การประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ปี 2565
“ก้าวย่าง บนทางเสี่ยง : การพนันในโลกที่กำลังเปลี่ยนไป”
^ คลิกที่ภาพเพื่อรับชม
ธนากร คมกฤส
กล่าวแนะนำหัวข้อการอภิปรายเรื่องรับมือการพนัน ในฐานะปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ และเรียนเชิญวิทยากรทั้ง 3 ท่านอภิปรายในประเด็นประสบการณ์การเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพนัน สถานการณ์การพนันในกลุ่มผู้สูงอายุ วิธีการรับมือปัญหาการพนันในต่างประเทศ สรุปได้ดังนี้
น้องเจมส์ (นามสมมุติ)
เริ่มเล่นพนันฟุตบอลตอนอายุ 16 ปี โดยเริ่มจากการเล่นกับโต๊ะบอล คือสามารถเล่นโดยที่ไม่ต้องใช้เงินก่อนแล้วเคลียร์เงินทุกวันอังคาร ช่วงอายุ 19 ปี กลับมาเล่นพนันฟุตบอลออนไลน์เพราะเห็นคนใกล้ตัวเล่นทำให้รู้สึกอยากรู้อยากลอง สิ่งที่ทำให้สนใจเพราะเป็นคนชอบเล่นกีฬาฟุตบอลรวมกับความอยากได้อยากมี ชอบความเสี่ยง ตอนที่เริ่มเล่นก็คิดแค่ว่าจะได้ลุ้นและได้เงินง่าย ๆ จากการเล่นพนัน แต่สุดท้ายก็สู้เทคโนโลยีของบ่อนไม่ได้ เคยเสียมากที่สุดคือ 40,000 – 50,000 บาท การเล่นแต่ละครั้งจะไม่เกินคู่ละ 5,000 บาท แล้วก็เริ่มเปลี่ยนมาเล่นเป็นบอลชุด ช่วงที่เล่นเสียจะมีความรู้สึกว่าอยากจะเล่นต่อเพื่อเอาเงินคืน แต่ถึงจะเล่นเสียเราก็ต้องยอมรับให้ได้แต่ถึงจะไม่ได้ไประบายอารมณ์กับคนรอบข้างแต่การเล่นพนันเสียบ่อยๆก็ทำให้เราใจร้อนขึ้นแล้วก็ยิ่งเล่นหนักขึ้น คนรอบตัว(คุณยาย)ก็สังเกตได้ว่าเรามีอารมณ์ซึม ๆ นิ่ง ๆ เพราะรู้สึกผิดที่ไปเล่นพนันฟุตบอลเลยถามว่าเป็นอะไรทำให้ต้องบอกความจริงกับที่บ้านไป
ส่วนในปัจจุบันเลิกเล่นมาแล้วประมาณ 2 ปี การเลิกเล่นพนันรู้สึกว่ายากเพราะอยู่ในสังคมแวดล้อมของคนที่เล่นพนันทำให้รู้สึกอยากกลับไปเล่นอีกในบางครั้ง แต่สุดท้ายก็หักห้ามใจตัวเองให้ได้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เลิกเล่นพนันฟุตบอลคิดถึงผลเสียที่จะตามมาถ้ายังเล่นต่อไป เพราะการเล่นในตอนนี้คือเล่นเสียมากกว่าได้ทำให้รู้สึกท้อและไม่รู้ว่าจะเล่นต่อไปทำไม ช่วงที่เล่นเสีย 40,000 -50,000 เครียดมากและรู้สึกเสียใจกับตัวเองว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้แต่สุดท้ายก็คิดได้ว่าเป็นเพราะตัวเอง
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์
ขอชื่นชมน้องเจมส์ (นามสมมุติ) ที่สามารถต่อสู้โดยการเปิดประตูบานแรกแล้วสามารถปิดมันได้ลงก่อนที่จะถลำไปสู่ประตูบานที่ 2 และขอชื่นชมคุณธนากรที่ใช้คำถามได้ดีมาก
ธนากร คมกฤส
เคสเจมส์ (นามสมุมติ) เป็นเคสของเด็กและเยาวชนที่เข้าไปข้องเกี่ยวกับการพนัน แต่มีกลุ่มเปราะบางอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้สูงอายุ ขอให้คุณนงนุชเล่าข้อค้นพบที่น่าสนใจจากงานวิจัยภาคสนามของผู้สูงอายุกับการพนันทั้งเรื่องของปัญหาและเรื่องระบบการให้คำปรึกษา
นงนุช แย้มวงศ์
กล่าวถึงประสบการณ์การทำวิจัยเรื่องปัญหาการพนันในแต่ละช่วงวัย สิ่งที่ค้นพบคือผู้สูงอายุที่ติดพนันมีไม่น้อยกว่าเยาวชนและที่สำคัญคือเป็นผู้ที่เริ่มเล่นมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เพราะเขาไม่รู้ว่าการพนันเป็นโรคเสพติดชนิดหนึ่งคิดแค่ว่าเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสุขเท่านั้น เจ้ามือเองก็ชอบเข้าไปหาผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้ผู้สูงอายุเองก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ทำให้การเล่นพนันทำได้ง่าย ซึ่งเมื่อเล่นหวยเสียก็ส่งผลกระทบกับสุขภาพเพราะเกิดความเครียดที่กระตุ้นปัญหาสุขภาพส่วนตัว เช่น โรคความดันทำให้นอนไม่หลับ อาหารไม่ย่อย เป็นต้น นอกจากนั้น ยังส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพจิต เช่น อาการซึมเศร้า และผลกระทบทางสังคม เช่น ไม่มีสมาธิในการทำงาน ถ้าหากมีช่องทางในการให้คำปรึกษาโดยการให้คำปรึกษาและใส่เข้าไปในระบบบริการสุขภาพเบื้องต้น จึงมีการออกแบบกระบวนการให้การปรึกษานำไปทดลองใช้ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแต่เจอปัญหาคือ อสม ในพื้นที่ไม่เข้าใจจึงมีการอธิบายทำความเข้าใจกันก่อนในเบื้องต้น และนำไปสู่ระยะที่ 2 การให้คำปรึกษาแบบสั้นและเสริมแรงจูงใจ ได้ข้อค้นพบที่สำคัญ หลังการให้คำปรึกษาพฤติกรรมการเล่นพนันลดลงทั้งปริมาณการเล่น และจำนวนเงิน แต่ยังไม่ได้เลิกขาดทั้งหมด ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ผู้ให้คำปรึกษาต้องมีทักษะทั้งทักษะการถาม ทักษะการฟัง และทักษะการสะท้อนกลับ นักพนันเองก็ต้องให้ความร่วมมือในการมาเข้ารับคำปรึกษาและทำให้เขารู้สึกว่าเขาอยากเลิกจากตัวเอง ข้อค้นพบที่สำคัญคือ 1) ทำอย่างไรให้นักพนันรู้ตัวและยอมรับว่าเป็นโรคติดการพนัน 2) มีเครื่องมือคัดกรองปัญหาพนันสำหรับประชาชน 3) มีช่องทางการให้ความช่วยเหลือที่เพียงพอและอยู่ในระบบริการ 4)มีแนวทางหรือคู่มืออย่างง่ายสำหรับบุคลากรสุขภาพ ข้อเสนอแนะ มีคู่มือให้คำปรึกษาอย่างสั้นสำหรับบุคลากรทางสุขภาพ ผู้นำชุมชนหรือเครือข่ายสามารถใช้เครื่องมือนี้ได้แต่ที่สำคัญคือต้องมีระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ
ธนากร คมกฤส
อยากให้อาจารย์นงลน้อยช่วยฉายภาพให้เห็นว่าโดยหลักสากลหลายประเทศที่อนุญาตให้มีการพนันถูกกฎหมายประเทศเหล่านั้นมีวิธีการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไร
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์
การวิเคราะห์ว่าต้นเหตุของปัญหานั้นคืออะไรต้องมาจากฐานคิด 3 ประการ คือ 1) ธุรกิจการพนันต้องปราศจากคอรัปปชั่นและอาชญากรรม โดยเฉพาะการฟอกเงินและมีกลไกในการป้องกันและลดผลกระทบ 2) เด็กและเยาวชน และบุคคลที่ขาดความสามารถในการปกป้องตนเองต้องได้รับการคุ้มครองมิให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการพนัน 3) ผู้เล่นพนันต้องได้รับทราบข้อมูลและสามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกเอาเปรียบ ในแง่ของการจะทำให้การพนันถูกกฎหมายจำเป็นต้องมีกลไก 3 ข้อนี้อย่างครบถ้วน จากตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์องค์กรที่เป็นกลไกสำคัญคือ 1) การกำกับดูแลธุรกิจการพนัน คือ ภาครัฐมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบโดยตรงมีความละเอียดและซับซ้อนในการกำกับดูแล รวมถึงมีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีเพื่อไม่ให้เกิดการเลี่ยงภาษีรวมถึงอาชญากรรมทางการเงินต่าง ๆ 2) ควบคุมและลดผลกระทบจากการพนัน เช่น ประเทศสิงคโปร์มีคณะกรรมการที่ดูแลในส่วนของการเล่นพนันที่เป็นปัญหาซึ่งจะมีกลไกคล้ายกับที่คุณนงนุชนำเสนอเมื่อสักครู่ คือมีกลไกขององค์กรภาคเอกชนที่ได้รับทุนไปสร้างโปรแกรมให้การปรึกษาเบื้อต้นโดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการอบรมอย่างถูกต้องตามหลักการให้การปรึกษา รวมถึงอธิบายให้ผู้เล่นมีความรู้เท่าทันเกมพนันว่ามีโอกาสทั้งแพ้และชนะ อีกทั้งกรมสุขภาพจิตต้องสามารถรับมือเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง เช่น การฆ่าตัวตาย ปัญหาสุจภาพจิต ฯลฯ
เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการออกแบบบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการแต่ละองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งการกำกับดูแลธุรกิจการพนันและการควบคุมและลดผลกระทบจากการพนันให้ชัดเจน เช่น มีใบตรวจสอบการกำกับดูแล มีการเพิกถอนใบอนุญาต ตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมายในคาสิโน มีการรับเรื่องร้องเรียนหากผู้เล่นรู้สึกว่าโดนโกง รวมถึงมีการจัดสรรเงินกองทุนให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตามที่ได้ยกตัวอย่างไปในข้างต้น โดยสรุป ข้อเสนอต่อแนวทางรับมือการพนันของประเทศไทย คือ ปรับปรุงกฎหมายการพนัน เพราะเป็นข้อเท็จจริงว่ากฎหมายการพนันของประเทศไทยนั้นเก่ามาก ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 วิธีคิดหลายอย่างออกมาเพื่อตอบสนองต่อบริบทสังคมในขณะนั้น ไม่ใช่สังคมในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก จัดตั้งคณะกรรมการกำกับและควบคุมการพนันซึ่งเป็นหัวใจหลักที่ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ มิเช่นนั้นองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะไม่มีความรู้ความเข้าใจต่อบทบาทหน้าที่ที่ควรจะต้องทำ คณะกรรมการลดผลกระทบจากการพนันจากตัวอย่างความสำเร็จของประเทศสิงคโปร์ที่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากการพนันได้สำเร็จ รวมถึงตั้งกองทุนลดผลกระทบจากการพนัน เพราะในโปรแกรมต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการเรื่องการลดผลกระทบจากการพนันต้องมีการใช้เงิน
ประสบการณ์ที่อยากแบ่งปันคือเคยได้รับการติดต่อจากเคสหนึ่งที่มีปัญหาจากเรื่องพนันและไม่รู้ว่าจะหาทางออกให้ตัวเองและครอบครัวอย่างไร จากปัญหาเรื่องการกู้ยืมเงินออนไลน์ซึ่งเป็นเครือข่ายเดียวกันกับเว็บพนันออนไลน์ โดยถูกข่มขู่บังคับให้จ่ายหนี้ทั้งตัวนักพนันโดยตรง ครอบครัว ญาติพี่น้อง สุดท้ายแรงกดดันหนักมากจนพยายามจะฆ่าตัวตาย แต่เมื่อไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่คิดว่าจะสามารถให้ความช่วยเหลือได้กลับพบว่ากลไกปกติที่มีอยู่ไม่ตอบสนองต่อเคสนี้เลย คือไม่มีความเข้าใจ เช่น ไปปรึกษาทางสุขภาพจิตก็ให้ยาไปรับประทานแล้วกลับบ้าน ไปทางการประนอมหนี้ก็อธิบายว่าต้องไปหน่วยนั้นหน่วยนี้ คือทุกคนอยู่ในสภาวะที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องพวกนี้ทำให้ไม่เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นกับเคสนี้อย่างแท้จริง ซึ่งสุดท้ายคุณหมอมธุรดาก็สามารถให้ความช่วยเหลือเคสนี้ได้ทันเวลา
ธนากร คมกฤส
ขณะนี้คุณหมอมองว่าเรามีความพร้อมในการรับมือกับปัญหาที่เกิดจากการพนันมากน้อยแค่ไหน
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์
ข้อเสนอแนะทั้ง 4 ข้อที่อาจารย์นวลน้อยเสนอเป็นข้อเสนอแนะที่เราพยายามกระทำซ้ำ ๆ มาโดยตลอดโดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขกฎหมายแต่ยังไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ ส่วนในพื้นที่ก็เป็นไปตามที่คุณนงนุชได้นำเสนอ ในแง่ของการทำงาน เรามีแขนสองแขนข้างหนึ่งเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชน อีกข้างคือบำบัดรักษาวัยทำงานและผู้สูงอายุที่ติดพนันแล้ว ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขสามารถเปรียบได้เป็นแขนซ้าย (ด้านบำบัดรักษา) และแขนขวา (ด้านนโยบาย) โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขกำลังผลักดันให้เกิดการจัดตั้งคลินิกจิตเวชและยาเสพติด ซึ่งการพนันจะเข้าไปรวมเป็นประเภทหนึ่งของยาเสพติดด้วยในเชิงโครงสร้าง ในปีนี้ได้เริ่มดำเนินการไป 1 ใน 3 แล้ว คือมีการระบุตำแหน่งพยาบาลให้คำปรึกษาของคลินิกนี้เพื่อให้เกิดแรงจูงใจ รวมถึงตั้งเป้าว่าภายในเดือนตุลาคมปีนี้อยากให้ได้ความคืบหน้า 80%
นอกจากนั้น ยังผลักดันให้เกิดการใช้กลไกของ พรบ.สุขภาพจิตในการปกป้องคุ้มครองเพิ่มเติมจากเดิมที่มีเพียงการบำบัดรักษาอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ในการทำงานก็จะมีการปกป้องคุ้มครองกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ฯลฯ รวมกับฐานข้อมูลของภาคประชาสังคมและศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันที่ได้มีการดำเนินการไปมากพอสมควรแล้ว การทำงานเรื่องการพนันเป็นสิ่งที่ยากมากต้องใช้หลักการการเล่นอย่างมีสติ อุปสรรคปัญหาสำคัญคือช่วงเริ่มต้นชักชวนให้คนในชุมชนยอมรับ เรื่องเหล่านี้มีความซับซ้อนและละเอียดอ่อนมาก อย่างไรก็ดี ทางกระทรวงสาธารณสุขจะพยายามใช้แผน 13 สร้างการบูรณาการโดยเน้นให้สามารถทำความเข้าใจให้ง่าย ๆ เข้าไว้ เช่น มีแบบสอบถามคัดกรองระหว่างนั่งรอรักษา เป็นต้น คิดว่าต้องเริ่มทั้งการบำบัดรักษารวมถึงส่งเสริมป้องกัน และสร้างเครือข่ายในโรงพยาบาลในการสร้างคลินิกจิตเวชและยาเสพติดโดยเฉพาะในประเด็นพนัน
น้องเจมส์ (นามสมมุติ)
อยากฝากให้หาวิธีการป้องกันการเข้าถึงการพนันออนไลน์ให้เข้าถึงได้อยาก รวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการพนันให้แด่เด็กและเยาวชน
ธนากร คมกฤส
สรุปเวทีการอภิปรายว่าการอภิปรายในวันนี้บอกอะไรหลายอย่างถึงความสำคัญของแนวคิดของ สสส ที่ชวนทำคือ สร้าง นำ ซ่อม ต้องลุกขึ้นมามีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อเข้าไปทำงานเสริมความแข็งแรง สร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนเข้าใจปัญหาการพนันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริบทของโลกที่กำลังเปลี่ยนไปเป็นระบบดิจิทัลที่ไม่สามารถจับต้องได้ง่าย ๆ
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์
• ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลศรีธัญญา
นงนุช แย้มวงศ์
• หัวหน้างานการพยาบาล ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพฯ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
• การร่วมงานกับศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน
⪦ ทำวิจัยเรื่อง “ผู้สูงอายุกับปัญหาติดการพนัน: ปัจจัยเสี่ยง คุณภาพชีวิต และผลกระทบทางสังคม (2562)
⪦ ประสิทธิผลของกระบวนการให้คำปรึกษาอย่างสั้นและการเสริมแรงจูงใจผู้มีปัญหาการพนัน (2564)
น้องเจมส์ (นามสมมุติ)
• เยาวชนผู้ได้เคยรับผลกระทบจากการพนัน
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์
• ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน
ธนากร คมกฤส
• เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน
รับมือการพนัน ในฐานะปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ
โดย พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์, นงนุช แย้มวงศ์, นวลน้อย ตรีรัตน์, น้องเอ (นามสมมุติ)