การประชุมศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ปี 2566
การขยายตัวของธุรกิจพนันที่ผิดกฎหมาย และการเชื่อมโยงระหว่างการพนันผิดกฎหมายกับปัญหาคอร์รัปชั่นและองค์กรอาชญากรรม เป็นปัญหาที่แทบทุกสังคมต้องเผชิญ หลายประเทศจึงพิจารณาเปิดให้มีการพนันถูกกฎหมายมากขึ้น เพื่อสนองผู้เล่นที่มีอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด ป้องกันไม่ให้เกิดนักพนันหน้าใหม่ เฝ้าระวังไม่ให้นักพนันเดิมเล่นพนันจนเกินขอบเขต โดยตระหนักว่า ธรรมชาติของการพนัน ถ้าคนเล่นพนันครั้งแรกได้ชนะพนันจะทำเกิดความอยากเล่นพนันบ่อยขึ้น และมีโอกาสก้าวเข้าสู่ภาวะเสี่ยงที่จะเป็น ‘นักพนันที่มีปัญหา (Problem Gambling)’ หรือเป็น ‘โรคติดพนัน (Pathological Gambling)’ ซึ่งจะทำให้เกิด ‘ต้นทุนทางสังคม (social cost) จากการพนัน’ เช่นต้นทุนที่เกิดจากการเสียการเรียน เสียงาน เสียสุขภาพ เจ็บป่วย ฆ่าตัวตาย การใช้ความรุนแรงในครอบครัว การหย่าร้าง การก่ออาชญากรรม ฯลฯ ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดจากการเล่นพนันของคน 1 คน อาจส่งผลกระทบต่อครอบครัวและคนใกล้ชิดระหว่าง 10-17 คน ดังนั้น แนวนโยบายแห่งรัฐที่ต้องการให้มีการพนันถูกกฎหมายจึงต้องมีความทันสมัย เท่าทันปัญหาและผลกระทบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดต้นทุนทางสังคมจากการพนันที่สูง สูงกว่ารายได้ที่รัฐจัดเก็บจากธุรกิจพนันและภาษีรางวัลของคนชนะพนัน
ประสบการณ์ของประเทศที่บริหารจัดการการพนันถูกกฎหมายได้ในระดับน่าพอใจล้วนมีระบบราชการและตำรวจที่ปลอดการคอร์รัปชั่น และการออกแบบกฎหมายการพนันทันสมัยล้วนเริ่มต้นด้วยฐานคิดที่ว่า
1) ธุรกิจพนันต้องปราศจากความเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมและการคอร์รัปชั่น
2) ผู้เล่นพนันต้องได้รับทราบข้อมูลและสามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกเอาเปรียบ
3) ต้องมีบทบัญญัติคุ้มครองเด็กและเยาวชน และบุคคลที่ขาดความสามารถในการปกป้องตนเอง
4) ต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลกิจการพนัน (Gambling Commission) ที่มีความน่าเชื่อถือ
5) ต้องมีกลไกป้องกันและลดผลกระทบจากการพนันที่ครอบคลุม พร้อมปฏิบัติงานตลอดเวลา
ในทางตรงกันข้าม ประสบการณ์ของประเทศที่อนุญาตให้มีการพนันถูกกฎหมายโดยมุ่งหวังรายได้จากภาษีจะมองข้ามผลกระทบจากการพนัน ยอมให้ธุรกิจพนันพัฒนาเกมพนันเพื่อตลาดมวลชนและมีการตลาดรูปแบบต่างๆ เพื่อจูงใจให้มีคนอยาก ‘ทดลอง’ เล่นพนัน และใช้เงินพนันมากขึ้นๆ เพราะผลกำไรที่เป็นกอบเป็นกำที่สุดของธุรกิจพนันมาจากเกมพนันที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้มีรายได้น้อย ภาษีการพนันจึงเท่ากับเป็นภาษีคนจน ยิ่งกว่านั้น กรณีที่นักการเมืองเข้าไปพัวพันกับธุรกิจพนัน การคอร์รัปชั่นจะมีมากขึ้น มิใช่ลดลง
รัฐจะไม่สามารถจัดเก็บภาษีจากธุรกิจพนันถูกกฎหมายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และธุรกิจพนันจะกลายเป็นแหล่งหากำไรและสร้างอิทธิพลส่วนตัวของนักการเมืองและนักธุรกิจกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง
ท่ามกลางกระแสเสรีนิยม การพิจารณาเปิดให้มีการพนันถูกกฎหมายมากขึ้นเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง เพราะการพนันเชื่อมโยงกับอีกหลายปัญหา แต่ขณะเดียวกัน การบริหารจัดการการพนันถูกกฎหมายที่มีอยู่แล้วก็เป็นเรื่องท้าทายเช่นกัน เพราะผลกระทบด้านลบจากการพนันที่เกิดขึ้นแล้วยังไม่มีหน่วยงานหรือกลไกรับผิดชอบดูแล เช่น ไม่มีหน่วยงานเฉพาะในการดูแลผู้ป่วยด้วยโรคติดพนัน (Pathological Gambling) ไม่มีระบบให้คำปรึกษาแบบเฉพาะกับนักพนันที่มีปัญหา (Problem Gambling) จำนวนแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดรักษามีอยู่น้อยมากๆ องค์ความรู้ด้านการป้องกันยังจำกัดในวงแคบ คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักถึงการปกป้องเด็กและเยาวชนจากการพนัน และไม่เข้าใจว่าภาวะติดพนันเป็นโรคทางจิตเวชที่รักษาได้ ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ต้องการ ‘การออกแบบ’ และการสนับสนุนให้เกิดกลไกในการทำงานที่พร้อมปฏิบัติงานตลอดเวลา
ด้วยเหตุดังกล่าว ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดให้มีการประชุมศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ปี 2566 หัวข้อ “การพนันในสังคมก้าวหน้า : ก้าวให้ทันความท้าทาย” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่เป็นข้อค้นพบจากงานวิจัย นำเสนอเครื่องมือสร้างการรู้เท่าทันพนัน และเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนร่วมคิด ร่วมเสนอแนะแนวทางจัดทำนโยบาย มาตรการ หรือกลไกที่เหมาะสมในการจัดการกับการพนันในสังคมไทย
2.1 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่เป็นข้อค้นพบจากงานวิจัยของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน
2.2 เพื่อนำเสนอวิธีการเสริมสร้างภูมิรู้สู้พนันของเครือข่ายขับเคลื่อนเรื่องพนัน
2.3 เพื่อสร้างพื้นที่ถกแถลงแนวนโยบายพนันที่มีความทันสมัย เท่าทันปัญหาและผลกระทบ อันจะนำไปสู่การมีนโยบาย มาตรการ หรือกลไกที่เหมาะสมในการจัดการกับการพนันในสังคมไทย
วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม 2566 เวลา 9.00 น. - 16.00 น.
โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร
ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย
5.1 นักวิจัย นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิ
5.2 ภาคีเครือข่ายกลุ่มแผนงานด้านการลดปัญหาจากการพนัน
5.3 บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
5.4 บุคคลทั่วไป
5.5 สื่อมวลชน
6.1 ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน
6.2 มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน
6.3 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ