งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาบริบทและสภาพปัญหาการเล่นพนันในบุญงานศพ พื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ 2) เพื่อศึกษาบทบาทการจัดการปัญหาการพนันในบุญงานศพโดยผู้สูงอายุ และชุมชน พื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ และ 3) เพื่อเสนอแนวทางการจัดการปัญหาการพนันที่เหมาะสมในบุญงานศพโดยผู้สูงอายุและชุมชน พื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาแบบเจาะจง ได้แก่ กลุ่มทั่วไปที่นิยมเล่นพนันในบุญงานศพและกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการปัญหาพนันในบุญงานศพ ใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสังเกตแบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม การสนทนากลุ่มย่อย และการประชุมนำเสนอแนวทางในการจัดการปัญหาจากการเล่นพนันในบุญงานศพ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนาความและสร้างข้อสรุปผล ผลการวิจัยพบว่า
1. บริบทและสภาพปัญหาการเล่นพนันในบุญงานศพ พื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ในภาพรวมการเล่นการพนันในบุญงานศพยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยให้เหตุผลว่า เป็นประเพณีนิยมที่ปฏิบัติกันมายาวนานโดยหากไม่มีการเล่นการพนันในบุญงานศพ เจ้าภาพจะไม่มีคนมาช่วยงาน หรือคนที่มาร่วมงานจะน้อยมาก และในบางอำเภอเริ่มมีการใช้มาตรการทางกฎหมาย ข้อบังคับ ข้อตกลงที่เป็นกติกาชุมชนเข้ามาช่วยในการลดทอนการแพร่กระจายของการเล่นการพนันในบุญงานศพ ซึ่งผลที่ได้จากการใช้มาตรการและวิธีการดังกล่าว ลดทอนการเล่นพนันได้ในระยะสั้นเท่านั้น โดยทุกกิจกรรมต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ หากประชาชนไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่มีส่วนร่วมที่เข้าใจร่วมกันในทางปฏิบัติจะไม่สามารถเกิดผลสำเร็จได้
2. บทบาทการจัดการปัญหาการพนันในบุญงานศพโดยผู้สูงอายุ และชุมชน พื้นที่จังหวัด ศรีสะเกษ แบ่งเป็น 1) การจัดการปัญหาการพนันโดยชุมชน ได้แก่ 1.1) กลุ่มคนไม่นิยมเล่นพนัน ในชุมชนควรมีการพัฒนาแบบอย่างที่ดีเพื่อเป็นเจ้าภาพปลอดการพนันในบุญงานศพและพื้นที่อื่นๆ เพื่อเป็นต้นแบบในชุมชนให้เกิดการปฏิบัติเป็นตัวอย่าง 1.2) กลไกการจัดการเล่นพนันในงานศพให้คนในชุมชนเป็นกลไกในการขับเคลื่อนโครงการโดยมีหน่วยงานในพื้นที่สนับสนุนส่งเสริมการดำเนินกิจกรรม และคณะกรรมการดำเนินงานร่วมกันให้เกิดข้อปฏิบัติและกติกาชุมชนขึ้น 1.3) มาตรการทางด้านวัฒนธรรม ประเพณีที่เป็นเครื่องมือการรณรงค์การพนันในงานศพ และ 1.4) เครือข่ายเฝ้าระวังการพนันในชุมชนและภาคประชาสังคมที่ร่วมรณรงค์ โดยหัวใจสำคัญของเครือข่ายเฝ้าระวังการพนันในชุมชน คือ ความร่วมมือของทุกคนในชุมชน และ 2) การจัดการปัญหาการพนันโดยผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุเป็นผู้มีบทบาทอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้ช่วยแก้ไขปัญหาการพนันในบุญงานศพ ไม่ว่าจะเป็นผู้กำหนดกิจกรรมต่างๆ ในบุญงานศพ หรือบทบาทของผู้สูงอายุในชุมชนที่คนในชุมชนให้ความเคารพเชื่อฟังเป็นผู้ชี้นำและให้คำปรึกษาในเรื่องการจัดบุญงานศพปลอดอบายมุข
3. แนวทางการจัดการปัญหาการพนันที่เหมาะสมในบุญงานศพของผู้สูงอายุและชุมชน พื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ พบว่า 3.1) ระดับครอบครัวของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุควรถ่ายทอดองค์ความรู้ ภูมิปัญญา หรือคติธรรมในการจัดการปัญหาพนันให้กับสมาชิกในครอบครัว ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ควรมีการนำกลับมาฟื้นฟูอนุรักษ์ส่งต่อไปยังอนุชนรุ่นหลัง 3.2) การเล่นการพนันทุกประเภทต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของครอบครัวและชุมชน โดยให้ สมาชิกชุมชนทุกครัวเรือนร่วมเป็นกรรมการชุมชนในการกำหนดกติกามีส่วนร่วมในการแก้ไขและลดทอนปัญหาการพนันรวมถึงปัญหาอื่นๆ ร่วมด้วย 3.3) ประชาสัมพันธ์ผ่านป้ายประกาศ กฎกติกาชุมชนที่ได้ตกลงร่วมกัน 3.4) การทำ MOU กับหน่วยงาน หรือ ธรรมนูญหมู่บ้าน ช่วยให้เกิดการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน หน่วยงาน ภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้เกิดการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นระบบในการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับอบายมุขในจังหวัดศรีสะเกษ 3.5) การรวมกลุ่มของผู้สูงอายุในบุญงานศพอย่างสร้างสรรค์ 3.6) การรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานท้องถิ่น เกี่ยวกับปัญหาการพนันควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง 3.7) สร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังปัญหาการพนันในท้องถิ่น 3.8) กำหนดนโยบาย แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3.9) นโยบายปฏิบัติของหน่วยงานปกครอง ดำเนินการตรวจสอบและประสานงานกับผู้นำในท้องถิ่น 3.10) นโยบายประเทศ ควรมีการปฏิรูปกฎหมายการพนันนำสู่การปฏิบัติในท้องถิ่นให้เกิดความชัดเจน
![]() |
การเฝ้าระวังการรวมกลุ่มเพื่อกิจกรรมเสี่ยงของคนในชุมชน
รายงานการประเมินผลเกมละครผจญภัยเกาะมหาสมบัติ
โดย กนกวรรณ มะโนรมย์ และคณะพนันกีฬาออนไลน์และเกมกีฬา อีสปอร์ต ในสังคมไทยในยุคดิจิทัล
โดย วสันต์ ปัญญาแก้ว และคณะการสร้างกระบวนการกลุ่มเรียนรู้เพื่อเท่าทันพนันของเด็กและเยาวชนในชุมชนชายแดนไทย-กัมพูชา
โดย อุบล สวัสดิ์ผล และคณะสำรวจ/สรุป องค์ความรู้เรื่องจิตวิทยาของการพนันแบบเป็นปัญหา
โดย วิทยากร เชียงกูล