ตอนที่ 20 การพนันออนไลน์บนทางแพร่ง [จบ]

โดย ณัฐกร วิทิตานนท์

ตอนที่ 20 การพนันออนไลน์บนทางแพร่ง [จบ]

เว็บคอลัมน์ ถอดรหัสคาสิโนออนไลน์

ตอนที่ 20 การพนันออนไลน์บนทางแพร่ง [จบ]

โดย ณัฐกร วิทิตานนท์ [1] 

 

การพนันออนไลน์แตกต่างจากการพนันในรูปแบบเดิมอย่างมาก ทั้งเป้าหมายกว้างไกล ข้ามรัฐ และครอบคลุมตลาดทั่วโลก เกี่ยวพันกับนวัตกรรม เทคโนโลยี อุตสาหกรรมบันเทิง/กีฬา บรรษัทข้ามชาติ องค์การระหว่างประเทศ กระทั่งเรื่องกฎหมายและการเมือง เกินขีดความสามารถของรัฐที่จะควบคุม หรือปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของตนเอาไว้ได้ดังเดิม กฎหมายก็ยากที่จะบังคับใช้อย่างได้ผลจริงในโลกดิจิทัล พูดตรง ๆ คืออำนาจอธิปไตยของรัฐกำลังถูกท้าทาย

ระบบกฎหมายเกี่ยวกับการพนันออนไลน์จึงค่อนข้างซับซ้อนหลากหลาย แตกต่างกันไปตามท่าทีของแต่ละประเทศ เอาแค่ชื่อเรียกก็มีหลายคำแล้ว ไม่ว่า Internet Gambling (อเมริกา), Virtual Casino Wagering (แอนติกา), Interactive Gambling (ออสเตรเลีย), Interactive Gaming (แคนาดา), Remote Gambling (อังกฤษ), Online Games (ฝรั่งเศส), Online Gambling (เดนมาร์ก), Offshore Gambling (ฟิลิปปินส์) ทว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่ได้มีกฎหมายว่าด้วยการพนันทางอินเตอร์เน็ต ในกลุ่มประเทศที่มีกฎหมายว่าด้วยเรื่องนี้แบ่งได้เป็นทั้งที่ห้ามเด็ดขาด (Prohibition) โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศมุสลิม เช่น ซาอุดิอาราเบีย ปากีสถาน และอนุญาตให้มี (Regulated หรือ Legalization) บางประเทศอนุญาตให้มีทุกชนิด เช่น ออลเดอร์นีย์ อิตาลี สเปน สวีเดน ประเภทที่มักถูกห้ามไม่พ้นคาสิโน บางประเทศก็ยอมรับเพียงบางชนิด โดยเฉพาะลอตเตอรี่กับพนันกีฬา เช่น รัสเซีย ฮ่องกง แอฟริกาใต้ บางประเทศก็ไม่ยอมให้คนของตัวเองเข้าเล่น แต่มีเอาไว้บริการคนที่อยู่อาศัยนอกประเทศ (Outgoing Services) เช่น ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ บางประเทศก็มีขึ้นเพื่อสนองตลาดภายในเท่านั้น (Domestic Services) คนต่างชาติหมดสิทธิ เช่น ฟินแลนด์ บางประเทศก็เปิดกว้างมาก สามารถเล่นได้จากทั้งโลกรวมทั้งคนของประเทศตัวเอง เช่น อังกฤษ แอนติกา บางประเทศก็เรียกว่าแทบจะปล่อยให้เสรี ปราศจากการควบคุม เช่น คอสตาริกา (Unregulated หรือ Laissez-faire) ดังแผนผังรูปนี้

 

{#Model1.jpg}

 

โครงสร้างระบบกฎหมายว่าด้วยการพนันออนไลน์ของประเทศต่าง ๆ

 

เรื่องระบบใบอนุญาต (License) ในรายละเอียดก็ไม่เหมือนกัน บางประเทศเป็นแบบเปิดกว้าง โดยให้มีผู้รับใบอนุญาตหลายรายแข่งขันกัน (Open Licensing) เช่น อังกฤษ บางประเทศก็เป็นแบบจำกัด เช่นในบางรัฐของสหรัฐอเมริกาออกใบอนุญาตให้แต่กับคาสิโนดั้งเดิมเท่านั้น หรือจำกัดจำนวนผู้ประกอบการให้มีน้อยราย (Restricted Licensing) เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส หรือออกใบอนุญาตให้เอกชนรายเดียว (Single Private Operator) หรือใบอนุญาตนั้นผูกขาด (Monopoly) โดยหน่วยงานของรัฐเอง (State-owned) เช่น จีน สิงคโปร์

หลายประเทศมีลักษณะผสมผสานคือ การพนันบางชนิดยอมให้มีผู้ให้บริการหลายราย ส่วนบางชนิดกลับถูกผูกขาดโดยรัฐแต่เพียงผู้เดียว เช่นหลายประเทศแถบสแกนดิเนเวีย (ก่อนที่มีเรื่องมีราวขึ้นในอียู) เหตุผลของรัฐบาลที่ทำให้การพนันออนไลน์ถูกกฎหมายที่ให้กับสังคมก็คือ เพื่อรัฐจะได้เข้าไปจัดการและควบคุมให้มีมาตรฐาน และเพื่อปกป้องคุ้มครองผู้เล่น โดยก่อตั้งองค์กรของรัฐขึ้นมาทำหน้าที่ควบคุม (Agency Authority) ทั้งที่อันที่จริงแล้วเกี่ยวพันกับประเด็นเรื่องแหล่งภาษีและรายได้เข้ารัฐ (Taxation and Revenue Collection) และเพื่ออุดช่องว่างมิให้เงินตรารั่วไหลออกนอกประเทศอย่างมิต้องสงสัย

แน่นอน ทุกประเทศล้วนวางบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายเอาไว้ทั้งสิ้น ซึ่งความเข้มข้นทางเนื้อหายไม่เหมือนกัน ยังมิพักเอ่ยถึงความเอาจริงเอาจังในการบังคับใช้ที่ก็ย่อมแตกต่างกันออกไป บางประเทศวางโทษรุนแรงและครบวงจร ไล่เรียงตั้งแต่ผู้ประกอบการ ผู้เล่น ผู้มีส่วนสนับสนุนทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม รวมถึงผู้โฆษณา แต่ในหลายประเทศกลับไม่คิดที่จะเอาผิดคนเล่นเลยแม้แต่น้อย

ไอ. เนลสัน โรส (I. Nelson Rose) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการพนันที่มีชื่อเสียงระดับโลก เขาเคยสอนประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิตเทียร์ (อเมริกา) ด้วยมีจุดยืนสนับสนุนให้การพนันออนไลน์ถูกกฎหมายจึงมักได้รับการติดต่อจากภาครัฐและสถานประกอบการคาสิโนเพื่อขอคำปรึกษาอยู่เสมอ ได้เคยอธิบายเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ Internet Gaming Law (2005)

 

{#Rose1.jpg}

โรสกับหนังสือเล่มสำคัญของเขา [2]

 

ในหนังสือเล่มนี้ เขาสรุปถึงภาคปฏิบัติการของการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่

          (1) การดำเนินคดีกับคนเล่น (Laws Against Making On-line Bets) เช่น จีน

          (2) การดำเนินคดีกับผู้ประกอบการ (Laws Against Taking On-line Bets) เช่น ฝรั่งเศส

          (3) การดำเนินคดีกับผู้ให้บริการทางการเงิน (Laws Against Financing On-line Gambling) เช่น อเมริกา

โดยพยายามชี้ให้เห็นว่าโอกาสที่กฎหมายภายในกับภายนอกจะขัดแย้งกันนั้นเกิดขึ้นได้เสมอ

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทางกฎหมายโดยรวมเป็นไปอย่างผ่อนคลายลงเรื่อย ๆ การเติบโตของตลาดอินเตอร์เน็ตในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมามีผลให้ประเทศต่าง ๆ ร่วม 100 ประเทศแล้วที่ทำให้การพนันออนไลน์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งถูกต้องตามกฎหมายของรัฐตน พบน้อยประเทศที่เลือกเดินสวนทาง เช่นรัสเซียจากที่เคยเปิดกว้างกลับกลายเป็นปิดกั้น

หลายกรณีที่ปรากฏสะท้อนว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นระหว่างประเทศ เช่น ออสเตรเลียประกาศใช้กฎหมาย IGA ปี 2001 ด้วยหวังให้นักลงทุนจากอเมริกาเข้ามาลงทุนทำคาสิโนออนไลน์ในประเทศเพื่อดึงรายได้จากกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวอเมริกันเป็นหลัก โดยไม่ให้คนออสเตรเลียเองเข้าเล่น กระทั่งอเมริกาต้องผลักดันจนออก UIGEA มาใช้สกัดกั้นสำเร็จเมื่อปี 2006 ลึก ๆ ก็เพื่อดัดหลังคนของตนที่นำเงินไปลงทุนทำธุรกิจพนันออนไลน์ในต่างประเทศ, การเกิดขึ้นของคดีความจำนวนมากที่ได้เดินทางไปถึงศาลสหภาพยุโรป คำตัดสินที่ทยอยมีออกมาล้วนเป็นไปในทางที่สนับสนุนการพนันออนไลน์ ส่งผลให้หลายรัฐสมาชิกต้องปรับเปลี่ยนในทางนโยบายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อาทิ อิตาลี และประเทศแถบสแกนดิเนเวีย, รัฐบาลจีนเรียกร้องให้ทางการกัมพูชากับฟิลิปปินส์สั่งแบนคาสิโนออนไลน์ที่ตั้งอยู่ในประเทศทั้งสอง ซึ่งกัมพูชาสนองตอบด้วยดี โดยสั่งให้เว็บพนันออนไลน์ยุติการให้บริการภายในสิ้นปี ขณะที่ฟิลิปปินส์ปฏิเสธที่จะทำตาม

 

ท้ายที่สุดนี้ จากเนื้อหาทั้ง 19 ตอนที่ผ่านมา หากพิจารณาในแง่ระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology) แล้ว อาจสรุปออกมาเป็นด้าน ๆ และแบ่งเป็นกลุ่มตอนได้คือ

(1) ด้านอุปทาน (Supply) เน้นศึกษาผู้ให้บริการคาสิโนออนไลน์ (ตอน 1-7) ใช้วิธีเข้าสังเกตการณ์ในเว็บไซต์ รวมถึงช่องทางอื่นในการเข้าถึงเกม เช่น แอพพลิเคชั่น เน้นประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคม บางงานที่น่าสนใจศึกษาเรื่องการออกแบบ, การใช้เสียง อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ

(2) ด้านอุปสงค์ (Demand) ศึกษาเกี่ยวกับผู้เล่น (ตอน 8-9) เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ โดยมากใช้วิธีสำรวจกลุ่มตัวอย่างผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เช่น แบบสอบถามออนไลน์, อีเมล์ มักใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ ส่งผลให้บางงานมีกลุ่มตัวอย่างจากร่วมร้อยประเทศทั่วโลกรวมแล้วเป็นหลักหมื่นคน วัตถุประสงค์เพื่อทราบลักษณะประชากร (Demographic) และพฤติกรรมการพนันเป็นหลัก หากมีงานที่เจาะจงศึกษากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ กลุ่มนั้นไม่พ้นนักเรียน-นักศึกษา บางส่วนใช้วิธีสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่มีระบบ IT ที่ดีรองรับสามารถนำเอาสถิติทั้งหมดมาวิเคราะห์และออกรายงานประจำปีสู่สาธารณะ

(3) ด้านผลกระทบ (Impact) มุ่งศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบ (ตอน 10-11) มุ่งศึกษาผลกระทบในระดับบุคคล มักเจาะจงกลุ่มผู้ที่มีปัญหาติดการพนันโดยเฉพาะ วัดด้วยแบบประเมิน เช่น South Oaks Gambling Screen (1987), DSM-5 (2013) งานวิจัยจำนวนหนึ่งเป็นงานวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) ใช้กลุ่มประชากรขนาดเล็ก เพื่อดูพัฒนาการก่อน-หลังการใช้เครื่องมือต่าง ๆ บางงานศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งเพียงแค่ไม่กี่คน เป้าหมายคือลดความเสี่ยงต่อการติดพนัน บางชิ้นที่ดูผลกระทบในระดับสังคมเลือกใช้วิธีศึกษาจากข่าวอาชญากรรมบนเว็บไซต์ที่เกิดขึ้นกับแหล่งพนันออนไลน์ หรือไม่ก็ใช้วิธีสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างว่าเคยกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

(4) ด้านมาตรการและนโยบาย (Regulation) ศึกษาถึงนโยบายและมาตรการทางกฎหมายของประเทศต่าง ๆ (ตอน 12-19) ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ อาศัยข้อมูลเอกสารเป็นหลัก ลักษณะงาน เช่น อธิบายกฎหมาย วิจารณ์การใช้การตีความ วิเคราะห์คำพิพากษา ทำนายแนวโน้มในอนาคต เป็นต้น

พูดตามจริง ข้อมูลส่วนใหญ่ที่นำมาใช้เขียนบทความชุดนี้ล้วนแล้วแต่อ้างอิงจากงานศึกษาของประเทศอื่นเป็นหลัก สำหรับประเทศไทยนั้นยังต้องนับว่าขาดแคลนงานศึกษาในเรื่องนี้อีกมาก การเติมเต็มช่องว่างทางความรู้เกี่ยวกับการพนันออนไลน์ในสังคมไทยจึงถือเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าเราจะยอมรับหรือไม่ยอมรับให้มันถูกกฎหมายก็ตาม.

 

รายการอ้างอิง

[1] อาจารย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

[2] ที่มาของภาพ: https://calvinayre.com/2011/04/18/business/i-nelson-rose-poker-indictments-revisiting-prohibition/

 

ที่มาของข้อมูล

  • I. Nelson Rose and Martin D. Owens, Internet Gaming Law, (Larchmont: Mary Ann Liebert, 2005).
  • Julia Hornle and Brigitte Zammit, Cross-border Online Gambling Law and Policy, (Cheltenham: Edward Elgar Publishing, 2010).