ก้าวข้ามความผิดพลาดซ้ำซาก เพื่อสลาก 80 บาท ยั่งยืน

โดย ศิริพร ยอดกมลศาสตร์

ก้าวข้ามความผิดพลาดซ้ำซาก เพื่อสลาก 80 บาท ยั่งยืน

เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า บอร์ดกองสลาก ที่มีประธานชื่อ นายสมชัย สัจจพงษ์ และ พลตรีอภิรัชต์ คงสมพงษ์ รับภารกิจตรงจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องทำให้สลากกินแบ่งรัฐบาลจำหน่ายตามราคาที่ระบุไว้ 80 บาท

ครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดเรื่องสลาก 80 บาท ตามด้วยการแต่งตั้งนายสมชัย สัจจพงษ์ เป็นประธานบอร์ดกองสลาก (หรือคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล) เพื่อจัดการกับเรื่องนี้ ผู้คนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นไปไม่ได้”

ก่อนลาออกจากตำแหน่ง นายสมชัยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “ปัญหาสลากเกินราคาอยู่ที่คนขายหวยตัวจริงส่วนใหญ่ไม่มีโควตาสลาก คนได้โควตาสลากไม่ใช่คนขายหวยตัวจริงรวมทั้งองค์กร นิติบุคคลต่างๆ ก็ไม่ใช่คนขายหวยตัวจริงทั้งนั้น เรื่องการจัดสรรโควตาหวยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีกลุ่มอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก” และทิ้งท้ายว่า การแก้ไขปัญหานี้ต้องใช้ผู้มีบารมี ถ้าเป็นไปได้อยากเห็นทหารเข้ามาทำหน้าที่แทน

แทบไม่น่าเชื่อว่า เพียงการแถลงข่าวครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งประธานบอร์ดกองสลากไม่กี่วันของนายทหารผู้มีบารมี พลตรีอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้คนต่างเชื่อมั่นว่า “เห็น 80 บาทแน่” และไม่กี่เดือนต่อมา คอหวยทั่วประเทศสามารถซื้อสลาก 80 บาทได้จริงๆ แต่จะตรึง

ราคานี้ได้นานแค่ไหนเป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อไป

ประธานบอร์ดสองยุคมีแนวคิดเหมือนกัน คือ ต้องลดบทบาทกลุ่มอิทธิพลและพยายามจัดสรรสลากให้ถึงมือคนขายตัวจริง

แต่บอร์ดยุคพลตรีอภิรัชต์มีกลไกที่มากกว่า คือ อำนาจจับกุมโดยทหาร การจัดสรรรายได้ใหม่ โครงการซื้อ-จองล่วงหน้า ไม่ต่อสัญญากลุ่มตัวแทนจำหน่ายประเภทองค์กรที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนพิการและนิติบุคคลทั้งหมด และอนุมัติพิมพ์สลากเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

การแถลงผลการดำเนินงานครบรอบ 1 ปี ของบอร์ดกองสลากชุดพลตรีอภิรัชต์ คงสมพงษ์อธิบายผ่าน “สมดุลสลากใหม่” สัดส่วนโควตาองค์กรและโควตาบุคคลรายย่อยลดลงอย่างมากและการ “ขายตรง” ให้คนขายที่ไม่มีโควตาผ่านโครงการซื้อ-จองล่วงหน้ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด

แต่เมื่อพิจารณาปริมาณสลากที่จัดสรรแยกตามประเภทของผู้จำหน่าย พบว่า โควตาองค์กรลดลงมาก แต่โควตาบุคคลรายย่อยลดลงเพียงเล็กน้อย รวมลดลงประมาณ 1 ใน 4 ของปริมาณสลากก่อนเริ่มโครงการซื้อ-จองล่วงหน้า หรือเกือบ 10 ล้านฉบับคู่เท่านั้น นอกจากสลากส่วนนี้โครงการซื้อ-จองล่วงหน้ามีปริมาณและสัดส่วนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากสลากที่พิมพ์เพิ่มเพื่อขายผ่านโครงการฯโดยเฉพาะ รอบแรก 13 ล้านฉบับคู่ (งวด 1 พ.ย. 58) และรอบที่สอง 10 ล้านฉบับคู่ (งวด 16 ก.พ. 59)

 

{#C16-img41.jpg}

 

หากพิจารณาเฉพาะงวดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ยอดจำหน่ายสลาก 60 ล้านฉบับคู่ ถ้าคำนวณว่าแต่ละคนขายสลาก 5 เล่ม (ตามจำนวนที่ให้ซื้อ-จองล่วงหน้าและโควตาบุคคลรายย่อย)สังคมไทยน่าจะมีคนขายมากถึง 120,000 คน แต่ละคนมีรายได้ 4,800 บาทต่องวด หรือ 9,600 บาทต่อเดือน เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการขาย รายได้จะอยู่ในระดับตํ่าจนไม่น่าจูงใจให้คนนับแสนต้องการยึดอาชีพ “ขายสลาก”

ทางออกของคนจำนวนหนึ่งที่ซื้อสลากได้ก็คือการขายแบบ “ยกเล่ม” เปิดโอกาสให้กระบวนการรวบรวมสลาก-จัดชุด-ขายเกินราคา ยังมีบทบาทต่อไป

ในทางกลับกัน คนขายตัวจริงก็ต้องดิ้นรนหารายได้เพิ่มเพื่อจะอยู่ให้ได้ กดดันให้ต้องพึ่งพาระบบคนกลางรวมสลาก-จัดชุด เพราะการขายหวยชุด “เรียกราคาได้” และการขายแต่ละครั้งจะได้เงินเป็นกอบเป็นกำ ทั้งนี้ คอหวยทุกคนรู้ว่า ราคา 80 บาท มีเฉพาะสลากใบ ส่วนสลากชุดต้องจ่ายแพงกว่า สนนราคามีตั้งแต่ 90-120 บาทต่อใบ

ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อน “ความล้มเหลว” ซํ้าๆ ตามแบบฉบับการแก้ไขปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคาของสำนักงานสลากฯ นั่นคือ การเพิ่มสลาก และ การออกผลิตภัณฑ์สลากรูปแบบใหม่

ข้อเสนอ การเพิ่มสลาก สำนักงานสลากจะอ้างหลักเศรษฐศาสตร์ว่า สินค้าแพงเพราะมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด (ดีมานด์มากกว่าซับพลาย) การเพิ่มปริมาณสินค้าจะทำให้ราคาลดลง ซึ่งเป็นหลักการของตลาดแข่งขันสมบูรณ์ แต่ความจริงแล้วสำนักงานสลากเป็นผู้ผลิต/ผู้ขายสลากเพียงรายเดียวในตลาด กลไกตลาดของสลากจึงเป็น “ตลาดผูกขาด”ตลาดที่สำนักงานสลากสามารถกำหนดราคาและกำไร การเพิ่มปริมาณสลากเท่ากับการเพิ่มกำไรหรือเงินส่งเข้าคลัง

เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่มีการเพิ่มปริมาณสลาก ราคาจะลดลงระยะหนึ่ง หลังจากนั้นราคาจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น แสดงว่าการเพิ่มสลากไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคา

ต่างจากตลาดของคนขายรายย่อย การขายสลากให้ผู้บริโภคเป็นตลาดแข่งขันสมบูรณ์

นโยบายขายขาด การเพิ่มปริมาณสลาก การเพิ่มจำนวนคนขาย ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องแบกรับความเสี่ยงและมีโอกาสขาดทุน ดังนั้นจึงต้องเสริมกลยุทธการขายทุกรูปแบบเพื่อให้ตนเอง “อยู่ให้ได้”

ส่วนข้อเสนอ การออกผลิตภัณฑ์สลากรูปแบบใหม่ ต้องใช้คำว่า “คนละเรื่องเดียวกัน” กล่าวคือ สลากทุกรูปแบบเป็นการพนันเหมือนกัน ทว่า การพนันแต่ละประเภท แต่ละผลิตภัณฑ์ มีโครงสร้างการตลาดคนละส่วน ไม่ใช่สินค้าที่จะทดแทนกันได้

ผลสำรวจพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ซื้อทั้งสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดิน แม้ยุคหนึ่งจะมีหวยบนดิน หวยใต้ดินก็มิได้หายไป การออกผลิตภัณฑ์สลากรูปแบบใหม่เป็นการขยายตลาดการพนัน ไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคา

หากมองย้อนกลับไป ณ ความสำเร็จเริ่มแรก “สลาก 80 บาท” เกิดขึ้นได้เพราะประธานบอร์ดกองสลากแสดงออกว่า “เอาจริง” และมีนโยบายสนับสนุนหลายรูปแบบ รวมถึงการ “จับจริง” ทำให้คนขาย “ไม่กล้า” ลํ้าเส้น ขายเกินราคา ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณสลากในตลาด และไม่ต้องออกผลิตภัณฑ์สลากรูปแบบใหม่

ในทางตรงกันข้าม ระยะหลังๆ การตรวจสอบ/จับกุมดูเอิกเกริกจนสื่อแนะนำทำนองว่า “ต้องปลอมตัวล่อซื้อ ไม่ใช่ไปเป็นกองทัพ” และนโยบายเพิ่มสลากเริ่มส่งผลด้านกลับ สื่อยุคออนไลน์ช่วยทำให้คนกลางรวบรวมสลากได้ไม่ยาก พร้อมกันนั้น การแข่งขันในตลาดและการมีรายได้ไม่เพียงพอ (จากการขายสลากที่ซื้อได้) ทำให้คนขายตัวจริงต้องพึ่งพาคนกลาง ซื้อสลากชุดมาขาย กลายเป็นกลไกที่ช่วยสถาปนาให้ระบบรวมสลาก-จัดชุด-ขายเกินราคาดำรงอยู่ต่อไป

 

{#C16-img42.jpg}

 

หากบอร์ดกองสลากต้องการบรรลุภารกิจ “สลาก 80 บาทอย่างยั่งยืน” ต้องทำให้สำนักงานสลากมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ต่างไปจากเดิม อาจเริ่มต้นด้วยการ “ฟังเสียงผู้มีส่วนร่วมในสังคมกลุ่มต่างๆ อย่างจริงจัง” ตัวอย่างเช่น

• ให้ยกเลิกระบบโควตาองค์กรทั้งหมด แล้วจัดสรรสลากให้สมาชิกในองค์กรโดยตรงส่วนเงินช่วยเหลือองค์กรให้จัดสรรจากเงินกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม

• การขึ้นทะเบียนผู้ขอโควตา ควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้สำรวจข้อมูลและร่วมรับผิดชอบหากผู้ลงทะเบียนไม่ได้ขายจริง

• โควตาสลากควรมีอายุ 1 ปี และมีช่องให้ระบุว่าต้องการกี่เล่ม เพดานสูงสุดควรขยายเป็นไม่เกิน 10 เล่ม หรือ 20 เล่ม

• การจัดส่งผ่านระบบไปรษณีย์ เป็นวิธีการที่สะดวก

• คนขายทุกคนต้องมีใบอนุญาต และต้องระบุเขตพื้นที่ขายที่ชัดเจน

• ควรมีหน่วยงานที่มีสมาชิกครอบคลุมทั่วประเทศเป็นหน่วยสนับสนุนการกำกับ/ตรวจสอบ

• ควรมีการสุ่มตรวจสอบ ไม่ใช่ตรวจจากเอกสารดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

• การป้องกันสลากรวมชุดที่ง่ายและเห็นผลทันตาคือ การหมุนรางวัลที่ 1 รอบละชุด (คู่ฉบับ) ถูกทีละ 6 ล้าน ไม่มีรางวัลประเภท “ถูกครั้งเดียวเปลี่ยนชีวิต” อีกต่อไป