• จุลสาร
  • งานวิจัย
  • หนังสือ

สถานการณ์การพนันในชุมชนพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา

โดย อุบล สวัสดิ์ผล และคณะ

การวิจัย นี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาบริบทและการเปลี่ยนแปลงของชุมชนท้องถิ่นชายแดนหลังการเปิดจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำชายแดนไทย-กัมพูชา และ 2)เพื่อศึกษาสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบจากการพนัน ของครัวเรือนในชุมชน ช่วงหลังคาสิโนชายแดนช่องสะงำเปิดให้บริการ การศึกษานี้ใช้ระเบียบวิจัยแบบผสม (Mix Method) ระหว่างวิธีการศึกษาเชิงปริมาณ (Quantitative approach) และวิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ (Qualitative approach) โดยใช้เครื่องมือ แบบสำรวจรายครัวเรือน จำนวน 253 ราย การสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลเชิงลึก จำนวน 10 รายกรณี การสนนากลุ่ม การประชุมเติมเต็มข้อมูลเชิงปฏิบัติการ และการสังเกต โดยผู้วิจัยเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมในชุมชนและการข้ามพรมแดนไทย-กัมพูชาในประเด็นการพนันข้ามพรมแดนที่บริเวณจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ กลุ่มเป้าหมาย เป็นตัวแทนครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน นักพนัน และหน่วยงามีส่วนเกี่ยวข้องกับการพนันในพื้นที่ โดยเลือกพื้นที่วิจัยแบบเจาะจง ที่บ้านไพรพัฒนา ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เหตุผลเลือกพื้นที่เนื่องจาก ชุมชนแห่งนี้อยู่ใกล้บริเวณชายแดนประเทศไทย-กัมพูชา ได้รับผลกระทบจากการมีคาสิโนชายแดนฝั่งกัมพูชาชัดเจน และเคยเป็นพื้นที่ดำเนินงานวิจัยเรื่อง “การพนันในมุมมองของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นชายแดนไทย-กัมพูชา” ซึ่งผลการศึกษาชี้ชัดว่าการพนันในพื้นที่มีความหลากหลาย ซับซ้อน และเชื่อมสัมพันธ์กับการมีคาสิโนฝั่งกัมพูชาชัดเจน โดยดำเนินการวิจัยช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2561 ถึงเดือนกันยายน 2562

 

ผลการศึกษา มีดังนี้

ประการแรก การเปลี่ยนแปลงของบริบทชุมชนท้องถิ่นชายแดนหลังการเปิดจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำชายแดนไทย-กัมพูชา พบว่า ชุมชนแห่งนี้อยู่ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา ภายหลังการเปิดจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ บ้านไพรพัฒนามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วชัดเจนใน 2 ระดับพื้นที่ คือ 1)การเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่ชุมชนบ้านไพรพัฒนา ใน 4 ระบบสำคัญ คือ  1. การเปลี่ยนแปลงระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ และสิ่งอำนวยความสะดวก เส้นทางการค้า การพนันและการเชื่อมสัมพันธ์ข้ามแดนไทย-กัมพูชา 2. การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของชุมชน 3. การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม 4. การเปลี่ยนแปลงด้านระบบศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี  และ 2)การเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่ชายแดน ไทย-กัมพูชา การศึกษานี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า กลางการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและความมั่นคงของรัฐบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา มีความเป็นพื้นที่เฉพาะมีลักษณะของความเป็นพื้นที่พิเศษ เพราะมีมีอำนาจทางการทหารที่เชื่อมโยงกับกลไกอำนาจอื่นๆ ที่มีความสลับซับช้อน มีความลื่นไหลหลากหลาย บางครั้งมีข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขพิเศษ ในการปฏิบัติการเป็นพื้นที่เหมือนรัฐช้อนรัฐที่เอื้อผลประโยชน์ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายบ่อนคาสิโน สนามบั้งไฟและการพนันที่ชายแดนประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ธุรกิจพนันได้ใช้กลยุทธการดึงดูดนักพนันที่หลากหลายและแตกต่างออกไปรวมถึงการก่อผลประโยชน์และเอื้ออำนวยด้านอำนาจของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพนันที่อยู่บริเวณชายแดนด้วย

ประการที่สอง สถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบจากการพนันของครัวเรือนช่วงหลังคาสิโนชายแดนช่องสะงำชายแดนไทย-กัมพูชา งานวิจัยนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า ชุมชมชนนี้เป็น “ชุมชนเปราะบางด้านการพนัน” เนื่องจากชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคมจากพนันอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่คนในชุมชนส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญ ไม่กล้าเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา มองว่าการพนันในชุมชนเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้รู้สึกไม่ยินดียินร้าย ไม่มีแผนปฏิบัติการรับมือด้านพนันนอกจากจารีตและกฎหมายที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง หลังจากชุมชนต้องตกอยู่ภายใต้การปฏิบัติการของธุรกิจการพนันในประเทศไทยและภายใต้กลยุทธ์ของกลุ่มการพนันข้ามพรมแดนที่หลากหลาย หลังการเปิดคาสิโนและสนามบั้งไฟในประเทศกัมพูชา โดยชุมชนแห่งนี้กำลังได้รับแรงกระตุ้นการพนันท้องถิ่นที่มีการเล่นพนันกันโดยทั่วไป และจากธุรกิจการพนันข้ามแดนในพื้นที่ชายแดนกัมพูชา เช่น บ่อนคาสิโน สนามบั้งไฟ สนามมวย และ สนามไก่ชน อันเป็นกีฬาสร้างสัมพันธ์บริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา

สถานการณ์การพนันชุมชนแห่งนี้ส่วนใหญ่คนในครัวเรือนมีพฤติกรรมการเล่นพนันที่หลากหลายทั้งการพนันในชุมชนและการพนันข้ามพรมแดนที่ประเทศกัมพูชา โดยในรอบ 12 เดือน จะมีพฤติกรรมเล่นพนันเป็นประจำ และ มีพฤติกรรมเล่น บ่อยครั้ง (2-3 ครั้ง/เดือน) จะอยู่ในกลุ่มพนันสลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน และหวยหุ้น และพนันน้ำเต้าปูปลาโบก พนันไพ่พนันมวยและไก่ชน นอกนั้นจะมีพฤติกรรมนานๆทีกับการเล่นพนันอื่นที่มีในชุมชน ขณะที่การพนันข้ามพรมแดน ได้รับแรงกระตุ้นการเล่นพนันกันที่หลากหลาย และจากกลยุทธ์ของธุรกิจการพนันข้ามแดนในพื้นที่ชายแดนกัมพูชา เช่น การพนันที่บ่อนคาสิโน การพนันสนามบั้งไฟ สนามมวย และ สนามไก่ชน อันเป็นกีฬาสร้างสัมพันธ์บริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา เพราะชุมชนแห่งนี้เป็นพื้นที่ชายแดน ที่มีความพิเศษ คือ มีความสลับซับซ้อน มีความเลื่อนไหล หลากหลายและมีข้อยกเว้น หรือเงื่อนไขพิเศษ ภายใต้กลยุทธการดึงดูดนักพนัน ที่หลากหลายแตกต่างออกไปรวมถึงการก่อผลประโยชน์และเอื้ออำนวยด้านอำนาจของผู้ที่อยู่บริเวณชายแดนด้วย

ขณะที่การให้นิยามความหมายการพนัน และพฤติกรรมการเล่นพนันของคนในชุมชนขึ้นอยู่กับประสบการณ์พฤติกรรมการเล่นพนัน ในการเสี่ยงโชคหรือการเล่นการพนันและการรับรู้การเล่นการพนันของคนในครัวเรือน ขณะที่พฤติกรรมการเล่นพนันมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดการเล่นพนันในระดับที่เป็นปัญหา จากการตั้งวงเงินเดิมพันในแต่ละงวดต่อเกมและต่อครั้ง และในขณะการเล่นพนันมีพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขภาพร่วมด้วย คือการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ และผลกระทบที่เกิดจากพนัน ทั้งนี้การเล่นพนันมีสาเหตุและปัจจัยที่หลากหลายและแตกต่างกัน เช่น อยากได้เงิน เพราะรู้สึกว่าสนุก หาชื้อง่าย ได้เงินเร็ว ได้เงินเยอะ รวมถึง ได้ลุ้นเสี่ยงโชค ถูกกฎหมาย ถูกบ่อยครั้ง รู้ผลเร็ว แทงได้หลายครั้ง มีความเป็นไปได้สูง เหลือจากการขาย และได้คิด การเล่นพนันส่วนใหญ่มาจากพื้นฐานการขัดเกลาทางครอบครัว ชุมชนและสังคม เกิดจากสภาพแวดล้อม ชุดประสบการณ์จากการเรียนรู้ของคนในชุมชนต่อการพนันจากช่องทางต่างส่งผลให้เด็กและคนในชุมชนมีพฤติกรรมการเล่นพนันที่แตกต่างกันด้วย

ขณะที่ ทัศนคติต่อการมีจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ ก่อให้ปัญหาสังคมโดยรวม เช่น ส่วนใหญ่มีปัญหาด้านยาเสพติด ปัญหาด้านจรจร/อุบัติเหตุ ปัญหาเล่นการพนัน/ติดการพนัน นอกนั้นปัญหาสังคมที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ  หนวกหูเกิด มลภาวะมี มลพิษ  ปัญหาทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว ปัญหาครอบครัวแตกแยก และปัญหาลักเล็กขโมยน้อย ปัญหาคนในครอบครัวไม่มีเวลาให้ มีปัญหาอาชญากรรมรุนแรง ปัญหาทะเลาะวิวาทในชุมชน ปัญหาคนเจ็บป่วยมากขึ้น และปัญหาลูกหลานไม่เชื่อฟัง สินค้าของหนีภาษี 

 

ข้อเสนอแนะ

จากข้อมูลการศึกษาการพนันในมุมมองของเด็กและเยาวชนพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ในปี พ.ศ. 2561และข้อมูลการศึกษาสถานการณ์การพนันในชุมชนชายแดนไทย-กัมพูชา ปี พ.ศ. 2562 มีความสำคัญทำให้เห็นสถานการณ์ พฤติกรรมและผลกระทบจากพนันในระดับครัวเรือนและชุมชน และได้ชี้ให้เห็นว่าการพนันในชุมชนแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ เป็น “ชุมชนที่มีความเปราะบางด้านการพนัน” การที่จะทำให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาการพนันเพียงลำพังนั้นเป็นไปได้ยาก ดังนั้นการนำผลการวิจัยเพื่อไปขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เด็ก เยาวชน และคนในชุมชนเกิดการสร้างเสริมสุขภาวะเพื่อการควบคุมตนเองในการเข้าสู่วงการพนันในชุมชนท้องถิ่นชายแดนไทย-กัมพูชา ผู้วิจัยมีข้อเสนอ 4 ประการสำคัญ ดังนี้

ประการแรก ข้อเสนอต่อการพัฒนากลุ่มเด็ก เยาวชน   คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนเช่น หน่วยงานทางการศึกษา ด้านสุขภาพ และหน่วยงานด้านนโยบายด้านการพนันและการข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ จะร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อเท่าทันพนันได้ ด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นได้อย่างไร  เพื่อให้เด็ก เยาวชนเหล่านี้ที่อยู่ในชุมชนที่มีความเปราะบางได้ รู้เท่าทันหรือไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการพนัน ไม่ชวนเพื่อนไปเล่นการพนัน ไม่ลองการพนัน และมีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับพวกเขาอย่างปลอดภัยอย่างไร 

ประการที่สอง ข้อเสนอต่อครอบครัวและชุมชน ด้วยแนวคิดการขัดเกลาทางสังคมภายในจารีตประเพณี ข้อห้ามของชุมชน จะต้องดำเนินตามกรอบบรรทัดฐานโดยการเป็นแบบอย่างที่ดีจะสามารถปฏิบัติได้อย่างไร  เพราะครอบครัวเป็นสถาบันที่สำคัญต่อการตัดสินใจของเด็กในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ขณะเดียวกัน คนในครอบครัวต้องร่วมมือกับกลุ่มองค์กรในชุมชนมีกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อแก้ไขปัญหาการพนันที่มีอยู่ในชุมชนและสร้างแรงจูงใจให้พวกเขาสามารถจัดการกับปัญหาได้ 

ประการที่สาม ข้อเสนอต่อองค์กรภายในชุมชน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล วัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ท้องที่ ต้องให้ความสำคัญ กับการจัดการการพนันในชุมชนท้องถิ่น แม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก แต่หน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ต้องร่วมมือกันทำให้ชุมชนเห็นว่าการพนันในชุมชนเป็นปัญหาร่วมและต้องช่วยกันแก้ไขร่วมกัน