รายงาน “สถานการณ์การพนันในสังคมไทย ปี 2562”

โดย CGS

รายงาน “สถานการณ์การพนันในสังคมไทย ปี 2562”

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ได้นำเสนอรายงาน “สถานการณ์การพนันในสังคมไทย ปี 2562” เริ่มต้นด้วยการเล่าสถานการณ์การพนันเป็นอย่างไรในปีนี้ ซึ่งแตกต่างจากปีที่ผ่านมาในแง่ขยายภาพสถานการณ์ในหลายจังหวัด มีการเพิ่มจำนวนตัวอย่างที่จะสำรวจ แต่ว่าผลส่วนดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ คาดว่าในต้นปี 2563 จะมีภาพให้เห็นว่าเป็นอย่างไร 

ในการสำรวจสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทย ปีนี้ก็มีการรวบรวม เช่นเดิม เก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 44,050 ตัวอย่าง ระหว่าง เดือนเมษายน ถึง กรกฎาคม 2562 โดยมีหน่วยงานที่มาช่วยคือศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) ช่วยทั้งในการจัดเก็บและประมวลผลต่างๆ หัวข้อที่จะนำเสนอวันนี้มีอยู่ 9 หัวข้อ ซึ่ง รศ.ดร.นวลน้อย ได้อธิบายประกอบแผนภาพไปโดยลำดับ

ในประเด็นแรกเป็นข้อมูลสำรวจเกี่ยวกับประสบการณ์และทัศนคติต่อการเล่นพนัน การสำรวจตั้งคำถามแรกว่า “คุณรู้จักใครที่เล่นพนันหรือไม่” ปรากฎว่าร้อยละ 56 ตอบว่ารู้จัก ซึ่งน่าตกใจเพราะแสดงให้เห็นว่าการพนันนั้นอยู่รอบตัวเรา คำถามต่อมาถามเกี่ยวกับทัศนคติว่าการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ถือว่าเป็นการพนันใช่หรือไม่ ซึ่งตัวอย่างตอบว่าใช่มากกว่าครึ่งหนึ่ง แต่กลับเห็นว่าหวยใต้ดินเป็นการพนัน ส่วนทัศนคติต่อการเปิดให้การพนันเป็นสิ่งถูกกฎหมายคนไม่เห็นด้วยเกินครึ่งมาเพียงเล็กน้อย คำถามต่อมาถามว่าหากเปลี่ยนการพนันที่เคยผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมายแล้วจะมีผลให้คนเล่นมากขึ้นใช่หรือไม่ ผู้ตอบร้อยละ 60 ตอบว่าใช่และคำถามสุดท้ายในส่วนแรกถามว่าการชิงโชคจากการซื้อสินค้าเป็นการพนันหรือไม่ คนส่วนใหญ่คือร้อยละ 45 ตอบว่าไม่ใช่ 

ในด้านประสบการณ์การเล่นการพนันคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปร้อยละ 76.3 หรือประมาณ 40.7 ล้านคนมีประสบการณ์เคยเล่นการพนัน โดยผู้ชายเล่นมากกว่าผู้หญิงร้อยละ 79.5 ต่อ 73.4 ช่วงอายุที่เล่นมากที่สุดคือ 26-29 ปี โดยการพนันที่คนเล่นมากที่สุดคือสลากกินแบ่งรัฐบาล ร้อยละ 82.9 อันดับสองคือหวยใต้ดิน 76.4 และอันดับสามคือพนันไพ่ ร้อยละ 44.7 เฉลี่ยแต่ละคนเคยเล่นการพนันอย่างน้อย 3 ประเภท และในจำนวนทั้งหมดที่เคยเล่นการพนันมีร้อยละ 7.7 หรือราว 3.19 ล้านคนเคยเล่นการพนันออนไลน์และส่วนใหญ่เล่นผ่านสมาร์ตโฟนซึ่งทำให้เห็นสภาพการณ์ว่าช่องทางของการเล่นพนันนั้นติดตัวผู้คนมากขนาดไหน

อายุในการเริ่มเล่นการพนันครั้งแรก อายุต่ำสุด 7 ปีส่วนสูงที่สุด 62 ปีทำให้เห็นว่าบางคนทั้งชีวิตไม่เคยเล่นพนันแต่พอเข้าสู่วัยเกษียณมีเวลามากขึ้น มีอะไรมากขึ้น กลับเล่นพนัน โดยประมาณร้อยละ 50 เริ่มเล่นพนันครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี และผู้หญิงค่าอายุโดยเฉลี่ยที่อายุ 24 ปี ผู้ชายค่าโดยเฉลี่ย ที่ 22 ปี เหตุผลในการเล่น อันดับแรกคือ เสี่ยงโชค อยากลอง อันดับ 2 คืออยากได้เงิน คำถามต่อมาคือ เล่นกับอะไร เล่นพนันชนิดใด คำตอบอันดับ 1 ยังเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล เพราะฉะนั้นแสดงว่าสลากกินแบ่งรัฐบาลกลายเป็นพนันประเภทซ้อมมือครั้งแรก ในด้านสถานการณ์การพนันที่เล่นในปี 2562 พบว่า มีคนไทยที่เล่นการพนันเพิ่มขึ้น จากปี 2560 ร้อยละ 5.2 หรือประมาณ 1.5 ล้านคน ซึ่งเป็นนักพนันหน้าใหม่ที่ไม่เคยเล่นมาก่อนเลยในชีวิต มาเล่นเป็นครั้งแรกในปี 2562 ประมาณ 7 แสนคน

การรายงานรายละเอียดการพนันแต่ละชนิด ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้เน้นการสังเกตไปที่การซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 มีนักพนันสลากหน้าใหม่ที่ไม่เคยซื้อมาก่อนอยู่ประมาณ 3 แสนกว่าคน และพบว่ามีคนที่เล่นทุกงวดเพิ่มขึ้นจากเดิมเกือบเท่าตัว แสดงให้เห็นว่าการซื้อสลากกินแบ่งกำลังเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากสลากกินแบ่ง รศ.ดร.นวลน้อยยังแสดงรายละเอียดการพนันรูปแบบอื่นๆ ด้วย ได้แก่ หวยใต้ดิน การพนันในบ่อน การพนันฟุตบอล และการพนันออนไลน์ ซึ่งประเภทสุดท้ายกำลังมีผู้เล่นหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในด้านการติดพนันจะพบนักพนันที่เข้าข่ายว่าจะเป็นปัญหาอยู่ประมาณ 2 แสนคน โดยที่อีกประมาณ 3 ล้านคน มีพฤติกรรมที่เสี่ยงจะกลายเป็นนักพนันที่มีปัญหา ในกลุ่มเยาวชนเป็นนักพนันที่มีปัญหาประมาณเกือบ 4 หมื่นคน และเสี่ยงที่มีปัญหาอีก 4 แสนคน ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นนักพนันที่มีปัญหาประมาณ 2.5 หมื่นคน และเสี่ยงที่จะมีปัญหาคือ 3.8 แสนคน สองกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ส่วนกลุ่มวัยทำงานมีนักพนันที่มีปัญหาประมาณ 1.4 แสนคน และเสี่ยงที่จะมีปัญหาเกือบ 3 ล้านคน เป็นตัวเลขที่ต้องเฝ้าระวังว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรเพราะทำให้เกิดปัญหาใหญ่โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินซึ่งประมาณตัวเลขออกมาว่ามีมากถึง 1.14 หมื่นล้านบาท และถึงแม้จะมีปัญหาหนี้สินจากการพนันแต่ร้อยละ 82.9 ยังบอกว่าจะเล่นการพนันต่อไปอีกด้วย

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ทิ้งท้ายการรายงานว่า จากข้อมูลทำให้เห็นว่ากลุ่มเครือข่ายต้องช่วยกันทำงานให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจว่า ถ้าอยากจะเล่นพนันควรเล่นเพื่อความบันเทิงเล็กๆ น้อยๆ และทำอย่างไรให้การพนันเมื่อเล่นแล้วไม่ล้ำเส้นเสี่ยง จนกลายเป็นปัญหาและเป็นผลกระทบที่ตกกับตัวเองและครอบครัว.