เวทีอภิปรายในหัวข้อ “การพัฒนาสื่อเรียนรู้เท่าทันการพนันสำหรับเด็กและเยาวชน” ร่วมอภิปรายโดย รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ผศ.ดร.ฐาศุกร์ จันประเสริฐ สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ดำเนินรายการโดย อ.สุภาพร โพธิ์แก้ว จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เปิดประเด็นในการพัฒนาสื่อว่าต้องสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้ชมได้ เพราะเมื่อไหร่ที่คนเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติจะเปลี่ยนตาม และเมื่อใดที่ทัศนคติเปลี่ยน พฤติกรรมก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย หากเราสามารถทำให้คนเชื่อได้ว่าการพนันออนไลน์เป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบให้กับชีวิตของคน mindset เปลี่ยนหมด พฤติกรรมก็เปลี่ยนตาม
ในฝั่งเว็บไซต์การพนันเองปัจจุบันสามารถทำการตลาดบนโลกโซเชียลได้อย่างตรงจุด รู้ว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชนจึงทำกลยุทธ์ตอบสนองไลฟ์สไตล์เด็กและเยาวชนได้ ทำเป็นเพลงแร๊พง่ายๆ ทำให้มียอดวิวเป็นล้าน ทางฝั่งของผู้ต่อต้านการพนันจะทำอย่างไร นั่นก็ต้องมีสิ่งที่สำคัญถ้าอยากให้เนื้อหาประสบความสำเร็จ คือ
1) เนื้อหาต้องดูดี แชร์แล้วดูดี
2) แทรกเรื่องราวชีวิตจริงเข้าไป ส่งผลอารมณ์ ความรู้สึก
3) มีประโยชน์ต่อผู้อื่น เป็นกระแสในสังคม มีเรื่องราว มีเบื้องหลัง
ด้านฝ่ายนักวิชาการด้านศิลปะ รศ.ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ เล่าถึงการทำงานที่นำเอาศิลปะการละครมาใช้ในกระบวนการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับโทษของการพนันเรียกว่า “ละครถกแถลง” เป็นละครที่สะท้อนความขัดแย้ง เป็นเรื่องเสมือนจริงแต่ไม่ได้เอาตัวตนของใครในชุมชนมาพูด ดังนั้นคนที่จะมาถกเถียงเรื่องความขัดแย้ง การเมือง สิ่งแวดล้อม การพนัน ได้อย่างเสรี เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยไม่ได้ต่อว่าใครโดยเจาะจง ทำให้ผู้ร่วมเล่นละครได้แลกเปลี่ยนถกเถียงหาทางออกร่วมกับตัวละคร เรื่องที่ได้ไปลองทำกิจกรรมมีชื่อว่า “โคกนี้มีอะไร” เป็นเรื่องราวในชุมชนหนึ่งที่มีเจ้ามือไฮโลเปิดวงการพนันในหมู่บ้าน มีตัวละครต่างๆ หลากหลายมาปฏิสัมพันธ์กัน เรื่องราวดำเนินไปจนถึงจุดหนึ่งที่ปัญหาไม่สามารถคลี่คลายได้ กระบวนกรจึงหยุดละครแล้วถกแถลงเพื่อหาทางออกร่วมกัน
ส่วนอีกกระบวนการหนึ่งเป็นเกมละครที่ชื่อว่าผจญภัยในมหาสมบัติ มีเนื้อหาที่สื่อถึงการพนันในโลกความเป็นจริงโดยที่ไม่ได้กล่าวถึงตรงๆ แต่สื่อผ่านตัวละครตัวหนึ่งที่ชื่อ “สึนามิ” ที่จะมายื่นข้อเสนอต่างๆ ให้เกิดการเดิมพันการ์ดกับสมบัติ ทำให้เด็กเรียนรู้และตระหนักได้ว่าการพนันมีผลเสียอย่างไรโดยให้ผู้เล่นเกมละครสัมผัสจากประสบการณ์ในเกม
ผศ.ดร.ฐาศุกร์ จันประเสริฐ นักวิชาการด้านพฤติกรรมศาสตร์ อธิบายปัจจัยที่ประกอบเป็นพฤติกรรมของบุคคลเสริมในประเด็นการพัฒนาสื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ สามารถพัฒนาได้ แต่องค์ประกอบที่สำคัญในตัวคนคือ พวกความรู้ การรู้คิด การประเมิน การให้คุณค่า คือองค์ประกอบที่หนึ่ง ที่ทุกคนใช้การรู้คิดของตัวเองเสมอ ส่วนองค์ประกอบที่สองคือเรื่องของความรู้สึก หัวใจ ทัศนคติ เจตคติ ถ้าคนมีทัศนคติที่ดีหรือไม่ดีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะส่งผลสู่การแสดงพฤติกรรมได้ ส่วนทางพุทธ หากคนเราจะเปลี่ยนแปลงตนเอง ส่วนหนึ่งมาจากความคิดของเราที่เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” เป็นการคิดแบบแยบคายมี 10 แบบ ทำให้สามารถวิเคราะห์คุณค่าแท้ คุณค่าเทียมขอสิ่งที่กำลังจะทำ วิเคราะห์สาเหตุ สืบเสาะหาปัจจัยในสิ่งต่างๆ ได้
อย่างไรก็ตามในวันๆ หนึ่งมนุษย์ต้องคิดตัดสินใจในเรื่องต่างๆ หลายหมื่นครั้ง และส่วนใหญ่แล้วแต่ละครั้งมักใช้อารมณ์ในการตัดสินใจมากกว่าใช้ตรรกะหรือสมอง เราจะสร้างสื่ออย่างไรให้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส จากข้อเท็จจริงที่ว่าคนใช้อารมณ์ความรู้สึกตัดสินใจ การสร้างสื่อก็จะต้องกระทบกับอารมณ์ความรู้สึกของคนด้วย นอกจากนี้ยังสามารถใช้สื่อบุคคล คือคนที่มีตำแหน่ง อำนาจ หรือดาราคนดัง มาเป็นผู้สื่อสารเพื่อเรียกความสนใจให้เพิ่มมากขึ้น
ช่วงท้ายรายการ อ.สุภาพร ได้ให้ความเห็นว่าโจทย์ที่ท้าทายที่กล่าวมาทั้งหมดคือการสร้างสื่อรู้เท่าทันการพนันไม่ล้ำเส้นนี้นอกจากจะสร้างความตระหนักรู้ในเยาวชนแล้วต้องสร้างคู่ขนานไปกับการให้ความรู้แก่ผู้ใหญ่วัยหลังเกษียณด้วย นายพชรพรรษ์ เสริมว่าการใช้สื่อใดสื่อหนึ่งนั้นไม่ควรทำแต่ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมแก่กลุ่มเป้าหมาย ด้าน ผศ.ดร.ฐาศุกร์ กล่าวต่อไปว่าสื่อที่ใกล้ตัวที่สุดก็คือตัวเราเอง ผู้ที่เป็นตัวแทนต่างๆ ควรจะศึกษาคู่มือในการสื่อสารโทษของการติดพนันเพื่อจะได้เป็นสื่อที่ดีในการขยายความรู้ออกไป ด้าน รศ.ดร.กนกวรรณ สื่อละครเป็นสื่อที่เหมาะกับชุมชน เป็นการปฏิสัมพันธ์เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่มีผลเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงซึ่งสามารถนำไปใช้ในบางพื้นที่ได้
สุดท้าย ผู้ดำเนินรายการ อ.สุภาพร โพธิ์แก้ว สรุปว่า สื่อทุกสื่อมีความสามารถในแบบของตัวเองเพียงแต่เราต้องเลือกใช้ให้ถูกงานถูกกลุ่มเป้าหมาย การวางแผนการสื่อสารต้องมอง 3 ระดับคือ 1) ระดับท้องถิ่น 2) ระดับชุมชน และ 3) ระดับชาติ และสุดท้ายในการสื่อสารต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายทั้งอายุ อาชีพ และอื่นๆ เพื่อให้การรู้การเท่าทันการพนันกระจายไปอย่างทั่วถึง.