เสพติดพนัน ปัญหาที่รอวันปะทุ

โดย CGS

เสพติดพนัน ปัญหาที่รอวันปะทุ

ใครบ้างไม่เคยซื้อลอตเตอรี่หรือหวยใต้ดิน? ทำไมคนจึงชอบเสี่ยงโชค การพนันเป็นสิ่งเสพติดหรือไม่? การเล่นพนันเป็นเพียงเรื่องส่วนตัวจริงหรือ? ทราบหรือไม่ว่าหากในบ้านมีคนติดพนัน 1 คน จะส่งผลกระทบถึงคนอื่นๆ 10-17 คน 

ทั้งหมดนี้มีคำตอบในการเสวนาเปิดตัวหนังสือ “เสพติดพนัน : ความใหญ่โตของปัญหาและแนวทางแก้ไข” ซึ่งจัดขึ้นโดย ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 มีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางกลุ่มแผนงานลดปัญหาจากการพนัน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสื่อมวลชนอาวุโส, รศ.วิทยากร เชียงกูล เจ้าของผลงานวิจัยและหนังสือ

ร่วมแสดงข้อคิดเห็นโดย นายศรีสุวรรณ  ควรขจร กรรมการกำกับทิศทางกลุ่มแผนงานและปัญหาจากการพนัน, พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ แพทย์ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาระบบให้ความช่วยเหลือผู้มีปัญหาจากการพนัน ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน

นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางกลุ่มแผนงานลดปัญหาจากการพนัน กล่าวเปิดงานว่าปัญหาการพนันเป็นประเด็นหนึ่งที่ สสส ให้ความสำคัญและสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคีที่ทำงานวิชาการ องค์ความรู้ และการขับเคลื่อนทางสังคม เพราะเห็นว่าเป็นปัญหานับวันจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งหลายครั้งพบว่าข่าวอาชญกรรมมีสาเหตุจากปัญหาหนี้สินพนัน หรือการที่ประชาชนเล่นพนันกันมากขึ้นในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะหวยใต้ดิน ลอตเตอรี่ 

 

 

ดังจะเห็นได้จากการที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นนำส่งรายได้ให้รัฐเป็นอันดับ 1 ต่อเนื่องกันมาหลายปี สิ่งนี้สะท้อนว่าคนไทยยังนิยมเสี่ยงโชค และหวังว่าจะถูกรางวัล ทั้งที่ความจริงแล้วโอกาสถูกรางวัลที่ 1 เป็นเรื่องที่ยากมาก

งานวิจัยหลายอย่างระบุชัดเจนการเล่นพนันเป็นการเสพติด และ อ.วิทยากร เชียงกูล ได้ย่อยงานวิชาการออกมาเป็นหนังสือทำให้อ่านเข้าใจง่าย และอาศัยประสบการณ์ถอดบทเรียนหรือการศึกษาของต่างประเทศ ที่มีตัวอย่างการแก้ไขผลกระทบจากการพนัน และว่าเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมเน้นการแข่งขัน หาเงิน มั่งคั่ง เสพสุข บภ.ส่งเสริมให้มีการขยายตัวธุรกิจการพนันมากขึ้น การเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เกิดปัญหามาก 

ปัจจุบันเจนเนอเรชั่นวายก่อหนี้มากสุดในบรรดาหนี้ครัวเรือนทั้งหมด เพราะคนเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายผ่านการชอปออนไลน์ รวมถึงการเล่นพนันด้วย

 

“เสพติดพนัน” ปัญหาใหญ่กว่าที่คิด

รศ.วิทยากร เชียงกูล เจ้าของผลงานวิจัยและหนังสือ กล่าวว่าคนที่เสพติดพนันไม่ใช่มีปัญหาแค่ทางกายโดยตรง แต่ปัญหาปัญหาใหญ่อยู่ที่จิตใจ เคยอ่านข้อมูลพบว่าพ่อแม่อเมริกันดีใจที่ทราบว่าลูกติดพนัน ไม่ใช่ติดยา หารู้ไม่ว่าติดการพนันมีความเสี่ยงที่จะติดยาเสพติดได้ เพราะคนติดการพนันเป็นคนชอบเสี่ยง มีความยับยั้งชั่งใจน้อย ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ

ประเด็นที่น่าสนใจคือ รัฐบาลมีการออกสลากกินแบ่งเพื่อจำหน่าย และคนไทยคิดว่าการซื้อสลากกินแบ่งหรือลอตเตอรี่เป็นการเสี่ยงโชค ไม่ใช่การพนัน เพราะรัฐบาลเป็นผู้ลงทุน 

ในรายที่เสพติดพนัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่ส่งผลต่อร่างกายด้วย เช่น เล่นเกมออนไลน์ติดต่อกันหลายวัน ทำให้เครียดเพราะต้องลุ้น เสียเงินไปแล้วอยากได้คืน เป็นโรคอ้วนเพราะนั่งอยู่กับที่เป็นวลานาน มีปัญหาสุขภาพกายและใจ ต้องปกปิดไม่ให้คนใกล้ชิดรู้ มีความรู้สึกผิด พอเป็นหนี้มากขึ้น ก็ส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน โยงไปถึงปัญหาสังคม เราไม่มีข้อมูลหรือการวิจัยมากพอ นานๆ ทีจึงได้ยินข่าวว่าคนติดการพนันฆ่าตัวตาย แต่เหตุการณ์แบบนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ 

 

 

ในที่นี้ขอกล่าวถึงความสำคัญของปัญหา สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง และแนวทางแก้ไข

รศ.วิทยากร ให้นิยามว่า คนติดพนัน หมายถึง คนที่เล่นมาก เล่นบ่อย รู้สึกกระวนกระวายถ้าไม่ได้เล่น ซึ่งเป็นปัญหาทางจิตเวช ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจอย่างเดียว 

“ผมมองว่าเป็นปัญหาใหญ่โต เพราะเชื่อมโยงกับหลายปัญหา ไม่ใช่แค่ตัวบุคคลแต่โยงถึงสังคม และรัฐบาลต้องมารับภาระ ปัจจุบันในต่างประเทศมีการลงทุน ป้องกันและบำบัดเรื่องเหล่านี้”

ประเทศทุนนิยมเสรีให้คนเล่นการพนันถูกต้องตามกฎหมายได้ และรัฐบาลได้ภาษีจากการกิจกรรมนี้  แต่มีการศึกษาแล้วว่าไม่คุ้มค่าด้านเศรษฐกิจ ยังไม่นับถึงกระทบทางสังคม ตัวอย่างเช่น รัฐวิกตอเรีย นิวเซาท์เวล ทำวิจัยแล้วพบว่าภาษีที่ได้จากการเปิดคาสิโน การแข่งม้า มีจำนวนน้อยกว่ากว่าต้นทุนที่ต้องใช้จ่ายในการป้องกัน และบำบัดคนติดพนัน 

แต่โดยทั่วไปนักเศรษฐศาสตร์คิดแต่จะหารายได้เข้าประเทศ ไม่ได้คิดด้านต้นทุนทางสังคม ซึ่งเสียหายมากกว่า

กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือคนเสพติดปานกลาง รวมถึงวัยรุ่น คนจน และผู้สูงอายุ เมื่อมีคนติดพนันแล้วจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวด้วย โดยทุก 1 คนที่เสพติดพนัน จะกระทบต่อคน 10-17 คน 

ส่วนสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง มาจากหลายด้าน ดังนี้

1.ด้านกายภาพ การศึกษาพบว่าเด็กที่เติบโตมาท่ามกลางพ่อแม่เล่นการพนัน จะเห็นว่าการพนันเป็นเรื่องปกติ เด็กที่เติบโตมาในครอบครัว พ่อแม่ติดการพนัน ยากจน การศึกษาต่ำ ไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดี เป็นปัญหาเอื้ออำนวยให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อได้

ส่วนเรื่องสมอง จิตใจ บางคนมีบุคลิกหันหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ พอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เริ่มเหงา มีความเครียด คิดว่าการเล่นการพนันเป็นความสนุกสนาน เป็นการระบายออก คนที่มีปัญหาจิตใจและอารมณ์ มักเชื่อมโยงกับการติดการพนัน และการติดสารเสพติดอื่นๆ ด้วย หากเป็นคนมีสุขภาพจิตดีจะแก้ปัญหาได้

2.การรู้คิด ทัศนคติ มีความหลงผิดเรื่องการพนัน เช่น เชื่อว่ามีโอกาสผิดหรือถูก 50 เปอร์เซ็นต์ ความจริงไม่ใช่ บางคนเล่นรูเล็ตแพ้10 ครั้ง คิดว่าครั้งต่อไปผลจะออกไม่เหมือนเดิม หรือวันนี้ฝันดี วันนี้เป็นวันเกิดน่าจะดวงดี คือคิดเองเออเอง 

การแก้ไขคือต้องให้การศึกษา ให้เข้าใจถึงทฤษฎีและความเป็นไปได้ บางคนคิดว่าซื้อลอตเตอรี่มีโอกาสถูกหรือผิด 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น โอกาสผิดสูงมาก เป็นหลักคณิตศาสตร์ซึ่งคนไม่เข้าใจ 

สิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากคือ “การป้องกัน” หากเสพติดแล้วจะแก้ไขได้ยากกว่า ในต่างประเทศมีแนวทาง เช่น จัดสัมมนา เวิร์คชอป ทำภาพประกอบ วิดีโอเคลื่อนไหว ให้เด็กทดลองทำ ซึ่งได้ผลกระดับหนึ่ง คนเข้าใจเหตุผลแต่อาจมีปัญหาทางอารมณ์ ซึ่งควบคุมยาก

หากมีการส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาวะที่ดี มีทักษะชีวิต มีความสามารถในการรับมือแก้ไขปัญหา รู้จักดูแลความคิด จิตใจและอารมณ์ จะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น และว่าผู้เขียนหนังสือ Unbroken Brain ซึ่งเคยมีประสบการณ์ติดยาสมัยวัยรุ่นบอกว่า การบำบัดแบบเป็นทางการไม่ค่อยได้ผล ต้องใช้จิตวิทยาร่วมด้วย มีความรัก เอาใจใส่ จะได้ผลกว่า 

“เราจะเห็นว่าเด็กเรียนหนังสือเก่ง มีพัฒนาการอารมณ์ดี ไม่ติดยา แต่เด็กเรียนไม่เก่ง อยู่ในสภาพแวดล้อมไม่ดี มีโอกาสเสี่ยงสูง ทำอย่างไรให้เด็กพัฒนาในสิ่งเหล่านี้ ในต่างประเทศมีองค์ความรู้เหล่านี้เยอะ แต่ในประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการสอนแต่วิชาการ และวิชาชีพ ส่วนครูก็สอนตามหน้าที่”

ด้านการรักษาบำบัด ในต่างประเทศมีบริการให้คำปรึกษาทางออนไลน์ และโทรศัพท์ ซึ่งได้ผลระดับหนึ่ง เพราะคนติดพนันมักอายไม่กล้าไปพบด้วยตนเอง แต่ใช้วิธีโทรศัพท์ปรึกษานักจิตวิทยาและแจ้งชื่อแฝง ทางผู้ให้บริการมีการติดตามผลโดยขอเบอร์โทรและอีเมล์ โดยจะโทรตามหากผู้เสพติดหายไป ไม่โทรกลับมาอีก ในประเทศไทยเริ่มมีการให้คำปรึกษาลักษณะนี้บ้างแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายนัก 

สำหรับคนเสพติดการพนัน การบำบัดเยียวยาโดยนักจิตวิทยาเป็นเรื่องสำคัญ เป็นการบำบัดแนวพฤติกรรมการรู้คิด กล่าวคือชวนคุยเพื่อให้คิด เข้าใจ และแก้ปัญหาด้วยตนเองเป็นไง ทางจิตวิทยาไม่สามารถให้ยาแล้วช่วยได้ คนอยากบำบัดต้องร่วมมือด้วย 

รศ.วิทยากร เสนอว่าในระดับประเทศควรมีการตั้งสถาบันทำงานเป็นองค์กรมหาชน กระทรวงสาธารณสุขทำบ้าง ควรส่งแพทย์ นักจิตวิทยา เจ้าหน้าที่ ไปศึกษาเรื่องนี้ในต่างประเทศ หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญมาอบรมในประเทศไทย เป็นคอร์สอบรมสั้นๆ เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าใจเรื่องจิตวิทยาการพนัน รวมทั้งอบรมพ่อแม่ ครูอาจารย์ ผู้ทำงานด้านสุขภาพ งานสังคมสงเคราะห์ ให้มีความรู้ เพื่อวิจัยเผยแพร่ความรู้ทางป้องกัน และเยียวยาปัญหาการเสพติดการพนัน ที่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง และว่าการที่คนจนเล่นหวยมากขึ้น เพราะไม่มีความหวังอื่น ในประเทศแบบรัฐสวัสดิการมีคนติดการพนันเช่นกัน แต่เป็นสัดส่วนที่น้อยหากเทียบกับประเทศกึ่งพัฒนาหรือกำลังพัฒนา แสดงว่ามีความเชื่อมโยงของปัญหากับการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงการเลี้ยงดูของพ่อแม่ 

 

กิจกรรมต่างๆ หยุดชะงักในวันหวยออก

นายศรีสุวรรณ  ควรขจร นักพัฒนาองค์กรเอกชนอาวุโส เห็นด้วยว่าการเสพติดพนันเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม และว่าจากการอ่านรายงานวิจัยชิ้นล่าสุด พบว่าคนไทยประมาณ 9 ล้านคน (คิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ) อยู่ในข่ายเสพติดพนัน เพราะตอบว่าไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตนเล่นเป็นปัญหาหรือไม่ และตั้งข้อสังเกตว่าในวันที่มีการประกาศผลลอตเตอรี่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างชะงักหรือหยุดลง เพราะผู้ซื้อมัวจดจ่ออยู่กับการประกาศผล 

 

 

แม้แต่ในแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล ก็มีคนไข้ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด นายศรีสุวรรณกล่าวชื่นชมว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์ คนทุกกลุ่มสามารถอ่านได้ และอยากให้คนทำงานในสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือคณะกรรมการบอร์ดได้อ่าน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและต้องหาทางแก้ไข เพราะปัญหาการพนันเชื่อมโยงถึงปัญหาอื่นๆ การดื่มเหล้า สถานภาพทางเศรษฐกิจ 

“ถ้ามองการพนันเชื่อมโยงไปหาสิ่งที่เห็น สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาร้ายแรง เราอาจประสบปัญหาความไม่มั่นคงอย่างมากๆ เพราะคนสูงวัยมากขึ้น แต่คนวัยทำงานมีโปรดักติวิตี้น้อยลง  คนมีปัญหาจากการเสพติดพนัน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ 

“คนสูบบุหรี่ตายช้า ทำให้เกิดโรคร้ายแรงไม่ติดต่อ และกลายเป็นผู้สูงวัยด้อยคุณภาพ สังคมต้องดูแล เป็นภาระแก่ลูกหลาน รัฐเองก็มีรายได้ไม่พอ เพราะมีโปรดักติวิตี้น้อยลง รายที่ดื่มเหล้าก็ไปตายบนถนน คนเห็นชัดเจน แต่คนเสพติดพนันไม่สามารถมองเห็นอย่างชัดเจน และรัฐละเลย ไม่ได้มองว่านี้คือปัญหา รู้แต่ว่าเป็นแหล่งรายได้และต้องรักษาไว้ นี่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่าหลายคนคิด เนื่องจากมีความซับซ้อน จนคนไม่มองว่าเป็นปัญหา” 

 

ต้องยกเป็นวาระแห่งชาติ

พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ แพทย์ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาระบบให้ความช่วยเหลือผู้มีปัญหาจากการพนัน กล่าวว่าตนอยากให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อ่านหนังสือเล่มนี้ และยกขึ้นเป็นวาระแห่งชาติได้แล้ว 

จากการทำงานกับผู้มีปัญหาจากการพนันมา 10 ปี พบว่าทุกคนต่างสูญเสีย และตอนนี้ได้ขยายมาที่กลุ่มคนอาวุโส คนวัยทำงาน และเยาวชนมากขึ้น มีคนติดพนันแบบไม่รู้ตัวและสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก

“เราเห็นข่าวการจับบ่อนออนไลน์ ส่วนใหญ่อยู่ต่างประเทศ ตัวเลขหลักสิบถึงร้อยล้านบาทต่อวัน ขณะที่จับยาบ้ามากที่สุดแค่หลักล้านบาท”

ประเด็นสำคัญอีกเรื่องคือ กระทรวงสาธารณสุขไม่มีการตั้งงบประมาณสำหรับรักษาผู้เสพติดพนัน เทียบกับการทำงานเรื่องยาเสพติด มีงบฯ รายหัวให้โรงพยาบาลรักษาและติดตามผลเป็นเวลา 1 ปี ตอนที่ตนทำงานอยู่สถาบันสุขภาพจิตวัยรุ่น ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์แก่ผู้มีปัญหาด้านการพนัน โดยได้ทุนสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ทุนกำลังหมดลง  

 

 

พญ.มธุรดา กล่าวถึงพฤติกรรมของคนที่เสพติดการพนันว่า จะไม่คิดเรื่องงาน หรืออื่นๆ ตื่นขึ้นมาก็คิดแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพนัน 

“ศัพท์ของหมอคือตื่นมาก็อาวรณ์หาแล้ว คนติดพนันต้องทวนว่าฝันอะไร ตีว่าเลขอะไร ยิ่งใกล้วันที่ 1 และ 16 เป็นอย่างนั้น เป็นเบสิกการเล่นพนัน ไม่คิดเรื่องงาน ทุกๆ วันของเขาเป็นวันของพนัน จากภารกิจที่เคยทำก็ไม่ทำ เราจะป้องกันเด็กได้อย่างไร ทำไงให้เด็กรู้เท่าทัน และให้ครอบครัวหันมาให้ความรักกับเด็กและเยาวชน

“กระทรวงสาธารณสุขยอมรับว่า การพนันเป็นเรื่องสุขภาพ แต่นักพนันไม่รู้ว่าตนเองป่วยแล้ว เพราะมากับความเพลิดเพลิน เหมือนเด็กติดเกม แม่บอกให้ลูกหยุดเล่น ลูกบอกว่านางมารมาแล้ว หาก สสส.รณงค์ให้หยุดสูบ หยุดดื่ม อาจต้องมีการวมแพจเกจพวกนี้ด้วย และสู้กับอนไลน์ด้วย เพราะปัจจุบันเวบพนันส่งเอสเอ็มเอสมาถึงเราโดยตรง กฎหมายยังไม่เท่าทัน ทำอย่างไรจะควบคุมได้”

พญ.มธุรดา กล่าว 

 

สนง.สลากฯ ส่งเงินเข้ารัฐปีละ 4 หมื่นล้าน

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ กล่าวว่าการพนันเป็นต้นเหตุของปัญหาอื่น รวมทั้งเป็นปัญหาที่เกิดจากเรื่องอื่นๆ จึงมีความซับซ้อนมาก และยกตัวอย่างการศึกษาการพนันที่อังกฤษ เมื่อยี่สิบปีที่แล้วว่า อังกฤษมีกฎระเบียบควาบคุมการเล่นคาสิโน ผู้เล่นต้องสมัครก่อน นักท่องเที่ยวต้องสมัครและรอ 24 ชั่วโมง ไม่ใช่สถานที่ที่ใครก็เข้าไปเล่นได้ ต่อมาได้มีการเปิดขายเนชั่นแนล ลอตเตอรี่ และกิจการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของเอนเตอร์เทนเมนต์ขนาดใหญ่ มีการโฆษณา และทำกำไรจากสิ่งเหล่านี้ ซึ่งต่อมาพรรคเลเบอร์เสนอว่าต้องควบคุมโฆษณา แสดงว่าปัญหาใหญ่โต และส่งผลกระทบมาก

 

 

กลับมาที่ประเทศไทยปีงบประมาณ 2562 สำนักงานสลากส่งรายได้เข้ากระทรวงการคลังประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และจากการสำรวจพบว่า 1.เงินหมุนเวียนในสลากกินแบ่งมีมูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท 2.คนใช้เงินซื้อลอตเตอรี่จำนวนมากขึ้น และมีความถี่ในการซื้อเพิ่มขึ้น เมื่อก่อนอาจนานๆ ครั้ง แต่ตอนนี้จำนวนคนที่ซื้อทุกงวดมีสัดส่วนสูงขึ้น 4.ขณะที่ยอดซื้อสลากกินแบ่งเพิ่ม ตัวเลขการซื้อหวยใต้ดินไม่ลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้นแป็น 1.7 แสนล้านบาท และผู้ซื้อจำนวน 75 เปอร์เซ็นต์ ซื้อทั้งลอตเตอรี่และหวยใต้ดิน

ดังนั้น การที่รัฐบาลออกสลากกินแบ่งเพิ่ม เท่ากับไปทำให้มีการเล่นพนันเพิ่มมากขึ้น พิจารณาได้จากตัวเลขที่สำนักงานสลากฯ ส่งเงินเข้ารัฐ ประเด็นนี้มีการอภิปรายกันมาก ในประเทศต่างๆ เวลามีเสนอให้เปิดคาสิโนถูกกฎหมาย ข้อหนึ่งที่ยกขึ้นมาอ้างคือ สามารถเก็บภาษีและนำรายได้เข้ารัฐมากขึ้น ซึ่งมีคนอภิปรายแย้งว่าเมื่อไรก็ตามที่รัฐพึ่งพารายได้ที่มีนัยสำคัญจากสิ่งเสพติดทั้งหลาย ไม่ว่า พนัน เหล้า แล้วรัฐจะไปจัดการกับพวกนี้ได้อย่างไร 

เวลาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจตกต่ำรายได้จากทางอื่นลดลง แต่รายได้จากสิ่งเสพติดไม่ลด รายได้จากส่วนนี้จึงมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งหลายประเทศโต้แย้งว่า ถ้าจะเปิดสถานพนันให้ถูกกฎหมาย ต้องด้วยเหตุผลอื่น และควบคุมได้ ไม่ใช่เหตุผลด้านรายได้ เพราะติดกับตัวเองได้ง่าย 

คำถามคือถึงเวลาหรือยังที่ต้องมีหน่วยงานดูแลปัญหานี้โดบตรง เพราะจากที่ศึกษาวิจัยและทำงานด้านนี้มาหลายปี พบว่านับวันปัญหามีแต่จะเพิ่มขึ้น

ตัวอย่างเช่น กฎหมายฉบับใหม่ของสำนักงานสลากฯ ระบุว่าจะไม่ขายให้คนอายุน้อยกว่า 20 แต่การทำวิจัยพบว่ามีผู้ซื้ออายุน้อยกว่า 20 ปี ประมาณ 2 แสนคน แสดงว่าแม้มีกฎระเบียบบังคับ แต่ในภาคปฏิบัติไม่ได้ดูแลเข้มงวด 

ด้านหนึ่งอาจไม่ใช่ว่าปล่อยปละเจตนา ถ้าพูดโดยบริบทวิชาการสำนักงานสลากฯ เป็นผู้ให้บริการ ไม่ใช่คนดูแลกติกา แต่หน่วยงานมักคิดว่า “ไม่ต้องมีคนอื่นดูแล ฉันดูแลเองได้” แต่ในความเป็นจริงมีภารกิจบริการเยอะ อาจทำภารกิจบริการเป็นส่วนใหญ่ ส่วนการดูแลกฎกติกาอาจทำได้ไม่ถึง 5 เปอร์เซนต์ 

นายศรีสุวรรณ แสดงความเห็นด้วยว่าควรมีการตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบโดยตรง 

เด็กกับปัญหาการพนันเป็นผลกระทบทางสังคมที่ร้ายแรง นอกจากการตั้งสถาบันแล้ว สถาบันควรได้เงินสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งฯ ด้วย โดยปลอดจากการแทรกแซงจากรัฐ รวมทั้งส่งเสริมภาคประชาสังคมให้เข้ามามีบทบาท เพราะหนทางอยู่ที่ชุมชน คิดว่าทางออกเป็นเรื่องการผสมผสาน กระบวนการความสัมพันธ์ในชุมชนกับการบำบัด 

นายวิเชษฐ์ เสนอน่าจะหาแนวทางนำเงินที่สำนักงานสลากกินแบ่งส่งเข้ารัฐ มาใช้ประโยชน์ในกิจกรรมส่วนรวม โดยอาศัยกลไกภาครัฐผ่านมาตรการ นโยบาย โดยดำเนินการผ่าน พม. และต้องผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ  

ตัวอย่างเช่น พม.ทำหน้าที่ดูแลป้องกันเด็ก เยาวชน ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ทำเรื่องบำบัดผู้ติดพนัน เป็นหน้าที่ของหน่วยงานทั้งส่องแห่ง และทุกปีรัฐบาลต้องกันงบให้กับพันธกิจนี้ นี่คือเรื่องแรก 

ในส่วนของการป้องกันมี 2 เรื่องคือ 1.สร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กเยาวชน เป็นเรื่องระยะยาวหลายองค์กรพยายามทำอยู่ 2.การสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงการพนัน เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะธุรกิจพนันเข้าถึงคนได้โดยตรงผ่านโทรศัพท์มือถือ และว่าสื่อเองก็มีส่วนสำคัญในการชี้นำ เช่น ก่อนออกรางวัลลอตเตอรี่ มีรายงานเลขทะเบียนรถที่ายกรัฐมนตรีนั่ง  หรือนักร้อง ศิลปิน ออกมาเป็นผู้ใบ้หวย สื่อวิทยุด้านกีฬา มีการพูดถึงเรื่องพนันระหว่างออกอากาศ 

สื่อต้องงดการนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ไม่สร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้คนอยากเล่นการพนัน โดยสมาคมวิชาชีพสื่อ และ กสทช. ต้องดูแลอย่างจริงจัง 

ประเด็นสำคัญสุดอยู่ที่รัฐบาล รัฐมนตรี ถ้าเราได้ผู้นำเอาจริงจัง ในประเด็นสังคมจะช่วยได้มาก

“ระดับผู้นำต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ เห็นว่าเป็นปัญหาสังคม ให้น้ำหนักกับเรื่องนี้ มันหลายมิติ ที่เราพูดเป็นส่วนหนึ่ง ถ้าข้างบนไม่ขยับอะไรเลย ก็ทำงานกันเหนื่อย” นายวิเชษฐ์กล่าว

ในช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นายธนากร คมกฤส ผู้อำนวยการเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่าจากที่ได้ฟังอาจารย์วิทยากรสรุปได้ว่า1.การติดพนันเป็นปัญหาใหญ่ พวกเราที่มาร่วมเสวนาในวันนี้สามารถช่วยกันได้ โดยเฉพาะการทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของผู้คน ขอวิงวอนสื่อมวลชนและคนทำงานสื่อสารสาธารณะ ให้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับกับดักของพนัน และช่วยกันผลักดันให้มีกลไกบางอย่างเพื่อแก้ไขปัญหา

 

 

นางสาวปิยะวดี พรมไพร กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผู้เข้าร่วมฟังเสวนากล่าวแสดงความคิดเห็นว่า พม.กำลังจัดทำร่างกฎหมาย 2 ฉบับ ฉบับแรกลดผลกระทบเด็กเยาวชนจากการพนันออนไลน์.และรอนำเสนอเข้าบอร์ดชาติด้านการพัฒนา ส่วนร่างฉบับที่สองเป็นแผนปฏิบัติการสร้างความร่วมผิดชอบร่วม ประเด็นอี-สปอร์ต ต่อเด็ก ซึ่งได้จัดทำร่วมกับหลายหน่วยงานและได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี 

ตอนนี้มีร่างยุทธศาสตร์ร่วมกัน แต่ยังไม่ทราบว่าหน่วยใดเป็นเจ้าภาพหลัก

อย่างไรก็ดี ในฐานะคนทำงานด้านการขับเคลื่อนนโยบาย รู้สึกหนักใจเพราะมีอุปสรรคหลายอย่าง ต้องสร้างความเข้าใจกับผู้บริหารระดับสูง ให้ช่วยนำการเปลี่ยนแปลง คุยกับหน่วยงานที่มีภารกิจภายใต้กฎหมาย. และจะคุยกับเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันได้อย่างไร 

ในช่วงท้าย รศ.วิทยากร สรุปว่าปัญหาโดยรวมเกิดจากการที่รัฐบาลมองการพัฒนาว่า เป็นเรื่องการเติบโตด้านการเงิน ธุรกิจมากไป ไม่เข้าใจว่าต้องเน้นคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย เช่น ส่งเสริมให้มีสนามกีฬาให้เยาวชนได้ออกกำลังกาย มีกิจกรรมสร้างสรรค์ เล่นเดนตรี เป็นต้น 

เพราะปัจจุบันคนทำธุรกิจด้านนี้มีการขยายตัวแทรกซึมไปทั่ว เช่น เกมออนไลน์ พนันออนไลน์ มีการจูงใจด้วยการให้ของเป็นคะแนนฝึก ทำให้หลง ได้ของเสมือนจริง บางอย่างแลกเป็นเงินได้ด้วย เป็นการฝึกให้เล่นการพนัน และมีจิตวิทยา ทำให้เด็กติดกับได้ง่าย