สาธิต กรีกุล เจ้าของนาม ‘บิ๊กจ๊ะ’ กับหนวดงามๆ และการแต่งตัวที่มีสีสัน เป็นทั้งคอลัมนิสต์ในสตาร์ซอคเก้อร์รายวัน ผู้ประกาศข่าวกีฬาและผู้บรรยายการแข่งขันฟุตบอลทางไทยทีวีสี ช่อง 3 และเป็นพิธีกรรายการกีฬาทางโทรทัศน์ วิทยุ รวมถึงงานแถลงข่าวต่างๆ ที่เกี่ยวกับกีฬาหลายรายการ
นอกจากงานอาชีพผู้สื่อข่าวกีฬา บิ๊กจ๊ะยังเป็นแฟนผี แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดและเคยมีโอกาสไปเป็นนักข่าวประจำที่อังกฤษ 2 ปี การได้โอกาสพูดคุยกับ ‘บิ๊กจ๊ะ’ ถึง ‘แฟนบอล - พนันบอล’ เจาะให้เห็นว่า วงการฟุตบอลและแฟนบอลล้วนต้องทำแบบ ‘มืออาชีพ’ และการแก้ไขปัญหาการพนันบอลต้องแก้ไขด้วยการสร้างจิตสำนึกรู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ
คนไทยชอบฟุตบอล เมื่อเทียบกับคนอังกฤษเหมือนหรือต่างกันตรงไหน
ฟุตบอลเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนอังกฤษมา 100 กว่าปีแล้ว ฟุตบอลของอังกฤษเป็นฟุตบอลอาชีพมายาวนานมาก การเป็นแฟนฟุตบอลและการดูฟุตบอลของเขาก็มีมายาวนานเช่นกัน คนอังกฤษจะดูและเชียร์ฟุตบอลในลักษณะที่ว่า ใครอยู่เมืองไหนก็จะเป็นแฟนทีมเมืองนั้น ถ้ามีทีมรักทีมโปรดแล้วก็แทบจะไม่เปลี่ยนไปเชียร์ทีมอื่น แต่อาจจะมีกรณีเพิ่มทีมเชียร์เข้าไป
สำหรับของไทยเรา รัชกาลที่ 6 เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลขึ้นมา ปีนี้สมาคมฟุตบอลจะมีอายุครบ 100 ปี แต่วงการฟุตบอลหรือการแข่งขันฟุตบอลในบ้านเราเป็นระดับสมัครเล่นมายาวนานมาก เพิ่งจะปรับเป็นระบบอาชีพในช่วง 10 กว่าปีหลังมานี้เอง แต่ยังมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะสโมสรต้องปรับตัวเอง ตรงจุดนี้เลยทำให้แฟนฟุตบอลยังไม่มีความเป็นแฟนบอลอาชีพพอ คือไม่ใช่ว่าไม่ตั้งอกตั้งใจดูนะ คำว่าแฟนบอลอาชีพต้องมีกฎกติกา มีกรอบ
แฟนบอลของอังกฤษก็ด่ากรรมการ ด่าทีมตัวเองที่เล่นไม่ดี หรือด่าฝั่งตรงกันข้ามแต่เขารู้ขอบเขตว่าได้ประมาณไหน แค่ไหน เมื่อไหร่ที่เกินขอบเขตก็จะโดนบทลงโทษบางคนโดนแบนห้ามเข้าสนามบอลตลอดชีวิตก็มีนะ เขามีบทลงโทษขนาดนั้นเพราะเขาคำนึงถึงว่าเวลาเกิดเรื่องอะไรขึ้นมามันส่งผลเสียหายต่อสโมสร ทั้งชื่อเสียงและภาพลักษณ์ และสโมสรก็โดนปรับด้วย แต่ของบ้านเรา พอเกิดเรื่องแล้วลงโทษตามกฎ ทีมฟุตบอลก็จะโวยว่าลงโทษหนัก บางทีต้องอะลุ่มอล่วย บางทีต้องลดหย่อนผ่อนโทษลงมา มันสะท้อนถึงการบังคับใช้กฎระเบียบในบ้านเรา อย่าว่าแต่กฎเรื่องฟุตบอลเลยกฎหมายก็คล้ายๆ กัน มันเลยทำให้การปรับตัวไปสู่ฟุตบอลอาชีพของไทยมีปัญหา คือ กฎระเบียบที่หย่อนยานมันทำให้คนไม่กลัวที่จะทำความผิด เพราะกฎไม่ศักดิ์สิทธิ์
การเล่นพนันฟุตบอลที่อังกฤษเป็นอย่างไรมันส่งผลกระทบต่อกีฬาฟุตบอลไหม
อังกฤษมีบริษัทรับแทงพนันอย่างถูกกฎหมายมานาน และไม่ได้รับแทงพนันฟุตบอลอย่างเดียวนะ เขา bet ได้ทุกเรื่อง แล้วแต่จะตั้งราคา แต่ไม่เคยมีเรื่อง คนอังกฤษเขาเล่นกันพอหอมปากหอมคอ เช่นเวลาไปดูบอลก็ขอลุ้นหน่อย แทง 5 ปอนด์ 10 ปอนด์ เหมือนเป็นส่วนเสริมที่นอกเหนือไปจากค่าตั๋ว ค่าอาหาร ค่าเสื้อ และค่าของที่ระลึกของสโมสร เขาจะไม่แทงเยอะแบบบ้านเรา เขาไม่เคยมีข่าวว่าคนติดพนันแล้วไปก่อเรื่องก่อราว จี้ปล้น อะไรก็ตาม แตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับบ้านเรา หรืออาจจะพูดว่าแตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับคนไทย คนอังกฤษหรือบริษัทพูลอังกฤษจะงงกับคนไทย งงว่า เฮ้ย..คุณจะทุ่มเล่นพนันอะไรกันสุดชีวิตขนาดนี้ คุณเล่นพนันกันทีหนึ่งเป็นจำนวนมหาศาล
ตรงนี้ ผมว่าต้องแก้ที่จิตสำนึกคนไทยเท่านั้น พูดง่ายๆ คือ มูลเหตุของการเกิดปัญหาการพนันและปัญหาอื่นๆ ที่ตามมา ผมขอใช้คำว่า คนไทยเราจำนวนไม่น้อยขาดจิตสำนึก ขาดสามัญสำนึก คือคนเราถ้าไม่รู้ว่าสิ่งสามัญที่เราควรจะต้องทำคืออะไร ชีวิตหลังจากนั้นลำบาก
ประเทศเราเต็มไปด้วยข้อยกเว้น เป็นปัญหาทั้งระบบ
จริงๆ ผมไม่ได้แอนตี้อะไรนะ ผมมองว่า ตราบใดที่เรายังให้คำตอบที่แท้จริงไม่ได้ว่าทำไมอันนี้ถูก ทำไมอันนี้ไม่ถูก ทำไมเป็น 2 มาตรฐาน แล้วมันจะไปตอบใครเขาได้
ที่อังกฤษห้ามเยาวชนเล่นพนัน อายุตํ่ากว่าที่กำหนดห้ามเข้าร้านพนัน ผมก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่เด็กหรือเยาวชนเข้าไปเล่นพนันนะ ผมถึงบอกว่ากฎหมายเขาศักดิ์สิทธิ์ ทำให้คนที่นั่นไม่กล้า เพราะเวลาโดนจะโดนหนักมาก มันไม่คุ้ม แต่บ้านเราปล่อยปละละเลย สิ่งที่ผมมองว่าเป็นปัญหาอยู่ตลอดก็คือเรื่องที่เรามี 2-3-4 มาตรฐาน มันแก้ยากมันเชื่อมโยงไปทุกเรื่อง มันต้องเริ่มปลูกจิตสำนึกกันตั้งแต่เด็ก คือมันจะไม่เกิดปัญหา ถ้าเยาวชนในประเทศมีจิตสำนึก รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อย่างเยาวชนอังกฤษพวกเขาไม่ได้รู้สึกว่าต้องเล่นการพนัน มันต่างกับความคิดของเด็กบ้านเรา ผมเชื่อว่าถ้าไม่แก้จากตรงนี้ มันก็จะเป็นอย่างนี้ไปตลอด มันจะแก้ไม่ได้
ภายใต้สิ่งที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน เราจะสร้างจิตสำนึกสร้างพลังบวกได้อย่างไร
มันต้องใช้เวลา พ่อแม่ โรงเรียน ต้องช่วยกัน ต้องใช้ความอดทนที่จะสร้างพื้นฐานขึ้นมา แล้วต่อไปก็จะกลายเป็นแบบอย่างที่ถูกต้อง
การหันมาสนใจกีฬาก็ช่วยได้ เพราะกีฬาสอนให้รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย สอนให้รู้จักการมีนํ้าใจเป็นนักกีฬา เมื่อเด็กรู้ตัวว่าชอบกีฬา สนใจฟุตบอล หรือรู้ตัวว่าสนใจดนตรีก็ตาม เด็กก็จะไม่ไปยุ่งกับอบายมุข แต่ตราบใดที่จิตสำนึกของสังคมไทยยังคิดสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ก็แก้ตรงนี้ไม่ได้
ถ้ามองจากส่วนของสื่อมวลชน
ผมทำงานด้านนี้มากว่า 30 ปี อย่างแรกสุดที่ผมสามารถพูดได้เต็มที่คือผมไม่เล่นการพนัน ไม่ชอบการพนัน และไม่สนับสนุนให้ใครเล่นพนัน เพราะผมถือว่าการพนันไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิตของผม และผมก็เชื่อว่ามันไม่ใช่สิ่งจำเป็นในชีวิตของใคร สิ่งที่ผมพอจะทำได้ ไม่ว่าจะตอนอยู่หน้าจอโทรทัศน์ ทางวิทยุ หรือเขียนคอลัมน์ต่างๆ ถ้ามีโอกาสผมก็จะทำให้ทุกคนเห็นว่าการพนันเป็นสิ่งไม่ดี และการที่จะทำอย่างนี้ได้เราต้องทำออกมาจากตัวตนของเรา เราต้องทำเป็นแบบอย่างให้เขาเห็น สิ่งที่เราพูดและเราเขียนจึงจะน่าเชื่อถือ
การเป็นสื่อต้องมีจรรยาบรรณ เราต้องยึดถือและทำในสิ่งที่ถูกที่ควร สื่อไม่ควรเล่นการพนัน เพราะมันทำให้เลือกข้าง พอคุณเล่นพนันมันจะทำให้คุณไม่เป็นกลาง ในต่างประเทศ สื่อเล่นพนันอาจจะไม่ผิดกฎ แต่ก็อาจจะโดนสังคมต่อว่าและหมดความเชื่อถือ ถ้านักฟุตบอลไปเล่นแล้วโดนจับได้จะโดนโทษแบน หมดอนาคตเลยนะ
เจาะแฟนบอล-พนันบอล กับ ‘บิ๊กจ๊ะ’ สาธิต กรีกุล
โดย CGS TEAMเด็กและเยาวชนรู้เท่าทันการพนันอย่างไร...ด้วย “ชุดการเรียนรู้โดย CGS TEAM
โดย ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนกความฝัน vs ความจริง ของวงการมวยไทยใน ‘ไชยา’
โดย นายเจิด