• จุลสาร
  • งานวิจัย
  • หนังสือ

สถานการณ์การพนันในสังคมไทย ปี 2566 [presentation]

โดย CGS

สถานการณ์การพนันในสังคมไทย ปี 2566 ดำเนินการสำรวจและประมวลผลข้อมูลโดยศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ เก็บข้อมูลประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ใน 24 จังหวัด ระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน ถึง 27 ธันวาคม 2566 รวม 7,131 ตัวอย่าง พบว่า 

คนไทยมากกว่าครึ่งไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มการพนันถูกกฎหมาย ทั้งพนันทายผลฟุตบอล บ่อนคาสิโน และพนันออนไลน์ เพราะจะมีผลให้คนเล่นพนันเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลการสำรวจย้อนหลัง พบว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา คนไทยมีทัศนคติต่อการเปิดบ่อนคาสิโนถูกกฎหมายค่อนข้างคงที่ คือเห็นด้วยประมาณ 30% ไม่เห็นด้วยประมาณ 51-54% ที่เหลือตอบว่าไม่แน่ใจ

ในปี 2566 คนไทย 99.3% มีบุคคลรอบตัวเล่นการพนัน โดย 21% ของกลุ่มเด็ก และ 26% ของกลุ่มเยาวชน ระบุว่า พบเห็นบุคคลรอบตัวเล่นการพนันมีผลทำให้รู้สึกอยากเล่นพนันในระดับมากถึงมากที่สุด 

ปี 2566 มีคนไทยมากถึง 63.1% หรือประมาณ 34.51 ล้านคน เล่นการพนัน เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา พบว่า ทั้งเพศชายเพศหญิง ทุกกลุ่มอายุ ทุกภูมิภาค เล่นการพนันมากขึ้น ภาคอีสานมีสัดส่วนและจำนวนคนเล่นพนันมากที่สุด แต่ภาคเหนือมีอัตราการขยายตัวของคนเล่นพนันเพิ่มขึ้นมากที่สุด แม้กลุ่มอายุที่เล่นพนันมากที่สุดเป็นคนในช่วงวัยทำงาน แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือการขยายตัวของการเล่นพนันในประชากรกลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็ก เยาวชน และผู้สูงวัย 

ที่ผ่านมา ผลสำรวจพบเด็ก อายุ 15-18 ปี เล่นการพนันหลักแสนคน แต่ปี 2566 เป็นครั้งแรกที่พบเด็กเล่นการพนันทะลุหลักล้าน คือมีมากถึง 1.06 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 2.31 แสนคนเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 และพบเยาวชน อายุ 19-25 ปี เล่นการพนัน 3.92 ล้านคน ผู้สูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป เล่นการพนัน 4.47 ล้านคน สองกลุ่มหลังมีจำนวนคนเล่นพนันสูงกว่าปี 2564 กลุ่มละประมาณ 4 แสนกว่าคน

ประเภทการพนันยอดนิยมของคนไทย 3 อันดับแรกยังคงเหมือนเดิม ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน และไพ่พนัน แต่การพนันที่มาแรงแทรกขึ้นมาเป็นอันดับ 4 คือ สลอตแมชชีน/ตู้พนัน ดันการพนันทายผลฟุตบอลไปอยู่ในอันดับ 5 เมื่อพิจารณาแยกตามกลุ่มอายุ ในปี 2566 ทุกกลุ่มอายุนิยมเล่นพนันสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดินเป็นสองอันดับแรกเหมือนๆ กัน ยกเว้นกลุ่มเด็ก การพนันยอดนิยมอันดับแรกของกลุ่มเด็กคือ สลอตแมชชีน/ตู้พนัน 

ด้านวงเงินหมุนเวียนของการพนัน เน้นว่าเป็นการนับซ้ำ ไม่ใช่เงินได้-เสีย เช่นสลากกินแบ่งรัฐบาล ซื้อ 80 บาท วงเงินหมุนเวียน 80 บาท 60% เป็นเงินรางวัล ส่วนที่เสียพนัน 32 บาท จะนำส่งคลัง 18.40 บาท ที่เหลือเป็นค่าบริหารและการตลาด  ดังนั้นพนันทายผลฟุตบอลที่มีรอบพนันถี่ๆ จึงมีวงเงินหมุนเวียนของการพนันสูงที่สุด โดยในปี 2566 มีวงเงินพนันอยู่ที่ 2.7 แสนล้านบาท 

สลากกินแบ่งรัฐบาล ในปี 2566 ยังพบการจำหน่ายสลากฯให้แก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ มากกว่า 7.19 แสนคน ทั้งที่กฎหมายบัญญัติห้ามและระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ขณะเดียวกัน หวยใต้ดินและหวยอื่นๆ แม้เป็นการพนันผิดกฎหมาย แต่กลับหาซื้อได้ง่าย หลากหลายช่องทาง ทั้งแผงขายสลาก/คนเร่ขาย ไลน์/แอปแชทต่างๆ เฟซบุ๊ก/Tiktok/โซเชียลมีเดีย เล่นโดยตรงกับเว็บไซต์หรือแอปพนัน ทำให้วงเงินพนันหมุนเวียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะหวยต่างประเทศ มีวงเงินพนันหมุนเวียนในปี 2566 มากกว่าปี 2564 ถึง 63.5%

พนันในบ่อนแบบมีที่ตั้ง ในปี 2566 มีจำนวนคนเล่นพนัน 4.50 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.8% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 แต่ด้านวงเงินพนันกลับลดลง 10.5% มาอยู่ที่ 97,365 ล้านบาท คนเล่นพนันส่วนหนึ่งเล่นพนันในบ่อนหลายลักษณะ ที่นิยมสุดคือ บ่อนวิ่ง บ่อนงานศพ 72.7% 

พนันในบ่อนออนไลน์ จำนวนคนเล่นพนันขยายตัวแบบก้าวกระโดด จาก 0.82 ล้านคนในปี 2562 เพิ่มเป็น 1.94 ล้านคนในปี 2564 และ 5.66 ล้านคนในปี 2566 โดยพบนักพนันหน้าใหม่ที่เล่นพนันในบ่อนออนไลน์เป็นครั้งแรกในปี 2566 ถึง 7.06 แสนคน ประเภทการพนันยอดนิยมของกลุ่มนี้คือ สลอตแมชชีน/เกมพนัน 72.0% ตามด้วยไพ่บาคาร่า/ป๊อกเด้ง 35.2% และไฮโล/โปปั่น/น้ำเต้าปูปลา 16.0%  ด้านวงเงินพนันหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน คือเพิ่มจาก 20,152 ล้านบาทในปี 2562 เป็น 107,078 ล้านบาทในปี 2564 และ 154,819 ล้านบาทในปี 2566

ด้านผลกระทบ 21.6% ของคนเล่นการพนันในปี 2566 หรือประมาณ 7.45 ล้านคน ระบุว่าตนเองได้รับผลกระทบจากการพนัน บางคนต้องเผชิญกับหลายปัญหา ตั้งแต่ปัญหาการเงิน เช่น ขาดเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ขายทรัพย์สินหรือสิ่งมีค่าเพื่อเล่นพนันหรือใช้หนี้ ฯลฯ ปัญหาสุขภาพและการใช้ชีวิต เช่น มีปัญหาความเครียด/เสียสุขภาพจิต เสียเวลาทำงาน/การเรียน สุขภาพเสื่อมโทรม ฯลฯ และปัญหาความสัมพันธ์และภาพลักษณ์ทางสังคม เช่น มีปากเสียงทะเลาะกับคนในครอบครัว ต้องโกหกปิดบังผู้อื่นเรื่องการเล่นพนัน เสียเพื่อน/ญาติ/ครอบครัว ฯลฯ นอกจากนั้น 1.67 ล้านคนยอมรับว่ามีหนี้สินที่เกิดจากการพนัน ประมาณการหนี้สินจากการพนันรวม 20,606 ล้านบาท เฉลี่ยที่คนละ 12,335 บาท เมื่อมีหนี้จากการพนันแล้ว 85.2% ยังคงเล่นพนันต่อ มีเพียง 7.4% ที่หยุดเล่นพนัน ที่เหลือไม่ระบุ 

เมื่อขอให้ประเมินตนเองว่าติดพนันหรือไม่ คนเล่นการพนันในปี 2566 ประเมินว่าตนเองติดพนัน ประมาณ 7.22 ล้านคน ขณะที่ผลการประเมิน ‘ความรุนแรงของปัญหาจากการพนัน’ ด้วย The Problem Gambling Severity Index – PGSI พบว่า ผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นนักพนันที่เป็นปัญหามีประมาณ 6.04 ล้านคน ผู้มีความเสี่ยงเหล่านี้ควรเข้ารับบริการการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ซึ่งในสังคมไทยยังมีไม่เพียงพอ แต่ที่ต้องกังวลมากกว่านั้น เด็กประเมินตนเองว่าติดพนัน 1.53 แสนคน แต่พบเด็กเป็นนักพนันที่เป็นปัญหาถึง 1.91 แสนคน และเยาวชนประเมินตนเองว่าติดพนัน 6.93 แสนคน แต่พบเยาวชนเป็นนักพนันที่เป็นปัญหาถึง 8.16 แสนคน