ตอนที่ 19 การพนันออนไลน์ในประเทศไทย: เมื่อกฎหมายไม่มีความหมาย

โดย ณัฐกร วิทิตานนท์

ตอนที่ 19 การพนันออนไลน์ในประเทศไทย: เมื่อกฎหมายไม่มีความหมาย

เว็บคอลัมน์ ถอดรหัสคาสิโนออนไลน์

ตอนที่ 19 การพนันออนไลน์ในประเทศไทย: เมื่อกฎหมายไม่มีความหมาย

โดย ณัฐกร วิทิตานนท์ [1] 

 

การพนันในประเทศไทยมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน การพนันแบบไทยแท้มักอิงการใช้สัตว์สู้กัน เช่น ชนไก่, ปลากัด จวบจน พ.ศ. 2473 รัชกาลที่ 7 จึงได้ตราพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2473 ขึ้นมา นับเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการพนันฉบับแรกของไทย โดยรวบรวมกฎหมายเกี่ยวกับการพนันเรื่องต่าง ๆ มาไว้ในที่เดียวกัน ก่อนที่ต่อมาจะมี พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 ในทางเนื้อหาคือการเพิ่มเติมประเภทของการพนันเข้าไปเพื่อให้ครอบคลุมการพนันชนิดต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะยังคงใช้บังคับจนถึงทุกวันนี้ นั่นคือนานกว่า 85 ปีมาแล้ว ขณะเดียวกันก็มี พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 ซึ่งให้อำนาจสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีอำนาจออกสลากกินแบ่งรัฐบาลและดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแต่ผู้เดียว

โดยรวมแล้ว กฎหมายการพนันของไทยยังมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้หลายประการ เช่นยังมีความไม่ชัดเจนของตัวบท โดยเฉพาะกับนิยามของคําว่าการพนัน, การโฆษณา เนื้อหาล้าสมัย ไม่รวมถึงรูปแบบการพนันที่เกิดขึ้นใหม่ และอัตราโทษไม่เหมาะสม เพราะน้อยเกินไป

และที่สำคัญ ประเทศไทยไม่ได้มีกฎหมายควบคุมการพนันบนพื้นที่ทางอินเทอร์เน็ตโดยตรง หากแต่เป็นการนำ พ.ร.บ.การพนัน 2478 มาปรับใช้ให้เข้ากับการพนันออนไลน์ เนื่องจากถือเป็นการพนันประเภทอื่นนอกเหนือจากที่ถูกระบุไว้ในบัญชี ก. (ห้ามมิให้ออกใบอนุญาตเด็ดขาด) เช่น ไพ่สามใบ ไฮโลว์ บาการา สล็อทแมชีน และบัญชี ข. (สามารถออกใบอนุญาตให้ได้) เช่น ชนโค แข่งม้า บิงโก บิลเลียด อีกทั้งมิได้ระบุชื่อและเงื่อนไขไว้ในกฎกระทรวงจึงไม่สามารถอนุญาตให้จัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์ได้เลย

กฎหมายฉบับนี้มีบทลงโทษกับทั้งผู้จัดให้มี ผู้เล่น (แม้จะเป็นการเล่นผ่านเว็บไซต์ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องในต่างประเทศก็ตาม) และผู้โฆษณา ทว่าเว็บไซต์การพนันส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ การจะนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีในไทยจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก กลายเป็นข้อจำกัดสำคัญในการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนการพนันออนไลน์มีลักษณะที่ค่อนข้างแตกต่างจากการพนันทั่ว ๆ ไป นั่นคือผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้มักอยู่ในรูปนิติบุคคล โทษจำคุกย่อมไม่สำคัญเท่ากับโทษปรับในอัตราสูง โดยที่ผ่านมายังไม่เคยมีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีเกี่ยวกับการพนันออนไลน์มาก่อน ทั้งที่ในปีหนึ่ง ๆ ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้เฉลี่ยปีละ 9 พันกว่าคน (ดูตัวเน้นในตาราง) อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังมักเกิดขึ้นเป็นเพียงบางช่วงคือ ช่วงฟุตบอลโลกหรือฟุตบอลยูโรเท่านั้น ดูได้จากสถิติของปี 2561 ที่คดีพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัวเป็นประวัติการณ์ก็คือปีที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียนั่นเอง

 

ตารางสถิติการจับกุมกลุ่มคดีการพนันทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2560-2562 [2]

{#tablemini.jpg}

 

วิษณุ วงศ์สินศิริกุลได้สรุปถึงสถานการณ์การพนันออนไลน์ของประเทศไทยเอาไว้ว่า ในระยะแรกไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มนักเล่นพนันชาวไทย จำกัดอยู่ในวงแคบเพียงคนไม่กี่กลุ่ม เนื่องด้วยสาเหตุหลักคือ (1) ความไม่คุ้นเคยกับการใช้จ่ายผ่านอินเทอร์เน็ต เกรงว่าจะถูกหลอกลวง (2) ปัญหาเรื่องภาษา ซึ่งเว็บไซต์ส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษทำให้เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อผู้เล่นพนันโดยทั่วไป (3) มีเกมการพนันออฟไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้เลือกเล่นมากมาย จึงสนใจต่อการพนันออนไลน์น้อย แต่ก็ค่อย ๆ เป็นที่นิยมขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจัยที่ส่งผลให้การพนันทางอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูในเวลาต่อมา และขยายตัวอย่างเต็มที่มาจนถึงปัจจุบันคือ (1) ความสะดวกและรวดเร็ว (2) อัตราต่อรองที่หลากหลายและใกล้เคียงกับสถานการณ์จริง (3) การปราบปรามเจ้ามือ-โต๊ะรับแทงบอลโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีความเข้มข้นขึ้น การหันมาให้บริการทางอินเทอร์เน็ตย่อมปลอดภัย และลดความเสี่ยงต่อการถูกจับกุมดำเนินคดี ตลอดทั้งยังช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ลงได้ โดยเฉพาะกับส่วยและสินบน

แม้ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันได้เคยทำโครงการศึกษาสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2553-54, 2556, 2558 และ 2560 แต่ก็ไม่เคยทำเจาะลงไปในประเด็นการพนันออนไลน์มาก่อน เพิ่งจะแยกพิจารณาในปี 2562 ผลการสำรวจพบว่าคนไทยร้อยละ 7.4 หรือประมาณ 3.19 ล้านคนเคยมีประสบการณ์เล่นพนันผ่านช่องทางออนไลน์ แต่มีเพียงร้อยละ 1.55 หรือประมาณ 826,925 คนเท่านั้นที่ระบุว่าเล่นพนันออนไลน์ในรอบปีที่ผ่านมา ประมาณวงเงินพนันรวม 20,152 ล้านบาท ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางหลักในการเล่นมากถึง 97.1% ประเภทของการพนันออนไลน์ที่คนไทยเล่นมากที่สุดอันดับแรกคือ บาคาร่า ป๊อกเด้ง อยู่ที่ 45.2% ถัดมาคือ เกมไพ่ชนิดอื่น ๆ (27.6%) สล๊อตแมชชีนหรือตู้เกม (20.1%) พนันทายผลกีฬา (16.7%) หวยต่าง ๆ (9.4%) ฯลฯ โดยมีการพนันสกินหรืออีสปอร์ตอยู่ด้วย (5.9%) โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้หันมาเล่นการพนันออนไลน์คือ สะดวก ง่าย เล่นได้ทุกที่ทุกเวลา มีผู้ที่ตอบข้อนี้มากถึงร้อยละ 93.7

 

 

{#CGSmini.jpg}

ผลการสำรวจของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันในประเด็นเรื่องเหตุผลที่เล่นพนันออนไลน์ [3]

 

อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้านั้นที่ให้ข้อค้นพบน่าสนใจ (แต่กำหนดกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ศึกษาแคบ) เป็นต้นว่ากลุ่มผู้เล่นหลักของการพนันออนไลน์โดยทั่วไปคือ พนักงานที่มีเงินเดือนประจำ นักเรียน-นักศึกษา และเป็นผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ การพนันฟุตบอลในกลุ่มวัยรุ่นนิยมเล่นผ่านทางเว็บไซต์มากกว่าวิธีอื่น ขณะที่ผู้สูงอายุไม่นิยมเล่นการพนันออนไลน์

จากการเฝ้าสังเกตและติดตามข่าวในสื่อสารมวลชนช่วยให้พอจำแนกเว็บไซต์การพนันออนไลน์ที่คนไทยนิยมเล่นออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) ผู้ให้บริการที่ลักลอบเปิดอยู่ในไทย เป็นเจ้ามือรายย่อยที่ก็มีเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นเป็นของตัวเอง หน้าเว็บเป็นภาษาไทย หลายเว็บไซต์ยังดูขาดความน่าเชื่อถือ พยายามรับสมัครเอเยนต์เป็นลูกข่าย โดยให้เครดิตวงเงิน และ Username กับ Password เพื่อใช้หาสมาชิกใหม่แลกกับค่าคอมมิชชั่น เว็บไซต์ที่ตกเป็นข่าวถูกจับกุมมักขึ้นต้นด้วยคำว่า SBO, UFA (2) ผู้ให้บริการที่ตั้งอยู่ที่เดียวกับคาสิโนตามแนวชายแดนในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะที่ปอยเปต (กัมพูชา) และเมียวดี, ท่าขี้เหล็ก (พม่า)  (ซึ่งปัจจุบันการพนันออนไลน์ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายของทั้งสองประเทศนี้แล้ว) หน้าเว็บไม่ต่างกับกลุ่มแรกมากนัก แต่มีวิธีการชำระเงินที่หลากหลาย และสามารถเล่นได้โดยไม่ต้องผ่านเอเย่นต์ (3) ผู้ให้บริการที่เป็นบริษัทรับพนันถูกกฎหมายรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศ เช่น SBOBET (ฟิลิปปินส์), Ladbrokes (อังกฤษ), bet365 (อังกฤษ), Bodog (แอนติกา) เห็นชัดถึงความมีมาตรฐานสูง ทั้งนี้ผู้เล่นต้องสร้างบัญชีของตนกับเว็บไซต์หลักโดยตรง ซึ่งมักไม่มีภาษาไทย อนึ่ง ในทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาสามารถร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์บางส่วนหรือปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์เหล่านี้ได้ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ในปี 2560 ซึ่งทางศาลก็เห็นว่าการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การพนันจัดว่าเข้าข่ายขัดต่อ “ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” แล้ว ดังเมื่อต้นปี 2562 ศาลได้สั่งปิดกั้นเว็บไซต์พนันออนไลน์ตามคำขอของตำรวจไป 748 เว็บไซต์ แต่ก็นับว่าเป็นน้อยนิดมากเมื่อเทียบจำนวนที่มีอยู่จริง

ทุกวันนี้เรายังพบเห็นโฆษณาการพนันออนไลน์หลาย ๆ รูปแบบด้วยกัน ทั้งแบนเนอร์ ป๊อปอัพ แปะลิงค์ ไม่ว่าบนเว็บไซต์หรือในเครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดนิยมทุกชนิด ทั้งเฟซบุ๊ค ยูทูป ไลน์ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ตลอดจนแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ โดยมักพบเสมอเมื่อเข้าไปยังแหล่งที่มีเนื้อหาล่อแหลม เช่น เว็บไซต์รับชมภาพยนตร์/ถ่ายทอดสดฟุตบอลที่ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือลามกอนาจาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวิธีการที่ให้นักพากย์ฟุตบอล/พริตตี้หรือเน็ตไอดอลที่มียอดผู้ติดตามเป็นจำนวนมากไลฟ์สด (Live) ชักชวนให้บุคคลอื่นเล่นพนัน ซึ่งก็มีบ้างที่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอยู่เนือง ๆ แต่ศาลมักตัดสินลงโทษจำคุกไม่กี่เดือน และให้รอการลงอาญาแทน สิ่งเหล่านี้จึงยังคงพบเจอได้เป็นปกติ มิพักเอ่ยถึงกิจกรรมสื่อสารการตลาดและโฆษณาแอบแฝงรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเป็นผู้สนับสนุนให้แก่สโมสรฟุตบอล ทว่างานวิจัยของปัทมาภรณ์ สุขสมโสด (2561) กลับชี้ให้เห็นว่าแม้กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งจะเคยเห็นโฆษณาชักชวนให้เล่นพนันออนไลน์ในสื่อต่าง ๆ แต่มีไม่เกินร้อยละ 7 เท่านั้นที่จะเล่นพนันตามที่เห็นจากโฆษณา.

 

รายการอ้างอิง

[1] อาจารย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

[2] ที่มาของข้อมูล: http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/09.aspx 

[3] ที่มาของภาพ: http://www.gamblingstudy-th.org/imgadmins/book_file/2562-CGS-national-survey-presentation.pdf  

 

ที่มาของข้อมูล

  • นันทวัฒน์ บรมานันท์, กฎหมายเกี่ยวกับการพนันในประเทศไทย, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน, (2554). 
  • ปัทมาภรณ์ สุขสมโสด, ““วัยรุ่น” เปลี่ยนโฉมหน้าการพนันในเมืองเก่าจากสมาร์ทโฟน,” ใน รายงานศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ปี 2561, (กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน, 2561), 42-50.
  • ไพศาล ลิ้มสถิต, เปิดปม เป็น อยู่ คือ “พนันออนไลน์” สังคมไทยยุคไร้พรมแดน. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, (2555).
  • วิษณุ วงศ์สินศิริกุล, เกมพนันออนไลน์: หายนะเกมพนันที่ต้องควบคุม, รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน, (2554).
  • ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน, “รายงานสถานการณ์การพนันในสังคมไทย ปี 2562,” ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน, (ม.ป.ป.), จาก http://www.gamblingstudy-th.org/imgadmins/book_file/2562-CGS-national-survey-presentation.pdf