การวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาต้นแบบของระบบจัดการปัญหาเกมและพนันในชุมชนอย่างบูรณาการด้วยแนวคิดการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) พร้อมทั้งพัฒนาเครื่องมือสร้างความตระหนักต่อปัญหาเกมและพนันในชุมชน และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาเกม การพนัน และปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน โดยเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาด้วยตนเองอย่างบูรณาการตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ และสร้างเครือข่ายในการจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนร่วมกัน ทั้งนี้ประชากรเป้าหมายในการศึกษามีทั้งหมด 2 กลุ่ม ได้แก่ นักวิจัย และกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งประกอบด้วย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน แกนนำ และเยาวชน โดยยึดหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ การมีส่วนร่วม (Participation) การสร้างกิจกรรม (Action) และการวิจัย (Research)
การเก็บรวบรวมข้อมูลในการศึกษาวิจัย ใช้วิธีการสัมภาษณ์ข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้อง (Stake holders) การประชุมระดมสมองด้วยกระบวนการ AIC (Appreciation Influence Control) การใช้แบบสอบถาม (Questionnaires) แบบประเมินปัญหาพนัน แบบประเมินความเครียด แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย แบบประเมินปัญหาพนัน แบบสอบถามการใช้สารเสพติด แบบประเมินการติดเกม และแบบสอบถามการมีส่วนร่วมในชุมชน
ผลการศึกษา พบว่า ผู้ที่มีปัญหาพนันสามารถรับรู้ว่าตนเองมีปัญหาจากการเล่นพนัน และรู้สึกผิดกับผลที่ตามมาจากการเล่นพนัน นอกจากนี้ยังพบว่าปัญหาพนันมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความเครียด ความเสี่ยงซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย จากการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นชุมชนเริ่มมีการวางแผนจัดการแก้ไขปัญหาเกมอย่างบูรณาการ โดยการจัดกิจกรรมเพื่อลดปัญหาและสร้างความตระหนักรู้เท่าทันเกมและพนันทั้งในชุมชน วัด และโรงเรียน ทั้งนี้จากการติดตามผลด้วยการวิเคราะห์สถิติพบว่าชุมชนมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาพนันมากขึ้น ความเสี่ยงเรื่องเกม พนัน และปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สำหรับผลการสะท้อนจากชุมชนพบว่าอยากให้การสรุปส่งต่อข้อมูลสถานการณ์ปัญหาเกมและพนัน รวมทั้งรูปแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนให้ชัดเจนมากกว่านี้ ทั้งนี้จากวิจัยได้มีการพัฒนากรอบแนวคิดในการพัฒนาต้นแบบระบบจัดการปัญหาเกมและพนันในชุมชนอย่างบูรณาการ และเกิดโมเดลต้นแบบระบบจัดการปัญหาเกมและพนัน
สรุปผลการศึกษาโมเดลต้นแบบระบบจัดการปัญหาเกมและพนันที่ได้จากการศึกษาเหมาะสำหรับใช้ในบริบทสังคมไทย ควรมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งอาจจะนำไปประยุกต์ใช้กับปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้ เช่น สารเสพติด ท้องไม่พร้อม แต่อย่างไรก็ตามควรมีการติดตามประเมินผลชุมชนต้นแบบในระยะยาว และสัมพันธภาพระหว่างผู้วิจัยและแกนนำชุมชนเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
![]() |
การพัฒนาหนังสือการ์ตูนมีชีวิตเรื่องการเล่นบิงโกอย่างรู้เท่าทัน สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย
โดย เด่นชัย ปราบจันดี และ สุกัลยา สุเฌอการพัฒนาต้นแบบของระบบจัดการปัญหาเกมและพนันในชุมชนอย่างบูรณาการ
โดย วิมลรัตน์ วันเพ็ญ และคณะ