• จุลสาร
  • งานวิจัย
  • หนังสือ

การพนันแข่งม้าในประเทศไทย

โดย รัตพงษ์ สอนสุภาพ

การศึกษาเรื่อง การพนันแข่งม้าในประเทศไทย ดำเนินการวิจัยโดยใช้วิธีการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) และวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) โดยมีคำถามสำคัญว่า การพนันถือเป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมายสำหรับประเทศไทย รัฐไม่อนุญาตให้มีการเล่นพนัน สำหรับกรณีสนามแข่งม้ารัฐมองว่าเป็นกิจการเสี่ยงโชค โดยรัฐอนุญาตให้เล่นได้แต่ต้องการควบคุมการเล่น ทั้งมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางจารีตประเพณี จึงทำให้ปริมาณการใช้บริการสนามแข่งม้าและการพนันแข่งม้าลดลง  คำถามสำคัญคือ สนามแข่งม้ามีการปรับตัวอย่างไร การพนันแข่งม้ามีแนวโน้มอย่างไร เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับใครบ้าง? 

จากการศึกษาพบว่า การแข่งม้าในประเทศไทยนั้นมีต้นกำเนิดมาจากสถาบันชั้นสูง โดยจัดตั้งราชกรีฑาสโมสรและราชตฤณมัยสมาคมฯ ขึ้นในปีพ.ศ. 2444  และปีพ.ศ.2459  ตามลำดับ ในเชิงประวัตศาสตร์แล้วการจัดแข่งม้าในประเทศไทยอาจแบ่งออกเป็นสามช่วง คือช่วงแรก เป็นช่วงที่ประเทศปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 5 เมื่อทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้งราชกรีฑาสโมสร หรือสนามฝรั่งเพื่อเป็นสถานพักผ่อน บันเทิง คบหาสมาคมกันแต่อยู่ในวงจำกัดแต่เฉพาะชาวต่างชาติเป็นหลักเท่านั้น ต่อมาในรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้งสนามม้านางเลิ้งขึ้นเพื่อให้บริการแข่งม้าสำหรับคนไทย  ช่วงที่สอง เป็นช่วงการเมืองประชาธิปไตยขยายตัวทำให้สนามม้าแข่งขยายตัวไปตามหัวเมืองสำคัญในส่วนภูมิภาค โดยระยะแรกของช่วงนี้สนามม้าแข่งส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเขตทหารและบริหารจัดการแข่งขันโดยกลุ่มนายทหาร มีอย่างน้อย 6 สนาม ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา อุดรธานี  ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด ในระยะต่อมา เกิดการการปรับตัววงการธุรกิจม้าแข่ง ด้วยเหตุผลด้านความอยู่รอดของสนามม้าแข่งและกลุ่มผู้จัดทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในช่วงเกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2534-2540 สนามม้าหลายแห่งในส่วนภูมิภาคถูกเปลี่ยนมือไปทั้งในแง่ความเป็นเจ้าของและสิทธิในการบริหารจัดการบางส่วนได้ถูกถ่ายโอนให้ภาคเอกชนบริหารจัดการหรือเป็นเจ้าของสนามไปเลย จนกระทั่งปัจจุบันสนามม้าแข่งในส่วนภูมิภาคจำแนกออกได้ดังนี้  สนามม้าแข่งนครราชสีมาบริหารจัดการโดยกลุ่มนายทหาร สนามม้าแข่งขอนแก่นบริหารจัดการโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด สนามม้าแข่งอุดรธานีและร้อยเอ็ดบริหารจัดการโดยภาคเอกชน ส่วนอีกหนึ่งสนามตั้งอยู่ในภาคเหนือ คือ จังหวัดเชียงใหม่บริหารจัดการโดยกลุ่มนายทหาร

โครงสร้างกลุ่มบุคคลที่เป็นเจ้าของคอกแข่งม้าในประเทศไทยล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กันในเชิงอำนาจระหว่างการเมือง -ธุรกิจ-สถานะทางสังคม  โดยมีการแข่งม้าและสนามม้าเป็นสถานที่แลกเปลี่ยน ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า เจ้าของคอกม้าในส่วนภูมิภาคส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์และสมาชิกสามัญของสนามม้านางเลิ้งแทบทั้งสิ้น เช่น คอกเกียรติกมล ของนายเกียรติชัย ชัยเชาวรัตน์ คอกแคสโก้ ของนายณรงค์ วงศ์วรรณ  คอกธำรงไทย ของนายอนุรักษ์ จุรีมาศ คอกประชาชน ของนายอุทัย พิมพ์ใจชน คอกปิยะมงคล ของนายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ คอกนาทีทอง ของนายจักริน พัฒน์ดำรงวิจิตร คอกปาณีรัชต์ ของนายเจริญ พัฒน์ดำรงจิตร คอกเปรมมณี ของนายสุรพันธ์ ชินวัตร และคอกฟูลออฟเลิฟ ของนายปรีชา ชัยรัตน์ เป็นต้น ดังนั้น สนามม้านางเลิ้งไม่เพียงเป็นศูนย์กลางของอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่ร่วมสมัยของประเทศเท่านั้น แต่ยังถือเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงสนามแข่งม้าเครือข่ายอื่นอีก 7 แห่งอีกด้วย ซึ่งโครงสร้างธุรกิจแข่งม้าเป็นกิจกรรมของกลุ่มคน  เฉพาะกลุ่ม  เฉพาะพวกที่ดำเนินการจัดให้มีการแข่งขันและสืบทอดกิจการนี้ไว้ให้คงดำรงอยู่ภายในกลุ่ม  แต่จะมีกลุ่มพ่อค้า- นักธุรกิจเข้ามาเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ด้วย เพราะมีเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ตน รวมทั้งการคุ้มครองในการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมอื่นๆ  ผู้วิจัยมองปฏิสัมพันธ์นี้เป็นการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่างตอบแทนของระบบพวกพ้อง (Cronyism)

จากการประมาณขนาดมูลค่าการพนันแข่งม้าในประเทศไทย มีประเด็นพิจารณาเพื่อประมาณการ ดังนี้ 

1. จำนวนคนเข้าสนามแข่งม้า หากเป็นสนามในเขตกรุงเทพมหานครจะคนเข้าสนามเฉลี่ย 9,000-15,000 คนต่อวันอย่างเต็มที่ ส่วนสนามต่างจังหวัด 1,500-2,000 คนต่อวันเท่านั้น คนที่เข้าสนามส่วนใหญ่จะเป็นคนกลุ่มเดิมๆ เวียนไปตามสนามแข่งม้าต่างๆ ซึ่งจำนวนคนเข้าสนามแข่งม้านี้ สอดคล้องกับการสำรวจของพินิจ ลาภธนานนท์และคณะที่สำรวจในปี พ.ศ.2553 ที่ระบุว่า มีคนเล่นพนันแข่งม้าประมาณ 12,788 คน โดยแยกเป็นกรุงเทพมหานคร 9,633 คน และต่างจังหวัด 3,155 คน จากข้อมูลนี้อาจเป็นไปได้ว่า คนที่เข้าสนามแข่งม้าจำนวนหนึ่งไม่ได้เล่นการพนัน 

2. จำนวนเงินการพนันแข่งม้า ต้องแยกพิจารณาเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก จำนวนเงินพนันที่ถูกกฎหมาย กับส่วนที่สอง จำนวนเงินพนันนอกระบบหรือผิดกฎหมาย โดยการประมาณการนี้  มีข้อมูลจากเอกสารสำคัญและการสัมภาษณ์ผู้มีประสบการณ์ กล่าวคือ จำนวนเงินการพนันแข่งม้า จะสัมพันธ์โดยตรงกับเงินหมุนเวียนในการแข่งม้าในแต่ละนัดแข่ง

 จากการศึกษา พบว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ละนัดแข่งจะมีเงินหมุนเวียนอยู่ระหว่าง 80-100 ล้านบาท  หากรอบหนึ่งปีมีจำนวนการแข่งม้า 24 นัดจะมีเงินการพนันหมุนเวียนประมาณ 1,900-2,400 ล้านบาท หากมี 48 นัดจะมีเงินการพนันหมุนเวียน 3,800-4,800 ล้านบาท 

ส่วนต่างจังหวัด เงินหมุนเวียนอาจจะไม่มาก  เนื่องจากจำนวนคนเข้าสนามมีค่อนข้างน้อย 1,500 -2,000 คนต่อนัดแข่งเท่านั้น ทำให้ผู้จัดการแข่งม้าบางสนามจึงไม่ได้เก็บค่าเข้าชม รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าโดยการถ่ายทอดสดการแข่งม้าจากสนามแข่งมายังโรงแรมที่พัก  ถึงกระนั้นบางสนามในต่างจังหวัดก็ยังมีคนจำนวนน้อยอยู่ดีจนทำให้ต้องปิดกิจการลง เช่น สนามแข่งม้ามหาสารคาม ผู้มีประสบการณ์ ประเมินว่า ยอดเงินหมุนเวียนจากการพนันแข่งม้าในต่างจังหวัด 5 สนามเฉลี่ยต่อนัดเป็นเงิน 5-10 ล้านบาท หากรอบหนึ่งปีมีจำนวนการแข่งม้า 24 นัดจะมีเงินการพนันหมุนเวียนประมาณ 600-1,200 ล้านบาท 

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

1.ทางเลือกแรก ด้วยการพนันแข่งม้าในประเทศไทยเป็นการพนันประเภทที่กฎหมายอนุญาตให้เล่นได้ โดยรัฐมีการควบคุมการเล่น ทั้งในแง่ของกฎหมายและจารีตประเพณี เช่นเดียวกับสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่รัฐอนุญาตให้เล่นและกำกับดูแลภายใต้พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.2478 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสลากกินแบ่งรัฐบาลมีกฎหมายรองรับในการดำเนินงาน โดยมีพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 เป็นกลไกในการบริหารงาน ส่วนการพนันแข่งม้าไม่ได้มีกฎหมายเฉพาะในการควบคุมดูแล ทำให้โครงสร้างการบริหารจัดการจึงไม่เป็นทางการสูง จึงส่งผลให้ระบบตรวจสอบจากองค์กรหรือหน่วยงานจากภายนอก (External Audit) เข้าไม่ถึง  เพื่อให้การกำกับดูแลในเชิงระบบให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ในการบริหารจัดการ นับตั้งแต่ความเป็นองค์กร ระบบการบริหารจัดการ วงเงินการพนัน และการจัดเก็บภาษี ผู้วิจัยเสนอว่า ควรมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการพนันม้าแข่งในประเทศไทยให้ชัดเจน เพื่อง่ายต่อการควบคุมดูแล

2.ทางเลือกที่สอง การมองธุรกิจการพนันในประเทศไทย ควรมองในแง่ของการบริหารจัดการสังคมไปด้วย ซึ่งการกำหนดนโยบายสาธารณะ (Public Policy) เพื่อเป็นบททดสอบสังคมไทยเกี่ยวกับการพนัน โดยแยกออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนแรก ใช้การพนันแข่งม้า และสลากกินแบ่งเป็น Model ของการพนันที่ถูกกฎหมาย โดยอนุญาตให้สามารถบริหารจัดการในเชิงธุรกิจได้ เพื่อจะได้มีข้อมูลในการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอย่างจริงจัง ซึ่ง Model นี้ควรกำหนดเป็นช่วงเวลาต่างๆ เพื่อจะได้ประเมินผลกระทบ และการปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายได้  ส่วนที่สอง   การพนันประเภทอื่นที่รัฐไม่อนุญาตให้เล่น จะเป็น Model ของการพนันที่ผิดกฎหมาย ทุกวันนี้การพนันกลุ่มนี้ได้สร้างผลกระทบและมีอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างมาก ดังนั้น  การผ่อนคลายหรือการปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายในอนาคตจึงถือเป็นเรื่องสำคัญภายใต้ระบบเศรษฐกิจการตลาด (Market Economy) ซึ่งธุรกิจการพนันสามารถเชื่อมโยงเข้ากับโลกาภิวัตน์ของระบบเศรษฐกิจโลก 

ดังนั้น ผู้วิจัยเห็นว่าการพิจารณาตั้งหน่วยงานหรือองค์การในรูปของคณะกรรมการ (Regulatory Board) ขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลภาพรวมธุรกิจการพนันในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามอุปสงค์และอุปทานของสังคม รวมทั้งยังมีหน้าที่จัดสรรและกระจายผลประโยชน์จากธุรกิจการพนันกลับคืนสังคมอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง