• จุลสาร
  • งานวิจัย
  • หนังสือ

ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก: ผู้หญิง อำนาจ วัฒนธรรมแฟน และชนชั้นใหม่

โดย วสันต์ ปัญญาแก้ว (บรรณาธิการ)

"ฟุตบอล คือกีฬาของโลกสมัยใหม่ ในสนามฟุตบอลเราเห็นทั้งทักษะที่ผ่านการฝึกฝนของผู้เล่น กลลวงหลอกล่อ กฎกติกาที่ควบคุมโดยกรรมการผู้ตัดสินระเบียบวินัย การแสดงความตื่นเต้นเร้าใจ และสภาวะอันไร้เหตุผล ที่โลดแล่นเริงระบำ

John Fiske นักวัฒนธรรมศึกษาชาวอังกฤษ ตั้งข้อสังเกตว่า เงื่อนไขที่ทำให้ฟุตบอลสมัยใหม่กลายมาเป็นเกมกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามก็คือ การที่เกมกีฬาชนิดนี้ ได้สร้าง “พื้นที่” ทดแทน สภาวะที่แฟนบอลจำนวนมหาศาลถูกกำกับควบคุมผ่านวินัยในโลกของการทำงาน สนามฟุตบอลกลายเป็นสถานที่ที่พวกเขาพลิกผัน สถาปนาอำนาจผ่านการ “จ้องมอง” เกม นักเตะ และการเล่นฟุตบอล ไปจนถึงการระบายอารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรมต่างๆที่เปรียบดั่งการได้เข้าสู่สนามประลองการต่อสู้ที่ไม่ได้มีอยู่ในโลกของความจริง

การขยายตัวของอุตสาหกรรมฟุตบอล จึงเปรียบเสมือนการสถาปนาสถาบันวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่สร้าง “สนามรบจำลอง” ให้ผู้คนได้โต้ตอบ สภาวะแห่งความจำเจซ้ำซาก น่าเบื่อ และการดำเนินชีวิตที่เต็มไปด้วยกฎ กติกาการกำกับควบคุมเวลาของสังคมระเบียบวินัยฟุตบอลคือพื้นที่วัฒนธรรมที่มนุษย์ในโลกสมัยใหม่ ใช้แสวงหาความตื่นเต้นเร้าใจ และการแสดงออกเพื่อต่อต้านการมีชีวิตที่น่าเบื่อ ไร้ความหมายไร้ตัวตน เพราะความบันเทิงสนุกสนาน ความตื่นตาตื่นใจของเกมการแข่งขันกีฬาชนิดนี้ มักจะเป็นสิ่งที่ “ไม่อาจทำนายได้”

กล่าวอย่างถึงที่สุด สนามฟุตบอลคือ “โรงละคร” ที่ไม่มีคนเขียนบทความเศร้าโศก หรือปลื้มปีติดีใจ คือสิ่งที่ผู้คนได้มาจากการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรวมหมู่ระดับอภิมหาประชาชนในโลกสมัยใหม่

ความหมายของฟุตบอลจึงเป็นเรื่องของการที่เกมกีฬาชนิดนี้สามารถสร้างโอกาสให้ผู้คนได้มีประสบการณ์ มีอารมณ์ร่วม พัวพันไปกับการแสวงหาความตื่นเต้นเร้าใจ

ฟุตบอล คือ “พื้นที่” ที่เราเห็นทั้งความดิบเถื่อนและสภาวะศิวิไลซ์ดำรงคงอยู่ คู่กัน

ฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก: ผู้หญิง อำนาจ วัฒนธรรมแฟน และชนชั้นใหม่เล่มนี้ คือหนังสือรวบรวมบทความ ทั้งจากผลงานวิจัย ผลงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และจากข้อเขียนที่เกิดจากความรัก ความสนใจของผู้เขียนแต่ละท่าน ที่มีเกี่ยวกับฟุตบอลในสังคมไทย"

ส่วนหนึ่งจากบทบรรณาธิการ