การวิจัยเรื่องการจัดการปัญหาการพนันในชุมชนโดยธรรมนูญสุขภาพตำบล: กรณีศึกษาเทศบาลตำบลหนองหิน อำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม มีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อถอดบทเรียนการขับเคลื่อนการจัดการปัญหาการพนันในชุมชนผ่านมาตรการลด ละ เลิก อบายมุข โดยการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการธรรมนูญสุขภาพตำบล 2) เพื่อพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการธรรมนูญสุขภาพตำบลให้มีความรู้และตระหนักต่อการจัดการปัญหาการพนันในชุมชนมากขึ้น และ3) เพื่อสนับสนุนให้คณะกรรมการธรรมนูญสุขภาพตำบลพัฒนามาตรการและแผนงานการจัดการปัญหา การพนันในชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้พื้นที่เทศบาล ตำบลหนองหิน อำเภอเมืองสรวง จังหวัด ร้อยเอ็ด เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ ส่วนการเก็บรวบรวมข้อมูลมีการใช้เครื่องมือวิจัย ได้แก่ การศึกษาเอกสาร รายงานการวิจัย การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม การสังเกตการณ์ และข้อมูลที่ได้จาก ภาพถ่าย สมุดบันที่สนาม เครื่องบันทึกเสียง โดยแยกประเภทและจัดหมวดหมู่ข้อมูลในแต่ละครั้งเพื่อนำเสนอสู่การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ในแต่ละประเด็นอย่างเป็นระบบ ซึ่งผลจากการศึกษาสามารถสรุปได้ดังนี้
บทเรียนการจัดการปัญหาการพนันในชุมชนเทศบาลตำบลหนองหิน อำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด พบว่า การจัดการปัญหาการพนันในชุมชนเทศบาลตำบลหนองหินเกิดขึ้นจากการที่ชุมชนมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ต้องการเห็นคนในชุมชนตำบลหนองหินมีความอยู่ดีมีแฮง ครอบครัวอบอุ่น และมีความรักให้แก่กัน ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวได้เกิดขึ้นมาจากการที่คนในชุมชนได้เห็นถึงสถานการณ์ที่ครอบครัวเกิดความแตกแยก ทะเลาะวิวาท ทำให้สมาชิกในครอบครัวขาดความอบอุ่น อันมีสาเหตุมาจากการเล่นการพนัน โดยเฉพาะการพนันในงานศพ ที่ส่งผลให้เด็กและเยาวชนในชุมชนได้เริ่มเข้าสู่วังวนของนักพนันหน้าใหม่ ดังนั้น การพยายามลด ละ เลิก การพนันในงานศพจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการปัญหาการพนันในพื้นที่เทศบาลตำบลหนองหิน ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่คนในชุมชนพื้นที่ได้มองเห็นปัญหาร่วมกัน จนทำให้ทุกคนได้ตระหนักและเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการลด ละ เลิกการอบายมุขขึ้น โดยมีการเริ่มใช้มาตรการลดละเลิกอบายมุขในงานศพ ภายใต้ชื่อ “งานศพ งานเศร้า ปลอดเหล้า ปลอดการพนัน” โดยภายหลังจากที่มีการประกาศใช้มาตรการดังกล่าวในงานศพแล้ว พบว่า ในช่วงปีแรกคือ ปี พ.ศ. 2555 สมาชิกในชุมชนตำบลหนองหินสามารถลดละเลิกการเล่นการพนันในงานศพได้ถึงร้อยละ 40 และในปัจจุบันการเล่นการพนันในงานศพคนตำบลหนองหินสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากลด กลายเป็นละ และก็สามารถเลิกเล่นได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาบทเรียนที่นำไปสู่ความสำเร็จในการจัดการปัญหาการพนันในงานศพของชุมชนตำบลหนองหินนั้น พบว่า มีปัจจัยที่เป็นหลักการและองค์ประกอบที่สำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานที่สำคัญดังนี้ 1) เกิดจากความต้องการของชุมชน ที่อยากจะเห็นสมาชิกในชุมชนของตนเองอยู่ดีมีแฮง และมีครอบครัวที่อบอุ่น 2) คนในชุมชนมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการร่วมประชุมเสนอปัญหา ร่วมให้ข้อเสนอทางออกในการจัดการปัญหา การร่วมทำประชาวิจารณ์ใน “มาตรการลดละเลิกอบายมุข” และการร่วมดำเนินการ ลด ละ เลิก การพนันในงานศพ 3) ผู้นำเอาจริงเอาจัง ร่วมกันสอดส่องดูแลสถานการณ์การเล่นการพนันในชุมชน และ 4) มีกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยการแกนนำจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับการพัฒนาศักยภาพและการออกแบบมาตรการการจัดการปัญหาการพนันในชุมชน พบว่า การพัฒนาศักยภาพชุมชนในการศึกษาสถานการณ์การเล่นพนันหวย มีขั้นตอนและกระบวนการสำคัญ ดังนี้ 1) การออกแบบและพัฒนาเครื่องมือแบบสอบถามร่วมกัน 2) การทำความเข้าใจเครื่องมือแบบสอบถามก่อนลงเก็บ 3) การลงพื้นที่เก็บข้อมูล 4) การวิเคราะห์ข้อมูล และ5) การคืนข้อมูล ซึ่งผลจากการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการศึกษาสถานการณ์การเล่นพนันหวยในพื้นที่เทศบาลตำบลหนองหินดังกล่าว ได้ทำให้เห็นว่าคณะกรรมการธรรมนูญสุขภาพตำบลหนองหินและชาวชุมชนเทศบาลตำบลหนองหินนั้นได้ให้ความสำคัญและมีความตระหนักต่อข้อมูลที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก โดยได้มีมติในการขับเคลื่อนการจัดการปัญหาการซื้อหวย ซึ่งมีการหารือกันว่าในการผลักดันประเด็นนี้เข้าสู่มาตรการในธรรมนูญสุขภาพตำบลนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการก่อนคือ การประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงโทษภัยของหวยที่กระทบกับชุมชน เพื่อที่จะทำให้ชุมชนได้ตื่นตัวและเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ โดยอาศัยข้อมูลจากการศึกษาที่คณะกรรมการธรรมนูญประชาชนคนตำบลหนองหินได้ทำการศึกษาเป็นเนื้อหาในการประชาสัมพันธ์ โดยที่ประชุมเลือกที่จะใช้สื่อประชาสัมพันธ์ 3 ชนิด คือ 1) การทำป้ายประชาสัมพันธ์ โดยให้แต่ละชุมชนนำป้ายดังกล่าวไปติดประกาศไว้ในพื้นที่สาธารณะหรือตามถนนในหมู่บ้านของตนเอง เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนได้เห็นถึงผลกระทบจากการเล่นพนันหวยและสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เกิดกับชุมชน 2) การจัดทำสปอร์ตวิทยุ โดยเนื้อหาเป็นการจำลองเสียงสนทนาของชาวบ้านเป็นภาษาอีสานเกี่ยวกับการเล่นพนันหวยของชาวบ้านในชุมชนและสอดแทรกเรื่องเนื้อหาพิษภัยจากการซื้อหวยเข้าไปด้วย และ 3) นำเสนอข้อมูลต่อชาวบ้านผ่านที่ประชุมหมู่บ้านโดยผู้ใหญ่บ้าน นอกจากนี้ยังมีแผนในการจัดประชุมนำเสนอข้อมูลจากการศึกษาการเล่นพนันหวยให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่นและอำเภอได้รับรู้และรับทราบพร้อมพัฒนามาตรการและวิธีการในการจัดการปัญหาต่อไปด้วย
การพัฒนาต้นแบบของระบบจัดการปัญหาเกมและพนันในชุมชนอย่างบูรณาการ
โดย วิมลรัตน์ วันเพ็ญ และคณะต้นทุนผลกระทบต่อสังคมจากการเล่นพนันในประเทศไทย
โดย ธัชนันท์ โกมลไพศาล