันที ดังนั้น ตอนที่เราไปสำรวจผู้ค้าสลากใน 9 จังหวัดใหญ่ ในสี่ภูมิภาค ก็พบว่าผู้ค้าสลาก 90 เปอร์เซ็นต์ ต้องซื้อจากตลาดกลาง ไม่มีโควต้า หรือได้โควต้าไม่เพียงพอต่อการขาย เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าคนขายจริงไม่ได้โควต้า
รวมถึงมีอีกกรณีหนึ่งที่เราเห็นในเว็บไซต์ คือมันเป็นตลาดเลยมีคนที่บอกว่าฉันมีสลากอยู่เท่านั้น ฉันจะขายเล่มละเท่านี้ ใครอยากจะซื้อ การประกาศซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต สิ่งเหล่านี้เป็นสภาพการณ์ที่ทำให้เห็นว่าทำไมราคาสลากถึงแพงขึ้นมา
- ถือว่าเป็นเรื่องที่เลวร้าย?
การขายสลากเกินราคาเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก เพราะคิดดูให้ดีผลิตภัณฑ์นี้เป็นของรัฐ สำนักงานสลากเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่กำลังทำในสิ่งที่ละเมิดกฎหมายอยู่ ถึงแม้ว่าตัวเองจะบอกว่าไม่รู้เรื่อง แต่จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะว่าความรับผิดชอบนั้นต้องมาถึงปลายทาง เพราะฉะนั้นกองสลากจึงเป็นส่วนหนึ่งในนี้ปัญหานี้ แต่สิ่งที่ประชาชนทุกคนเห็นในทุกครึ่งเดือนคือ รัฐกำลังปล่อยให้มีการละเมิดกฎหมายขายเกินราคาเกิดขึ้นในผลิตภัณฑ์ของรัฐเอง
เราลองคิดตัวอย่างง่ายๆ มีสินค้าของเอกชนที่พิมพ์ราคาไว้อย่างหนึ่ง แต่พอเวลาขายกลับเพิ่มราคาเป็น 20-30 เปอร์เซ็นต์ หากฟ้องตำรวจโดนจับแน่นอน เพราะมันมีกฎหมายระบุเอาไว้ เรื่องสลากก็เป็นกรณีเดียวกัน แถมเป็นผลิตภัณฑ์ของรัฐที่ปล่อยเอาไว้โดยไม่มีการจัดการเกือบ 20 ปี ภาพลักษณ์มันแย่มาก เป็นตัวอย่างที่ผิดให้ประชาชนเห็นว่าบางกฎหมายไม่จำเป็นต้องทำตามก็ได้ ถ้าคนรู้สึกเห็นร่วมกันเยอะมากว่าไม่ต้องทำก็ไม่ต้องทำ
เพราะฉะนั้น การที่จะต้องหันมาทำเรื่องพวกนี้ให้ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ บางคนบอกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยซึ่งความจริงไม่ใช่ เพราะว่ามันเป็นภาพลักษณ์ของรัฐบาลที่กำลังปล่อยให้สินค้าของรัฐขายเกินราคา ละเลยให้มีการกระทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น
- แก้ไขอย่างไร
คือ ถ้าพูดแบบตรงไปตรงมา ที่มีการเสนอให้ขายออนไลน์ก็น่าจะแก้ไขปัญหาได้ แต่มันจะส่งผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยที่กระจายไปทั้งประเทศ แล้วส่วนหนึ่งคนที่ค้าก็เป็นคนที่มีรายได้น้อย หรือเป็นผู้พิการ คำถามคือถ้าเราจะขายออนไลน์ เราจะลดผลกระทบที่จะมีต่อพวกเขาได้อย่างไร เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ค่อยๆ ทำ ดูว่าสัดส่วนคนซื้อออนไลน์ซึ่่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ และค่อยๆ ลดจำนวนผู้ค้าสลากลง และมีการสนับสนุนจากทางภาครัฐอย่างเต็มที่ ให้พวกเขาสามารถทำอาชีพอื่นๆ ได้ในอนาคต เพราะถ้าเปลี่ยนเป็นออนไลน์โดยทันที คุณจะเอาพวกเขาไปไว้ที่ไหน เกือบสองหมื่นสามหมื่นคนถ้าออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาลก็ปวดหัวแล้ว เรื่องแบบนี้จำเป็นต้องใช้เวลาในการแก้ไข
ส่วนกรณีคนขายจริงไม่ได้รับโควต้า หากเราทำงานให้ละเอียดยิ่งขึ้น จดทะเบียนให้โควต้าเป็นรายพื้นที่ รายจังหวัด ต้องดูว่าตามปกติความต้องการสลากมีอยู่เท่าไรแล้วจึงจัดสรรไป และให้สลากส่งไปถึงที่นั่นเลย คนที่เป็นเจ้าของก็มารับไปขาย มีบัตรชัดเจน มันจะทำให้คนที่ขายสลากจริงๆ ได้รับโควต้า
- มาตรา 44 กับเรื่องหวย
(หัวเราะ) ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะมาใช้กับเรื่องอะไร จำได้มั้ย? ตอนที่พยายามจะทำหวย 80 บาท ในขณะที่เข้ามาใหม่ๆ และยังเป็น คสช.อยู่ ตอนนั้นมีอำนาจเต็มมือเลย แต่ก็ทำไม่ได้ แล้วทำไมถึงคิดว่าจะทำตอนนี้แล้วจะได้ การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างฉับพลัน หรือใช้อำนาจลงมามันเป็นเรื่องที่ยาก มันต้องใช้เวลาและความตั้งใจที่จะแก้ไขจริงๆ
แต่ถ้ารัฐบาลจะใช้ก็มองว่าน่าจะตั้งใจใช้เพื่อการตั้งกองทุนรับซื้อคืน เพราะรัฐบาลเกรงว่าการใช้อำนาจปกติที่มีอยู่จะทำให้ถูกฟ้องร้องในภายหลังได้ เลยใช้มาตรา 44 ที่เป็นกฎหมายคุ้มครอง
- 75.6 เปอร์เซ็นต์ของผู้เล่นเชื่อว่าหวยล็อกมีจริง?
มันเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ เพราะที่ลือๆ กันว่าเป็นเลขเด็ดสุดท้ายแล้วก็ออกจริงๆ อันนี้เป็นปัญหามาก ซึ่งสำนักงานสลากก็จะออกมาปฏิเสธทุกครั้งว่าไม่จริง ยิ่งรัฐบาลชุดที่แล้วก็ยิ่งเป็นประเด็นเรื่องทะเบียนรถ กลายเป็นว่าผู้สื่อข่าวเวลาเจอทะเบียนรถก็พยายามไปฉายที่ป้ายทะเบียนตลอด (หัวเราะ)
อย่างไรก็ตาม นักสถิติเคยมีการวิเคราะห์ว่า ลักษณะเครื่องออกสลากของที่นี่ "เบ้" คือเวลาที่สุ่ม แทนที่โอกาสที่จะออกทุกตัวต้องเท่ากัน แต่ปรากฏพอดูสถิติย้อนกลับไปก็เห็นว่าตัวเลขบางตัวออกมากกว่าตัวอื่น ซึ่งมันมีได้หลายสาเหตุ อาจจะไม่ได้มาจากการโกง แต่อาจจะมาจากเวลาเครื่องใช้นานๆ มันย่อมมีการสึกหรอ จนทำให้เลขบางเลขออกมาได้มากกว่าบางเลขก็ได้ รวมไปถึงเหตุผลอื่นๆ ที่จะอธิบาย
ต้องบอกว่าการออกสลากมีความเบ้จริงจากที่นักสถิติวิเคราะห์ ส่วนล็อกหรือไม่นั้นไม่รู้ แต่ชาวบ้านเขาเชื่อ
- อีก 68.3 เชื่อว่ามีกลุ่มอิทธิพลเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าสลาก
นั่นไง เพราะมีคำถามว่าทำไมคนกลางถึงเข้ามารวบรวมสลากได้ ทำไมคนกลางถึงรู้ว่าสลากไปอยู่ตรงไหน และใครเป็นเจ้าของโควต้า ทั้งที่เรื่องพวกนี้ต้องถามสำนักงานสลาก เพราะคนที่จะรู้ว่าสลากอยู่ตรงไหน อยู่ที่ใคร มีแต่สำนักงานสลากเท่านั้น ดังนั้น การที่คนกลางสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน สำนักงานสลากจึงไม่สามารถที่จะปฏิเสธ บอกว่าไม่รับรู้ไม่ได้ เพราะว่าราคากลางก็ขายอยู่หน้าสำนักงานสลากนั่นแหละ (ยิ้ม)
รวมถึงจำได้เมื่อตอนที่นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาใหม่ๆ ได้สั่งไปที่สำนักงานสลากให้ยกเลิกไม่ให้มีการจัดสรรโควต้าให้มูลนิธิที่สำนักงานสลากเกี่ยวข้อง เพราะในขณะที่ผู้ค้ารายย่อยไม่มีโควต้าสลาก แต่เขากลับเอาโควต้าบางส่วนที่อ้างว่าไม่รู้จะจัดสรรให้ใครไปจัดสรรให้มูลนิธิ แล้วมูลนิธิไปขายให้ใครก็ไม่รู้ จนนายกฯก็พูดเองว่าไม่ให้จัดสรรให้มูลนิธิ
เท่านี้ก็บอกได้ว่ามันมีอะไรที่น่าสงสัย เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ทำวิจัยที่จะไปชำแหละกองสลาก (หัวเราะ)
- วงการสลาก=แดนมิคสัญญี
แน่นอน คนรู้ว่ามีปัญหาหวยแพง รู้ว่ามันเป็นปัญหา แต่ถามว่ามีคนรู้มั้ยว่าเกิดอะไรขึ้นข้างใน ไม่รู้หรอก ไม่มีใครรู้ เพราะมันเป็นดินแดนที่มีผลประโยชน์มหาศาล เคยมีคนเขียนงานวิจัยไว้ว่าเงินเหล่านี้ไปไหน เพราะในทางเศรษฐศาสตร์เรามองว่ากำไรที่ได้เกินกว่าเหตุอันควร คือค่าเช่าทางเศรษฐกิจจากการผูกขาด อันนี้เหมือนกัน เหมือนที่พยายามตีแผ่ว่าคนกลางได้ประมาณเกือบ 20 บาททุกงวด ได้มากกว่าที่ควรจะเป็น ถามว่า 20 บาทเอาไปทำอะไร เพราะสำหรับผู้ค้าส่งเดิมกฎหมายกำหนดไว้ว่าควรจะได้ประมาณ 2.80 บาท แต่ที่เยอะมากกว่านี้อย่างไร เงินจำนวนนี้ เคยมีคนศึกษาไว้เหมือนกัน มันก็ถูกจัดสรรไปทางการเมืองบ้าง อย่างอื่นบ้าง แต่ทั้งหมดเพื่อทำให้ระบบเหล่านี้มันยังคงอยู่
ถือว่าเป็นแดนมิคสัญญีนะ ลองคำนวณว่าเงินก้อนนี้มันเท่าไหร่ ปีหนึ่งเท่าไร
- ผลกระทบที่เกิดจากการพนันและหวยในสังคมไทย
สิ่งอันตรายของการพนัน คือมันสามารถสร้างปัญหาหนี้สิน เป็นส่วนของการทำให้เกิดการเบี่ยงเบนในการใช้จ่าย โดยเฉพาะคนที่มีรายได้พอดีแค่เลี้ยงชีวิต แต่มีความรู้สึกอยากเปลี่ยนชีวิตอยากแทงหวยเผื่อมีโชค เขาก็ต้องไปจัดสรรเงินเพื่อไปซื้อหวย ขณะเดียวกันเงินที่จะเอาไปทำอย่างอื่นมันก็น้อยลง เงินที่จะใช้ในเรื่องอื่นๆ ก็น้อยลง บางคนจัดสรรเงินไปเล่นจนไม่สามารถนำเงินไปใช้จ่ายและส่งผลกระทบครอบครัว
นอกจากนั้น บางคนจะซื้อหวยด้วยการไปกู้ไปยืมเขามา ถ้าเป็นหวยนอกระบบ หวยใต้ดิน มันเป็นการแทงไปก่อนจ่ายทีหลัง คนเล่นพนัน เบื้องต้นเขาไม่คิดว่าตัวเองจะเสียหรอก ยิ่งไปได้เลขมาก็ยิ่งรู้สึกว่าทุ่มได้ แต่ตอนเสียต้องไปหาเงินมาใช้หนี้ ภาพรวมของผลกระทบจากสลาก เมื่อเทียบกับการพนันประเภทอื่นๆ ในเชิงหนี้สินนั้นอาจจะน้อยกว่า เพราะเดือนหนึ่งเล่นได้ 2 ครั้ง แต่ถามว่ามีก็มี เพราะถ้าเราดูข่าวเมื่อเดือนกว่า ที่มีคนทุ่มสุดตัว ขายทรัพย์สิน ไปแทงหวย แต่ไม่ถูกเลยฆ่าตัวตาย ถามว่าปรากฏการณ์เหล่านี้มีไหม ก็มีมากพอสมควร บางทีเขาอาจจะไม่ได้ฆ่าตัวตายแต่ไปก่ออาชญากรรมอื่นๆ เพราะไม่มีเงินใช้หนี้
- เด็ก เยาวชน และการพนัน
การพนันในเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก แต่บ้านเราไม่ค่อยใส่ใจ ตัวอย่างง่ายๆ เวลาที่พ่อแม่จะเล่น คุณเป็นผู้ใหญ่แล้วอยากจะเล่นก็เล่นไป แต่ดันไปถามเลขกับลูก ให้ลูกมีส่วนร่วม หรือให้ลูกไปแทงหวยใต้ดินให้ จะซื้อสลาก พนันฟุตบอล บางทีก็ให้ลูกเลือกตัวเลข เลือกทีมเนื่องจากพ่อแม่คิดว่ามันไม่อันตราย ไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อพฤติกรรม สะสมความเคยชินของเขา
ถามว่ามันมีผลต่อเด็กทุกคนหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่ เด็กหลายคนพอโตขึ้นเขาอาจจะคิดได้ เพราะได้เข้าไปสู่กระบวนการอื่นๆ ที่ดี ทำให้เขามีการคิดวิเคราะห์ว่าควรทำหรือไม่ทำ รวมถึงมีเด็กบางคนที่รังเกียจการพนันมาก เพราะมีประสบการณ์พ่อแม่เป็นหนี้สิน สูญเสียจากการพนันมาก แต่เด็กอีกส่วนหนึ่ง พ่อแม่อาจยังไม่ได้รับผลแบบเลวร้ายก็อาจชอบเล่นพนันการไปเลย
สิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ชัดเจนว่าจะส่งผลจริงหรือไม่ แต่ประเด็นคือมันมีความเสี่ยงอยู่ และคุณจะปล่อยให้เด็กไปอยู่ท่ามกลางความเสี่ยงหรือไม่
'12สปช.'ชงตั้งคาสิโนพัทยา อ้างเปลี่ยนภาษีบาปเป็นบุญ
15 มิถุนายน 2558ด่วน! มีราชกิจจาฯประกาศใช้คำสั่งตาม ม.44 แก้ปัญหาสลากฯ ทั้งระบบแล้ว
01 พฤษภาคม 2558นวลน้อย ตรีรัตน์ นั่งถกเรื่อง"หวยๆ" กับการพนันในสังคมไทย
26 เมษายน 2558แนวต้านพรึ่บจับตา 'หวยตู้' สะดุด
20 มีนาคม 2558นักวิชาการจี้ทบทวน พ.ร.บ.สลาก ฉบับใหม่ จุดอ่อนเพียบ
19 มีนาคม 2558