การรับรู้เรื่องการพนันของเด็กเยาวชนในวันที่ผู้ใหญ่ในชุมชนกำลังกลายเป็นนักพนันข้ามแดน

โดย อุบล สวัสดิ์ผล

การรับรู้เรื่องการพนันของเด็กเยาวชนในวันที่ผู้ใหญ่ในชุมชนกำลังกลายเป็นนักพนันข้ามแดน

มีใครบอกได้หรือไม่ว่า ปัจจุบันมีเด็กเยาวชนและผู้ใหญ่ในชุมชนชายแดนจำนวนสักเท่าไหร่ที่รับรู้และเคยมีประสบการณ์ข้ามพรมแดนไปเล่นการพนันในคาสิโนประเทศเพื่อนบ้าน

ในยุคข้อมูลข่าวสาร ทุกคนน่าจะรับรู้ถึงการมีอยู่ของคาสิโนในประเทศเพื่อนบ้านที่เปิดล้อมรอบประเทศไทย แต่คงมีคนไม่มากนักที่รับรู้แผนการตลาดหรือกลยุทธ์ที่คอยกระตุ้นให้คนอยากเดินทางไปเล่นการพนันในคาสิโนชายแดน และคงจะหาได้ยากมาก ๆ ที่จะมีคนในชุมชนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งเคยได้รางวัลแจ๊คพอตจากคาสิโนถึง 3 ครั้ง คุณลองเดาดูซิว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น

 

สถานพนันถูกกฎหมายตั้งอยู่ใกล้ชุมชนชายแดน

บ้านไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่เชื่อมต่อประเทศกัมพูชาที่อำเภออัลลองเวง จังหวัดอุดรมีชัย ที่ตั้งของ ช่องสะงำ รีสอร์ท แอนด์ คาสิโน (Sangam Hotel Resort & Casino) เปิดดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2555 จนถึงปัจจุบัน เป็นสถานที่เล่นการพนันถูกกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้านที่เน้นให้บริการคนไทย มีกลยุทธ์การตลาดหลากหลาย มีการจัดโปรโมชั่นยั่วยวนนักพนันตลอดทั้งปี และมีบริการรถรับส่งนักพนันจากหลายจังหวัด

สิ่งที่มีมากกว่าชายแดนภูมิภาคอื่นคือ ประเทศกัมพูชาให้สัมปทานคนไทยเปิด สนามบั้งไฟอาเซียน ช่องสะงำ เป็นพื้นที่จุดบั้งไฟเพื่อพนันนอกฤดูงานบุญประเพณีบั้งไฟในพื้นที่อีสานใต้ (ที่แต่ละจังหวัดอนุญาตให้จุดบั้งไฟได้ 30 วัน แต่จังหวัดร้อยเอ็ดเริ่มล่าช้ากว่าจังหวัดอื่น ทำให้ในพื้นที่อีสานใต้มีสนามบั้งไฟเพื่อพนันตั้งแต่วันขึ้น 1 คํ่าเดือน 6 ถึงแรม 8 คํ่าเดือน 7) สนามบั้งไฟช่องสะงำเปิดให้บริการนักพนันชาวไทยเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน เก็บค่าเข้าสนามในแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกัน ระหว่าง 700-1,200 บาทต่อคน ระยะแรกนักพนันแต่ละคนต้องขับรถมาที่ด่านชายแดนเอง แต่ระยะหลังมีบริการรถตู้รับส่งนักพนันจากอำเภออื่นและจังหวัดใกล้เคียงด้วย

 

{#img51.jpg}

 

กระบวนการกลายเป็นนักพนันข้ามแดน

บ้านไพรพัฒนาก็เหมือนกับชุมชนอื่นที่มีการเล่นพนันในชุมชนหลายประเภทมานานแล้ว การพนันที่คนในชุมชนชื่นชอบเป็นพิเศษ นอกจากหวย โบก ไพ่ ไฮโล ก็คือ ไก่ชน มีนักพนันไม่มากนักที่นิยมเล่นพนันในบ่อน

ในปี พ.ศ. 2547 รัฐบาลไทยสร้างถนนผ่านชุมชนเพื่อเชื่อมไปยังช่องสะงำ และปีต่อมาเริ่มดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่ “เมืองใหม่ช่องสะงำ” ตั้งอยู่ห่างจากจุดผ่านแดนประมาณ 2 กิโลเมตร แต่ศูนย์กลางของถนนสายนี้อยู่ฝั่งกัมพูชา ในช่วงที่คาสิโนช่องสะงำ เปิดให้บริการใหม่ ๆ ชาวบ้านจำนวนมากมีอาการ “เห่อของใหม่” ข้ามพรมแดนไปเล่นการพนันในคาสิโน ในเวลาต่อมาจำนวนชาวบ้านข้ามพรมแดนไปเล่นการพนันลดลงเรื่อย ๆ แต่ส่วนหนึ่งยังไปเล่นการพนันเป็นระยะ ๆ และบางคนเล่นการพนันเป็นประจำ

ที่น่าสนใจ ชุมชนชายแดนอย่างบ้านไพรพัฒนา มักมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเริ่มต้นเข้าสู่วงจรการพนันจากการมีอาชีพ (รับจ้าง) ขึ้นรถตู้ กล่าวคือ คาสิโนมีระบบชักนำหรือส่งเสริมให้คนเดินทางไปใช้บริการโดยจ่ายเงินให้กับรถตู้ที่พาคนไปเล่นการพนันไม่น้อยกว่าจำนวนที่กำหนด กรณีคาสิโนช่องสะงำกำหนดไว้ที่ไม่น้อยกว่า 8 คน บ่อยครั้งที่รถตู้หาคนขึ้นรถได้ไม่ครบ ทำให้ต้องเข้าไปในชุมชนก่อนถึงชายแดนเพื่อจ้างชาวบ้านขึ้นรถ ที่บ้านไพรพัฒนา มีหลายคนรับจ้างขึ้นรถตู้ แต่ละคนได้ค่าจ้างครั้งละ 100 บาท ส่วนใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป บางคนไม่เคยเล่นการพนันในบ่อน แต่พอเข้าไปในคาสิโนก็ต้องเล่นการพนัน ถ้าไม่เล่นครั้งต่อไปคาสิโนจะไม่อนุญาตให้เข้า นานไปชาวบ้านกลุ่มนี้ก็เคยชินกับการข้ามพรมแดนไปเล่นการพนันในคาสิโน แม้คาสิโนจะยกเลิกระบบรถตู้แล้วก็ตาม

แน่นอนว่าชาวบ้านบางคนเสียพนันจำนวนมาก บางคนต้องขายที่ บางคนถึงกับหมดตัวบางคนหนีไปบวช บางคนมีสามีใหม่ และมีรายหนึ่งฆ่าตัวตาย ทุกครั้งที่ทราบข่าวด้านลบชาวบ้านจะข้ามพรมแดนไปเล่นการพนันในคาสิโนน้อยลง ในทางกลับกัน เมื่อมีโปรโมชั่นน่าสนใจหรือมีข่าวคนในชุมชนได้รางวัลแจ๊คพอตจากคาสิโน ชาวบ้านจะข้ามพรมแดนไปเล่นพนันในคาสิโนเพิ่มมากขึ้นทันที

ส่วนการเกิดขึ้นของสนามบั้งไฟอาเซียน ช่องสะงำ มีสถานการณ์ต่างออกไป เนื่องจากบ้านไพรพัฒนาเป็นชุมชนเชื้อสายกัมพูชา ไม่มีวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับการจุดบั้งไฟ คนในชุมชนจึงไม่สนใจการเล่นพนันบั้งไฟ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีชาวบ้านจากบ้านไพรพัฒนาเดินทางข้ามแดนไปเล่นพนันที่สนามบั้งไฟอาเซียน ช่องสะงำ

 

การรับรู้เรื่องการพนันของเด็กเยาวชนบ้านไพรพัฒนา

เมื่อผู้ใหญ่ในชุมชนถือว่าการเล่นพนันเป็นเรื่องปกติ เล่นพนันกันอย่างเปิดเผย เด็กเยาวชนบ้านไพรพัฒนาจึงซึมซับว่าการเล่นพนันเป็นเรื่องปกติ และส่วนใหญ่เคยทดลองเล่นพนันกับเพื่อน บางคนเคยตามคนในครอบครัวหรือเพื่อนไปเล่นพนันในบ่อน(ในชุมชน) โดยเก็บเงินส่วนหนึ่งที่ผู้ปกครองให้ไปโรงเรียนไว้เล่นการพนัน

เด็กเยาวชนส่วนใหญ่เล่นการพนันเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามโอกาส มีเพียงไม่กี่คนที่เริ่มพัฒนาไปสู่การเล่นพนันแบบจริงจัง ตระเวนไปเล่นการพนันกับคนหมู่บ้านอื่นหรือในงานบุญประเพณีที่มีการเล่นพนัน และบางครั้งก็ชักชวนเพื่อน ๆ ให้เล่นการพนันด้วยกัน หรือพาไปเล่นการพนันในที่ต่าง ๆ ด้วย แต่ก็ยังไม่มีเด็กเยาวชนบ้านไพรพัฒนาคิดจะข้ามพรมแดนไปเล่นการพนันที่คาสิโนช่องสะงำ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนในชุมชนมองว่าคาสิโนเป็นสถานที่เล่นการพนันของผู้ใหญ่ เด็กเยาวชนจึงไม่ไปเล่นการพนันที่นั่น

ข้อมูลการวิจัยเรื่อง การพนันในมุมมองของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นชายแดนไทย-กัมพูชา ในปี พ.ศ. 2561 พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นของโรงเรียนในชุมชน มากกว่าครึ่งสามารถระบุประเภทและวิธีการเล่นพนันต่างๆ สถานที่เล่นพนันรวมถึงอธิบายกระบวนการข้ามพรมแดน “แบบพิเศษ” ไม่ต้องผ่านกระบวนการผ่านแดนเพื่อไปเล่นการพนันในคาสิโนหรือสนามบั้งไฟอาเซียนที่ช่องสะงำได้อย่างละเอียด สรุปได้ดังนี้

ส่วนที่ 1 การพนันในพื้นที่บ้านไพรพัฒนา ประกอบด้วย

• การพนันในชุมชนบ้านไพรพัฒนา ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน หวยอื่น ๆ โบก ไพ่ ไฮโล ไก่ชน

• การพนันที่เมืองใหม่ช่องสะงำ ได้แก่ โบก ไพ่ ไฮโล พนันมวย

ส่วนที่ 2 การพนันในพื้นที่อื่น ถือว่าอยู่นอกชุมชนบ้านไพรพัฒนา ประกอบด้วย

• การพนันในชุมชนอื่น ได้แก่ พนันบั้งไฟ พนันมวย

• การพนันฝั่งกัมพูชา ได้แก่ พนันในคาสิโน (ใช้สัญลักษณ์เป็นไพ่) และพนันบั้งไฟ ซึ่งบางวันที่สนามบั้งไฟมีพนันไพ่และไฮโลด้วย

เมื่อให้เด็กเยาวชนเล่าถึงประสบการณ์ด้านการพนันในมิติอื่น ๆ พบว่า การเล่นได้หรือเสียของผู้ใหญ่ที่บ้านส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของเด็กเยาวชนชัดเจน เช่น ชอบเวลามีผู้ใหญ่ในบ้าน (พ่อ แม่ หรือญาติ) เล่นได้ เพราะอารมณ์ดี ขอเงินง่าย แต่ไม่ชอบหรือบางครั้งถึงกับรู้สึกแย่เวลาพ่อแม่เสียพนัน เพราะพูดอะไรก็โดนดุ โดนว่า บางทีพ่อแม่ก็ทะเลาะกัน ฯลฯ

ในระดับชุมชน เด็กเยาวชนรับรู้ว่ามีผู้ใหญ่คนหนึ่งในหมู่บ้านใกล้เคียงเคยได้รางวัลแจ๊คพอตจากคาสิโน 2 ครั้ง อีกคนหนึ่งเคยได้รางวัลแจ๊คพอต 1 ครั้ง แต่ทั้งสองบ้านก็ไม่เห็นรวยขึ้นเลย ในด้านผลกระทบจากการเสียพนัน เด็กเยาวชนรับรู้ไม่มากนัก (เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ในชุมชน) ยกเว้นกรณีที่มีคนฆ่าตัวตายในหมู่บ้านใกล้เคียง เพราะเป็นเรื่องที่ทุกคนในชุมชนรับรู้

 

{#img52.jpg}

 

สรุป

ในชุมชนชายแดนมักมีกระบวนการข้ามพรมแดน “แบบพิเศษ” และผู้คนตามแนวชายแดนมักมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเชื่อมโยงกัน การเกิดขึ้นของคาสิโนชายแดนจึงเป็นเสมือนสถานบันเทิงที่เน้นการเล่นพนันแห่งใหม่ใกล้บ้านที่คนในชุมชนเข้าถึงได้ง่าย ตอนเปิดกิจการใหม่ๆ ชาวบ้าน “เห่อของใหม่” ไปเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก เมื่อเวลาผ่านไปจำนวนคนข้ามพรมแดนไปเล่นการพนันลดลง คงเหลือเพียงคนที่ชอบเล่นการพนันที่เดินทางไปเล่นการพนันที่นั่น แต่โดยรวมพบว่าคนเล่นการพนันมีจำนวนมากขึ้นและใช้จำนวนเงินในการเล่นพนันมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ก่อนมีคาสิโนช่องสะงำ โดยนักพนันกลุ่มหนึ่งเริ่มต้นเล่นพนันจากการมีอาชีพ (รับจ้าง) ขึ้นรถตู้

อย่างไรก็ตาม คนในชุมชนมองว่าการเล่นพนันเป็นเรื่องส่วนบุคคล เรื่องส่วนตัว แม้หลายคนจะประสบปัญหาจากการพนัน จนกระทั่งเกิดกรณีที่สมาชิกคนหนึ่งในชุมชนใกล้เคียงเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายเพราะมีปัญหาเรื่องหนี้พนันจากการเล่นพนันที่คาสิโน อีกทั้งข้อมูลจากงานวิจัยของผู้เขียนพบว่าเด็กเยาวชนในชุมชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการพนันและอบายมุขเพิ่มขึ้น ผู้นำชุมชนส่วนหนึ่งจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการสร้างการเรียนรู้เท่าทันการพนันให้กับเด็กเยาวชนในชุมชน เพื่อเป็นวัคซีนให้สามารถควบคุมตนเองไม่ให้เข้าสู่วงจรการพนัน และหาวิธีการป้องกันปัญหาจากการพนันของคนในชุมชนที่ยังคงเล่นการพนันอยู่ในปัจจุบัน ถ้ามีโอกาสผู้เขียนจะนำความคืบหน้ามาเล่าสู่กันฟังนะครับ