เวทีอภิปราย “รัฐกับการพนัน และแนวทางลดผลกระทบ”

โดย CGS

เวทีอภิปราย “รัฐกับการพนัน และแนวทางลดผลกระทบ”

เวทีอภิปราย “รัฐกับการพนัน และแนวทางลดผลกระทบ” มีผู้ร่วมอภิปรายคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกสมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน และดำเนินรายการโดย รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากที่ผู้ดำเนินรายการแนะนำผู้ร่วมอภิปรายครบแล้วก็ได้เสนอให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เริ่มอภิปรายก่อน

 

 

อดีตนายก กล่าวเล่าที่มาของการริเริ่มศึกษาการพนันในประเทศไทยว่ามาจากที่ 10 ปีก่อนมีการผลักดันให้การพนันถูกกฎหมาย ซึ่งเมื่อเทียบกับตอนนั้น ขณะนี้ถือว่า ทัศนคติเกี่ยวกับการทำการพนันให้ถูกกฎหมายมีแรงสนับสนุนอ่อนลง ในขณะนั้นตนค่อนข้างกังวลผลกระทบต่อสังคม จึงได้หยิบเรื่องนี้ขึ้นมายื่นสู่ที่ประชุมของ สสส. ซึ่งมาถึงขณะนี้ก็เกือบ 10 ปี สิ่งแรกที่คิดว่าเป็นประโยชน์และจะเป็นฐานของความสำเร็จในการทำงานนี้คือการมีข้อมูล และการมีกรอบหลักคิดทางวิชาการ ที่จะเป็นตัวช่วยในเรื่องของนโยบายสาธารณะ อีกทั้งการแก้ปัญหาโดยขับเคลื่อนผ่านเครือข่าย และภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ซึ่งมักจะได้ผลกว่าการหวังพึ่งกฎหมายและการหวังพึ่งระบบราชการในการที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนโดยลำพัง ต้องมี 2 ส่วนนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการทำงานต่อไป คืองานด้านวิชาการ และก็เครือข่ายของมวลชน หรือภาคประชาสังคม

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่าเราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรจะสามารถกลับมาสนับสนุนให้ภาคประชาสังคม มีความเข้มแข็งและสามารถทำงานโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ และไม่สูญเสียความเป็นอิสระได้ ทั้งนี้อาจเชื่อมโยงการทำงานเข้ากับหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ทำให้เขาเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ อาจจะเป็นวิธีการอีกวิธีในการที่ดึงหน่วยงานที่ปกติอาจไม่สนใจนักกับปัญหาเหล่านี้ให้เป็นแนวร่วมได้ 

ผู้อภิปรายคนต่อมา คือ นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส ได้ยกประสบการณ์ที่รับทราบกรณีการปิดบ่อนการพนันแห่งหนึ่งเพียงชั่วคราวมาเพื่อเข้าประเด็นว่า ปัญหาการพนันนั้นถูกละเลยจากฝ่ายนิติบัญญัติ กรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดทุกคณะไม่มีการพูดถึงเรื่องพนัน แม้แต่วุฒิสภาก็ไม่มี ซึ่งสะท้อนกลไกสำคัญของประเทศเราว่าฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารมองพนันเป็นเรื่องปกติ ขณะเดียวกันสำงานสลากกินแบ่งก็ออกสลากมากขึ้น คนซื้อสลากเพิ่มขึ้นและรายได้จากการขายสลากก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 

ในการแก้ปัญหาให้ได้อย่างจริงจัง นายวิเชษฐ์ เสนอว่านอกจาก “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” ของ สสส. อันได้แก่ ภาคนโยบาย ภาควิชาการ ภาคสังคม ตนคิดว่าปัญหาการพนันต้องเพิ่มภาคส่วนอีก ได้แก่ 1) ภาครัฐ ต้องมีนโยบาย ทำหน้าที่ออกกฎและหมายมาตรการ 2) กลไกภาครัฐที่จะรับผิดชอบที่เป็นเจ้าภาพหลักได้ มีกลไกที่จับต้องได้ ไม่โยนงานไปมา และ 3) สื่อมวลชน ที่จะต้องรณรงค์นำเสนอข้อมูลที่จะช่วยป้องกันการเล่นการพนันเพิ่มขึ้น

ผู้อภิปรายคนต่อมาคือ ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะอเนก ได้กล่าวถึงรากของปัญหาการพนันในประเทศไทยว่ามาจาก 2 สิ่ง คือ 1) ทัศนคติที่มองการพนันเป็นเรื่องปกติ และ 2) ปัญหาเรื่องความรู้ความเข้าใจ สองปัญหานี่เชื่อมโยงกัน ดังนั้นจึงต้องรู้จักการพิจารณาว่าสิ่งใดจะเข้าข่ายการพนันต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่าง นั่นคือ 1) มีการวางเดิมพัน (consideration) ถ้ามีวางเงินเมื่อไหร่เริ่มเข้าข่าย  2) ความเสี่ยง (chance) การพนันส่วนใหญ่การพนันใช้ความเสี่ยงและโอกาสที่จะถูกรางวัลเป็นตัวล่อใจ และ 3) รางวัล (prize) ซึ่งอาจจะรางวัลอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นสิ่งของมีค่า 

 

 

ดร.ธีรารัตน์ อธิบายต่อไปว่าการพนันมี 3 ระดับ คือ 

1) Social Gambling เล่นเพื่อความบันเทิง ซึ่งรัฐก็จัดบริการให้อย่างเหมาะสม 

2) Problem Gambling เป็นการเล่นพนันมากจนเกิดปัญหาตามมา และ 

3) Pathological Gambling คือเล่นจนเป็นโรคติดการพนัน ซึ่งองค์การอนามัยโลกรับรองว่าการติดการพนันเป็นโรคทางด้านการเสพติดอย่างหนึ่ง 

ฉะนั้นต่อไปนี้การทำงานด้านการพนันต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยผู้ประกอบการพนัน ในต่างประเทศการพนันถูกกฎหมายมีเยอะแต่บ้านเราการพนันถูกกฎหมายมีเจ้ามือคือรัฐ (สลากกินแบ่งรัฐบาล) รัฐต้องจัดสรรเงินทุนหรือมีส่วนร่วมในการตั้งคณะกรรมการ มีส่วนร่วมในการจัดตั้งกองทุนเพื่อนำมาซึ่งการลดผลกระทบ เยียวยา เพราะผลิตภัณฑ์นั้นสร้างผลกระทบ ที่สำคัญต้องมองการพนันเป็นปัญหาเชิงสาธารณสุข จะมีการมองทั้งระบบ ป้องกัน ปกป้องคุ้มครอง เฝ้าระวังแก้ไข บำบัดเยียวยา ดูแลตั้งแต่ต้นจนจบ

เมื่อผู้ร่วมอภิปรายบนเวทีอภิปรายครบทั้งสามคน ได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้ฟังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น คนแรก นายมาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ฝากข้อเสนอยังคณะทำงานว่าในต่างประเทศมีการที่รัฐดำเนินการเสี่ยงโชคโดยที่นำสลิปเมื่อซื้อสินค้าเป็นเลขสำหรับรับรางวัล ซึ่งในกรณีนี้ไม่ครบองค์ประกอบการพนัน 3 ข้อตามที่ ดร.ธีรารัตน์ กล่าวเพราะไม่ได้มีการวางเดิมพัน แต่ทำให้รัฐสามารถเก็บรายได้มากขึ้น และประชาชนเองก็ไม่ต้องติดการพนันเพราะไม่มีเงื่อนไขเหมือนการพนันทั่วไป หากประเทศไทยนำการดำเนินงานลักษณะนี้มาใช้ก็อาจเกิดประโยชน์ต่อทั้งรัฐและประชาชน

หลังจากนั้นมีผู้ฟังร่วมแสดงความคิดเห็นอีกหนึ่งคนคือ นายมนตรี แก้วกระจ่าง ตัวแทนภาคประชาสังคมจากมูลนิธิการพนัน ได้แสดงความคิดเห็นว่าหน่วยงานข้าราชการบางหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการพนันทำงานล่าช้า และมีเงื่อนไขมาก ทำให้ขอทุนมากดำเนินการต่างๆ ได้ยากจึงอยากให้มีการตั้งกองทุนอิสระที่ดำเนินงานโดยภาคประชาสังคมโดยตรง จะทำให้การขับเคลื่อนมีความรวดเร็วและคล่องตัวขึ้น

ปิดท้ายรายการ รศ.แล ได้ให้ผู้อภิปรายตอบข้อคิดเห็นจากผู้ร่วมรับฟัง นายอภิสิทธิ์ ได้ตอบในประเด็นแรกเกี่ยวกับการทำใบเสร็จเมื่อซื้อสินค้าให้เป็นการเสี่ยงรางวัลนั้นไม่เชื่อว่าจะสามารถไปลดการพนันได้มากนัก ประเด็นต่อมาเรื่องงบประมาณ ก็เห็นด้วยว่าการที่จะตั้งกองทุนเป็นอิสระ มีการกันรายได้ไว้ให้ทำได้ยากขึ้นเพราะเป็นแนวคิดของรัฐบาลที่แล้ว ที่ดึงทุกอย่างกลับเข้าสู่ระบบราชการ ทางด้าน นายวิเชษฐ์ ได้กล่าวโดยสรุปว่าจะทำให้ภาคประชาสังคมเข้าถึงได้ยังไง ใช้ประโยชน์ได้ยังไง ต้องให้ภาคประชาสังคมมาดูร่วมกับภาครัฐ นักวิชาการสื่อมวลชน ภาคประชาสังคม เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องทำอย่างจริงจัง เพราะงบประมาณมีอยู่ 

ส่วน ดร.ธีรารัตน์ เป็นผู้กล่าวปิดท้ายว่า การพนันอยู่ในโลกนี้มาเป็นพันๆ ปี หลายคนเห็นตรงกันว่ามันไม่มีทางหมดไป เราไม่สามารถหยุดมันได้ แต่เราพยายามลดผลกระทบให้เหลือน้อยที่สุด และกันคนเล่นหน้าใหม่ให้น้อยลง ให้อยู่วงจำกัด ฉลาด รู้เท่าทัน รู้จักและเข้าใจ และที่เหลือคือตัดสินใจ เพื่อให้เด็กและเยาวชนไม่ตกเป็นเหยื่อของสังคม.