พนันบั้งไฟไม่ใช่กิจของพระสงฆ์

โดย หอมกลิ่นดิน

พนันบั้งไฟไม่ใช่กิจของพระสงฆ์

ภาพจาก หนังสือพิมพ์สื่อมวลชน 

 

แม้พุทธศาสนาจะถือว่า การพนันเป็นอบายมุข เป็นหนทางแห่งความเสื่อม แต่คนไทยโดยทั่วไปไม่รู้สึกว่าการพนันเป็นสิ่งชั่วร้าย การพบเห็นพระสงฆ์เกี่ยวข้องกับการพนันบางระดับเป็นสิ่งที่คนไทย “ยอมรับได้” โดย เฉพาะกรณีพระใบ้หวยและพระซื้อลอตเตอรี่ ทั้งที่สถาบันพระสังฆาธิการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มีประกาศห้ามชัดเจน และมีบทลงโทษสูงสุดคือ ให้สึก

ยุคเทคโนโลยีข่าวสารย่อโลกให้เล็กลง ผู้คนรับรู้ปัญหาพระสงฆ์เล่นการพนันเพิ่มมากขึ้นรุนแรงขึ้น จนถึงระดับที่ผู้คนรู้สึก “รับไม่ได้” กับภาพพระสงฆ์เล่นการพนันบางระดับ บางประเภท หนึ่งในนั้นคือ การเล่นพนันบั้งไฟของพระสงฆ์

ทำไมพระสงฆ์จำนวนนับสิบนับร้อย สวมหมวกสีเหลือง จึงเล่นการพนันแบบเปิดเผยโดยไม่คำนึงถึงว่าจะผิดพระธรรมวินัยของสงฆ์และกฎหมายบ้านเมือง

 

พระสงฆ์ในประเพณีบุญบั้งไฟ

นิตยสารทางอีสาน ฉบับ บุญบั้งไฟ ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 ลำดับให้เห็นว่าบุญบั้งไฟเดิมเป็นประเพณีบูชาผีฟ้า (แถน) เพื่อขอฝน ขอความอุดมสมบูรณ์ ก่อนเข้าสู่ฤดูทำนาโดยมีพิธีกรรมบูชากบ-เขียดเป็นเนื้อหาหลัก สัญลักษณ์ในพิธีกรรมเป็นเครื่องหมายของความสัมพันธ์ระหว่าง ฟ้ากับดิน หญิงกับชาย เป็นพลังก่อกำเนิดชีวิตและเป็นพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ มีความสัมพันธ์หรือเป็นที่มาของพลังแห่งการเติบโตของพืช ดังนั้น บุญบั้งไฟจึงเป็นงานที่เรียกว่า “เล่น-กิน” คือเล่นสนุกสนานและกินอย่างเต็มที่

เมื่อศาสนาพุทธเข้ามา จึงมีการแปลงเรื่องแถนให้เป็นนิทานชาดก และทำให้บุญบั้งไฟกลายเป็นประเพณีที่มีเนื้อหาทางพุทธมากขึ้น วัดกลายเป็นที่รวมของการจัดกิจกรรม ด้านหนึ่งเพราะมีความพร้อมด้านสถานที่ในการรองรับคนจำนวนมาก อีกด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะพระสงฆ์มีเวลา พระสงฆ์จึงกลายเป็นผู้นำด้านสรรพวิทยาด้านต่างๆ ในสังคม รวมถึงการทำและคิดค้น/พัฒนาวิธีการทำบั้งไฟ

เมื่อพระสงฆ์เป็นช่างบั้งไฟ ต้องจุดบั้งไฟ สังคมอีสานจึงคิดวิธีปฏิบัติเพื่อให้เหมาะแก่สมณสารูป โดยทำ “หว่อม” หรือหมวกสีเหลืองให้พระสงฆ์สวม และยังอนุโลมให้พระสงฆ์สามเณรสามารถเล่นสนุกในประเพณีบุญบั้งไฟได้ เฉกเช่นเดียวกับการอนุญาตให้พระสงฆ์สามเณรเล่นนํ้าสงกรานต์กับญาติโยมได้ แม้แต่กับผู้หญิง

 

พระสงฆ์เล่นพนันบั้งไฟ

เมื่อวิถีชีวิตของชาวอีสานเปลี่ยนแปลงไป คนรุ่นใหม่อพยพไปขายแรงงานต่างถิ่น ความเชื่อเรื่องแถนและการขอฝนหายไป บุญบั้งไฟจึงกลายเป็นเพียงประเพณีที่ทำสืบต่อกันมาเน้นการเล่นสนุกสนานแบบไม่ถือสาหาความกัน 

ต่อมาการส่งเสริมจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ทำให้บุญบั้งไฟเปลี่ยนจากงานบุญ/งานวัดกลายเป็นเทศกาลประจำจังหวัด บรรยากาศความสนุกสนานเป็นกันเอง แปรเปลี่ยนเป็นการแสดงบนเวที การจุดบั้งไฟไม่ได้มุ่งเรื่องการบูชาแถน แต่กลายเป็น “การแข่งขัน” เริ่มจากการใช้ระยะทางเป็นเกณฑ์ บั้งไฟใครไปได้ไกลกว่าเป็นฝ่ายชนะ ต่อมาจึงเปลี่ยนมาใช้การจับเวลา บั้งไฟใครอยู่นานที่สุดเป็นฝ่ายชนะ

ในเวลาไล่เลี่ยกัน วงการพนันได้เข้ามาปรับเปลี่ยนกติกาการพนันหลากหลายรูปแบบจนประมาณปี 2540 จึงมีกฎกติกาที่ลงตัว คือมีการ “เปิดเวลาหน้าฐาน” แล้วให้คนเลือกเล่นพนันระหว่าง “ยั้ง” คือบั้งไฟจะทำเวลาได้เท่ากับหรือตํ่ากว่าเวลาที่เปิดหน้าฐาน และ “ไล่” คือบั้งไฟจะทำเวลาได้มากกว่าเวลาที่เปิดหน้าฐาน โดย “เซียนยั้ง” คอยรับแทงพนันจาก “เซียนไล่”

อาจจะเป็นเพราะสังคมอีสานอนุโลมให้พระสงฆ์สามเณรสามารถเล่นสนุกในประเพณีบุญบั้งไฟได้ ในยุคที่บุญบั้งไฟกลายเป็นพื้นที่เล่นการพนัน พระสงฆ์สามเณรจำนวนหนึ่งจึงสนุกกับการเล่นพนันบั้งไฟ โดยไม่คำนึงถึงว่าจะผิดพระธรรมวินัยของสงฆ์และกฎหมายบ้านเมือง

ทว่า การเล่นพนันบั้งไฟมีความถี่หรือรอบของการเล่นสูง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้เล่นได้ง่ายกว่าหวย/ลอตเตอรี่ และส่งผลกระทบต่อชุมชนชัดเจน ดังนั้นสังคมจึงไม่อาจยอมรับภาพการเล่นพนันบั้งไฟของพระสงฆ์ แต่เนื่องจากพระสงฆ์ที่เล่นพนันบั้งไฟส่วนใหญ่เป็นพระต่างถิ่น ต่างจังหวัด การควบคุมของฝ่ายปกครองสงฆ์จึงทำได้ยาก

พระวินัยธร (ตำแหน่งของพระผู้ฟ้องร้องพระภิกษุที่ผิดวินัย) ที่จังหวัดศรีสะเกษเล่าให้ฟังถึงการติดตาม/ตักเตือนพระสงฆ์ที่เล่นพนันบั้งไฟในพื้นที่ของท่านว่า “พื้นที่เล่นการพนันเป็นสถานที่อโคจร ถ้าอาตมาเข้าไปปรากฏตัวในพื้นที่นั้นอาจถูกญาติโยมตีขลุมว่าเป็นพระนักพนันไปด้วย” ดังนั้น ท่านจึงรออยู่ด้านนอกใกล้กับเส้นทางเข้า-ออก แต่เนื่องจากพื้นที่จุดบั้งไฟเป็นลานกว้าง พระสงฆ์ที่เล่นพนันบั้งไฟก็ไม่เคยพบหน้ากันมาก่อน เมื่อพระสงฆ์เหล่านั้นหาเส้นทางกลับอื่น ท่านจึงไม่ได้พบเจอและไม่อาจติดตามตักเตือนได้

 

การฟื้นฟูประเพณีบั้งไฟปลอดพนัน

เมื่องานบุญกลายเป็นพื้นที่การพนัน ถูกครอบงำและบริหารจัดการโดยกลุ่มผู้จัด/นักพนัน ประชาชนผู้ใฝ่ในธรรม รักในวัฒนธรรม และไม่ชอบเล่นการพนัน ซึ่งเป็นคนหมู่มากเกิดความเบื่อหน่าย รู้สึกว่าการพนันบั้งไฟกำลังทำลายประเพณีอันดีงาม และก่อให้เกิดความเสื่อมศรัทธาในพระสงฆ์/พุทธศาสนา

2-3 ปีที่ผ่านมา หลายพื้นที่ได้รื้อฟื้นหรือฟื้นฟูประเพณีบุญบั้งไฟแบบที่เคยทำมาในอดีต คือเน้นเรื่องความสนุกสนานสามัคคี มีการประกาศห้ามเล่นพนันบั้งไฟ บางพื้นที่ถึงกับประกาศเป็นนโยบายระดับอำเภอ เช่นที่อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ มีการประกาศนโยบายจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟเป็นงานบุญปลอดเหล้า ปลอดการพนันทุกชนิด บางพื้นที่ตำรวจประกาศเข้มงวดจับกุมการเล่นพนัน

ฝ่ายคณะสงฆ์ก็ประกาศชัดว่า “การที่พระสงฆ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการพนันบั้งไฟ หรือการพนันทุกชนิด ถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายและกระทำผิดพระธรรมวินัย หากพระสงฆ์เข้าไปเล่นพนันบั้งไฟและถูกตำรวจจับกุมได้จะต้องสึกจากความเป็นพระทันที” นอกจากนั้นยังมีการกำชับเจ้าอาวาสวัดในพื้นที่ให้กำชับพระสงฆ์สามเณรในปกครองอย่าเข้าไปในสถานที่ที่มีการเล่นพนันบั้งไฟอย่างเด็ดขาด

แต่ในทางปฏิบัติ พื้นที่เหล่านั้นยังมีพระสงฆ์และชาวบ้านจำนวนหนึ่งเล่นพนันบั้งไฟโดยหัวใจสำคัญของการเล่นพนันคือ “การจับเวลา” 

แม้ฝ่ายปกครองบางพื้นที่เข้าใจปัญหาและประกาศห้ามขานหรือประกาศเวลาของบั้งไฟแต่ละบั้ง แต่ผู้จัดก็หาวิธีการหลบเลี่ยง เช่นเปลี่ยนการประกาศเวลาเป็นตัวเลขจำนวนเงินที่คนมาทำบุญบ้าง เลขทะเบียนรถบ้าง หรือบางครั้งก็ประกาศตัวเลขเฉยๆ ไม่ระบุว่าเป็นวินาที ส่วนบรรดาเซียนพนัน ทั้งพระสงฆ์และชาวบ้าน ก็เลิกใช้วิธีการเขียนโพย หันมาใช้วิธีการต่อรองราคากันด้วยปากเปล่าแล้วยืนเฝ้าอยู่ใกล้กัน เมื่อประกาศผลการจับเวลาออกมาก็จะมีการจ่ายเงินให้กับผู้ที่ชนะพนันทันที

การห้ามเล่นพนันบั้งไฟจะได้ผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกลุ่มผู้จัด หากกลุ่มผู้จัดยังสนับสนุนให้มีการเล่นพนัน พวกเขาจะหากลวิธีหลบเลี่ยงเพื่อให้เกิดการเล่นพนันบั้งไฟ แต่ถ้าพวกเขาไม่ต้องการให้มีการเล่นพนันบั้งไฟ ประเพณีบุญบั้งไฟจะไร้การเล่นพนันได้แน่นอน