• จุลสาร
  • งานวิจัย
  • หนังสือ

ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก: ความเป็นชาย วัยรุ่น และวัฒนธรรมบริโภคนิยม

โดย วสันต์ ปัญญาแก้ว, อาจินต์ ทองอยู่คง, พงศกร สงวนศักดิ์, ปลายฟ้า นามไพร

การศึกษาปรากฏการณ์ “พนันบอล” ในฐานะส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแฟนบอลซึ่งเป็นกิจกรรมระดับชีวิตประจำวันในบริบทของชีวิตสมัยใหม่ในสังคมไทย นอกจากจะสะท้อนให้เห็นระบบความสัมพันธ์และอำนาจการเมืองในสังคมสมัยใหม่ ยังช่วยสร้างความเข้าใจที่มีต่อกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ไปกับวัฒนธรรมแฟน การบริโภคสื่อและฟุตบอล ตลอดจนเส้นทางเข้าสู่วงการพนันของเยาวชนและผู้เล่นกลุ่มผู้ชายวัยทำงาน โครงการวิจัย “ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก” นี้ เสนอให้พิจารณาพนันบอลและฟุตบอลไทยลีกในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องพัวพันไปกับปฏิบัติการ ความหมาย และระบบความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของอุตสาหกรรมฟุตบอล วัฒนธรรมแฟนและธุรกิจสื่อการกีฬา ที่ก่อตัวขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 คำถามสำคัญของการวิจัยคือ ใครคือแฟนบอลไทยลีก บรรดานักพนันบอลพวกเขาคือใครกัน? แบบแผนการดำเนินชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไร? พนันบอลเกี่ยวข้องพัวพันไปกับชีวิตประจำวันของพวกเขาอย่างไร?

หัวหน้าโครงการได้ออกแบบการทำงานระหว่างทีมวิจัยในชุดโครงการนี้ซึ่งแยกวิธีการวิจัยออกเป็น 2 ส่วนคือ 1. การวิจัยสำรวจ (Survey Research) ซึ่งมุ่งเน้นศึกษาภาพกว้างระดับโครงสร้างภูมิหลังทางสังคม แบบแผนการใช้ชีวิต การบริโภคฟุตบอล ตลอดจนการเล่นพนันบอลของแฟนบอลไทยพรีเมียร์ลีก (อายุระหว่าง 15-40 ปี) 2. การวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนา (Ethnographic Research) 2 โครงการซึ่งเน้นศึกษาผ่านชีวิต วัฒนธรรม ในระดับชีวิตประวำวัน คือ 2.1 การวิจัยเรื่อง “วัฒนธรรมแฟนบอลไทยในมิติของการพนันและการบริโภค” เน้นพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ 2.2 การวิจัยเรื่อง “ฟุตบอล วัยรุ่น การพนัน และวัฒนธรรมความเป็นชาย” เน้นพื้นที่ในเมืองเชียงใหม่ โดยมีระยะเวลาดำเนินงานของชุดโครงการวิจัยนี้รวมทั้งสิ้น 1 ปี ระหว่าง 1 มีนาคม 2558- 30 เมษายน 2559

1. โครงการวิจัยสำรวจ โดยใช้แบบสอบถามจำนวน 400 ชุดในพื้นที่ 5 สนาม คือ 1. สนาม SCG Stadium – เมืองทองธานี 2. สนาม PAT Stadium – การท่าเรือ-คลองเตย 3. สนาม I-Mobile Stadium – บุรีรัมย์ 4. สนาม United Stadium – เชียงราย และ 5. สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี – เชียงใหม่ ผลจากการศึกษาพบว่า ปรากฏการณ์ฟุตบอลไทยคือพื้นที่วัฒนธรรมใหม่ที่ก่อตัวขึ้นและช่วยให้เราเห็นความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กระแสความนิยมในฟุตบอลไทยในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของอุตสาหกรรมฟุตบอลในสังคมไทย ยังช่วยให้เราเห็นและสามารถติดตามการขยายตัวเพิ่มขึ้นของคนกลุ่มใหม่ คือ เยาวชนและชายวัยทำงาน ที่อาจจะเรียกว่า “ชนชั้นใหม่” ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเมือง มีรายได้ระดับกลาง (คือระหว่าง 1- 20,000 บาท) ทำงานในระบบ พวกเขาคือแฟนบอลกลุ่มใหญ่ที่บริโภคฟุตบอลไทยภายใต้สภาพสังคมที พวกเขากำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติอัตลักษณ์ทั้งจากชีวิตประจำวันและชีวิตการงานในระบบสมัยใหม่ ความสัมพันธ์เชิงชุมชนแบบจารีตลดลง การเดินทางโยกย้ายถิ่นมีอัตราเร่งมากขึ้นจนถึงการถูกเบียดขับจากการเข้าสู่พื้นที่สาธารณะและการงานของผู้หญิงที่ปัจจุบันก็มีโอกาสมากขึ้น กลุ่มชายไทยเหล่านี้จึงต้องการพื้นที่ทางสังคมใหม่ๆ สำหรับแสดงตัวตนเพื่อยืนยันและคํ้าจุนสภาวะวิกฤติอัตลักษณ์นี้ และหนึ่งในพื้นที่ทาสังคมนั้นก็คือ “วัฒนธรรมแฟนบอลไทยลีก”

2. การวิจัยเรื่อง “วัฒนธรรมแฟนบอลไทยในมิติของการพนันและการบริโภค” ซึ่งมุ่งศึกษาการบริโภคฟุตบอลของแฟนบอลไทยและการพนันทายผลฟุตบอลในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการบริโภค โดยศึกษาจากแฟนสโมสรฟุตบอลไทยเพศชาย ช่วงอายุประมาณ 21-40 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ช่วงฤดูกาลแข่งขันฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก 2558 โดยใช้ข้อมูลจากการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม, การสัมภาษณ์, และข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง ผลการศึกษาพบว่า การบริโภคฟุตบอลไทยต่างไปจากการบริโภคฟุตบอลต่างประเทศในยุคก่อนหน้าที่เป็นการบริโภคผ่านการ “ดู” เป็นหลัก โดยการบริโภคฟุตบอลไทยนั้นเป็นการบริโภคฟุตบอลในฐานะตัวแทนของท้องถิ่น, ชุมชนรูปแบบใหม่, พื้นที่ของผู้ชาย, และพื้นที่ของการแสดงออก ซึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ทางสังคมของเพศชาย-ชนชั้นกลางระดับล่าง-วัยทำงานซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคฟุตบอลไทยกลุ่มหลัก ในส่วนของการพนันฟุตบอล พบว่าแฟนบอลไทยเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เล่นพนันฟุตบอล และกลุ่มที่เล่นพนันก็มักจะเป็นการเลือกพนันอย่างไม่เป็นไปตามอรรถประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่นเล่นพนันเฉพาะสโมสรที่ตนเองเป็นแฟนบอล ข้อค้นพบดังกล่าวนำมาสู่ข้อเสนอของงานวิจัยนี้ว่า สำหรับแฟนบอลไทยแล้ว การพนันฟุตบอลเป็นกิจกรรมที่ถูกเบียดขับให้อยู่ที่ชายขอบของการบริโภค เพราะวิถีการบริโภคฟุตบอลของแฟนบอลไทยนั้นเป็นไปในทางที่ตอบสนองต่ออุปสงค์ทางสังคมแบบอื่นมากกว่า

3. การวิจัยเรื่อง “ฟุตบอล วัยรุ่น การพนัน และวัฒนธรรมความเป็นชาย” ซึ่งเน้นศึกษากลุ่มวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-20 ปี ในพื้นที่เชียงใหม่ ผลการศึกษาพบว่า การเล่นพนันบอลของวัยรุ่น แท้จริงแล้วเกี่ยวข้องกับสภาพสังคมสมัยใหม่ที่เน้นการแข่งขัน มีระบบความสัมพันธ์ที่มุ่งเน้นและหล่อหลอมให้ผู้คนมีความเป็นปัจเจกชนสูง การที่วัยรุ่นเลือกการบริโภคฟุตบอลในแบบต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นกลุ่ม ชุมชนเพื่อน และหลีกหนีออกจากความน่าเบื่อหน่ายในชีวิตประจำวัน แสดงให้เห็นถึงการปรับให้การเล่นพนันบอล ซึ่งสำหรับวัยรุ่นเป็นกิจกรรมที่มีความเป็นปัจเจกสูง ถูกนำมาใช้ในความหมายที่ต่างไปจากเดิม เหตุปัจจัยเหล่านี้อาจบอกได้ว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้การเล่นพนันบอลยังคงอยู่ในวิถีชีวิตของวัยรุ่น ทว่า การเล่นพนันบอลของวัยรุ่นก็ไม่ได้เป็นปัญหาในตัวของมันเอง แต่มันเริ่มเป็นปัญหาเมื่อขาดการจัดการที่ดี ซึ่งการจัดการควบคุมที่ดีนั้น สถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาคือกลไกสำคัญหลักที่ต้องกำกับดูแล

ฟุตบอลคือกีฬาที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยยุคปัจจุบัน วัฒนธรรมแฟนบอล ก่อตัวขึ้นอย่างสร้างสรรค์ และกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนชนชั้นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น คนหนุ่มสาววัยทำงาน ที่ชีวิตประจำวันถูกกำหนดด้วยตารางเวลาและพื้นที่ทำงานอย่างเคร่งครัดในสังคมเมือง กิจกรรมช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์จึงมีความสำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งในชีวิตของพวกเขา ข้อเสนอสำคัญของชุดโครงการวิจัยนี้ก็คือ วัฒนธรรมแฟนและการบริโภคกีฬาคือความบันเทิงในพื้นที่สาธารณะใหม่ อันพัฒนาควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์พื้นที่วัฒนธรรมใหม่ วิถีการดำเนินชีวิตใหม่ๆ ที่แสดงปฏิบัติการผ่านสื่อสังคมออนไลน์ วัฒนธรรมดิจิตอล ที่แพร่กระจายและเข้าถึงกันได้ง่ายในปัจจุบัน ในแง่นี้การเล่นพนันทายผลการแข่งขันฟุตบอลหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “พนันบอล” จึงเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมกีฬาฟุตบอลที่เติบโตขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ควรมองแยกขาดออกจากวัฒนธรรมแฟนบอลไทย และไม่ควรนำเอาอคติหรือมิติเชิงศีลธรรมมาตัดสิน แต่ทว่า เราควรเริ่มพยายามทำความเข้าใจว่า พนันบอลเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนกลุ่มใหม่ที่ก่อตัวขึ้นในสังคม นับจากปี พ.ศ. 2552 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญเมื่อเริ่มมีการจัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพไทยพรีเมียร์ลีก และการบริโภคฟุตบอลต่างประเทศผ่านสื่อโทรทัศน์ค่อยๆ คลี่คลาย ไปสู่การรวมกลุ่มเป็นแฟนบอล (ไทยลีก) ตัวจริงที่ติดตามเชียร์ทีมรักและนักเตะในสนามแข่งขัน กระบวนการทางวัฒนธรรมดังกล่าวมีส่วนอย่างสำคัญต่อการเบี่ยงเบนความสนใจในกลุ่มแฟนบอลวัยรุ่นให้ออกห่างจากการเล่นพนันบอลได้มากขึ้น สำหรับกลุ่มวัยรุ่นเป็นไปได้ว่าการเข้าสู่อาชีพนักฟุตบอล หรือการส่งเสริมให้ฟุตบอลลีกของประเทศไทยเติบโตอย่างมั่นคง เป็นอุตสาหกรรมกีฬาอาชีพ อาจจะสามารถช่วยป้องปรามปัญหาการเข้าสู่วงการพนันบอลของกลุ่มวัยรุ่นได้ ด้วยเหตุนี้ การแข่งขันฟุตบอลอาชีพและการเติบโตของอุตสาหกรรมฟุตบอล นอกจากจะเป็นกลไกช่วยปลูกฝังวัฒนธรรมแฟน การร่วมชมเชียร์ที่ทำให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมในสนาม ได้เชียร์บอลอย่างสร้างสรรค์ ยังอาจจะช่วยสร้างภูมิป้องกัน หรือการหลงทางเข้าสู่วงการพนันบอลของวัยรุ่น พร้อมกันนั้น การส่งเสริมให้อาชีพนักฟุตบอลเป็นอาชีพที่ก้าวหน้าและมั่นคง ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชนหลายภาคส่วน ยังจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้วัยรุ่นมีความกระหายอยากที่จะพัฒนาตัวเองไปเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ซึ่งการมุ่งความสนใจไปอยู่ที่การเล่นฟุตบอล การฝึกซ้อมอย่างมีเป้าหมาย เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นนักเตะอาชีพและการได้รับใช้ชาติ ซึ่งนอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวงการฟุตบอล ยังถือเป็นการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนไทยอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน