กล่าวเปิดงาน

โดย สุปรีดา อดุลยานนท์

กล่าวเปิดงาน

 

การประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ปี 2565

ก้าวย่าง บนทางเสี่ยง : การพนันในโลกที่กำลังเปลี่ยนไป

 

กล่าวเปิดงาน โดย

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์

  ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

 

{#cover01.jpg}

^ คลิกที่ภาพเพื่อรับชม

 

กว่า 2 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของทุกคนทั่วโลก ผู้คนเปลี่ยนวิถีไปสู่โลกออนไลน์มากขึ้น สำหรับธุรกิจการพนันก็เช่นกัน ในปี 2020  (หรือ ปี 2563) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่คาสิโนทั่วโลกต้องปิดทำการ ผลประกอบการติดลบ ขณะที่การพนันออนไลน์เติบโตแบบก้าวกระโดด มีจำนวนผู้เปิดบัญชีใหม่เพื่อเข้าเล่นพนันในเว็บไซต์จำนวนเพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงของปัญหาการพนันเพิ่มขึ้นตามมา 

เป็นที่ทราบกันดีว่า “บ่อนการพนัน” เป็นพื้นที่เสี่ยงที่ก่อให้เกิดคลัสเตอร์การระบาดโควิด 19 แม้แต่ช่วงล็อคดาวน์ ก็ยังมีผู้ฝ่าฝืนประกาศห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยสาเหตุหลัก 3 ลำดับแรก คือ เล่นการพนัน ดื่มสุรา และเสพยาเสพติด  แสดงให้เห็นชัดว่า การพนันเป็นการเสพติด เมื่อติดพนันก็จะทนไม่ไหว ต้องหาทางเล่นจนได้  และที่มากกว่านั้นคือ การตั้งวงพนันยังพ่วงด้วยกิจกรรมทางสังคม การพูดคุย การสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย ดังนั้น คนติดพนันจึงลักลอบเล่นการพนัน ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าเสี่ยงติดโรค เสี่ยงโดนจับ ที่มีโทษทั้งปรับทั้งจำ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งหันไปเล่นการพนันออนไลน์มากขึ้น

การประชุมครั้งนี้จะช่วยคลี่สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบจากการพนัน  รวมถึงชี้ให้เห็นแนวทางรับมือกับปัญหาการพนันในฐานะปัจจัยเสี่ยงสุขภาพและสังคม  นอกจากองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัย  ผมเชื่อว่าประสบการณ์ของวิทยากรที่ร่วมอภิปรายในแต่ละเวทีจะนำไปสู่การออกแบบนโยบาย มาตรการ หรือกลไก ที่เหมาะสมในการจัดการกับการพนันในสังคมไทย  โดยเฉพาะการปกป้องกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือเด็กและเยาวชน รวมถึงการผลักดันให้รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหา  กำหนดให้การป้องกันและลดผลกระทบจากการพนันเป็นวาระแห่งชาติ  และให้มีกลไกของหน่วยงานภาครัฐเป็นเจ้าภาพหลักในการทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง 

สสส. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  ทำหน้าที่ริเริ่ม ผลักดัน กระตุ้น และสนับสนุน การเชื่อมประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในสังคม เพื่อให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม  สสส.ตระหนักดีว่าปัญหาการพนันมีผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม  เมื่อคนเล่นพนันเสพติดการพนัน ทักษะความสามารถในการจัดการปัญหาทั้งด้านความคิด จิตใจ และอารมณ์จะลดลง  ก่อให้เกิดปัญหาต่อการดำเนินชีวิตและตามมาด้วยผลกระทบ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว การใช้ความรุนแรง การเป็นหนี้ การทุจริต อาชญากรรม ฯลฯ และงานวิจัยยังพบด้วยว่า คนติดการพนัน 1 คน ทำให้เกิดปัญหากระทบต่อคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดระหว่าง 10-17 คน

ด้วยเหตุนี้ สสส. จึงได้ริเริ่มให้มีกลุ่มแผนงานลดปัญหาจากการพนันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553  ทำงานประสานและเชื่อมโยงการทำงานกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม  เพื่อให้สังคมตระหนักและร่วมกันจัดระเบียบการพนัน โดยสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้แบบเท่าทัน  ผลักดันให้เกิดกระบวนการที่จะทำให้เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกัน และมีสภาพแวดล้อมที่เข้าถึงการพนันได้โดยยาก พัฒนาและผลักดันการขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายและมาตรการต่างๆเพื่อให้เกิดกลไกการควบคุม ป้องกัน และลดปัญหาที่เกิดจากการพนัน  รวมถึงนโยบายสาธารณะต้องมีทิศทางไม่เพิ่มพื้นที่การพนัน 

วันนี้กลุ่มแผนงานลดปัญหาจากการพนันได้ขยายปริมณฑลความรู้ และมีภาคีสนับสนุนทั้งหน่วยงานภาครัฐ เครือข่ายพื้นที่ เครือข่ายเด็กและเยาวชน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ โรงเรียนมัธยมศึกษา มหาวิทยาลัย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และอีกมากมายที่ไม่อาจกล่าวได้ครบถ้วนในที่นี้

 

{#poster-ver2-mini.jpg}